ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง "ยกเครื่องก่อนไร้ชีวิต" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี อาคารเก่าคุณค่าในเมืองอุบลราชธานี เท่าที่แลเห็นมีเหลือให้ดูอยู่ไม่กี่หลัง หนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อุบลฯ ตามข้อมูลอาคาร เดิมใช้เป็นศาลากลางจังหวัด สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2461 จากนั้นทางจังหวัดได้มอบอาคารหลังนี้ให้กรมศิลปากร ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยตัวอาคารขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตัวอาคารนั้นมีความเด่นในสถาปัตยกรรม ด้วยตัวอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงปั้นหยา หน้ามุขมีแผงประดับรูปโค้งตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกบัวและใบบัวเกี่ยวกันอย่างงดงาม มีตัวอักษรปูนปั้นคำว่า “ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี” มีครุฑประดับที่ส่วนบนสุด เมื่อเดินเข้าไปในอาคารเป็นโถงใหญ่ตรงกลาง มีระเบียงทางเดิน มีสวนหย่อม มีห้องขนาดเล็กโดยรอบของอาคาร เหนือกรอบประตูประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษา อาคารหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ อาคารหลังนี้เมื่อถูกแปรสภาพมาเป็นแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินการตอบสนองแหล่งเรียนรู้ของคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมาเป็นเวลากว่า 27 ปี (เปิดทางการ 30 มิ.ย. 2532) จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของแต่ละยุค ไล่เรียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก สู่สมัยทางวัฒนธรรม ทวารวดี เจนละ (ขอมหรือเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร) ขอม (หรือเขมรสมัยเมืองพระนคร) ที่มีการขุดค้นพบในพื้นที่เขตอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงห้องจัดแสดงผ้าโบราณผ้าพื้นเมืองอุบลฯ ดนตรีพื้นเมือง รวมห้องจัดแสดงเบ็ดเสร็จ 10 ห้อง ส่วนด้านนอกมีโรงจัดแสดงทับหลัง ใบเสมา เรือมาด (ไม้ตะเคียนทั้งลำ) ให้ได้ชม โดยรวมโบราณวัตถุจัดแสดงทั้งหมดในปัจจุบัน 413 รายการ (จากจำนวนโบราณวัตถุทั้งหมด 1,27 รายการ ที่เหลือ 914 รายการเก็บรักษาในคลัง , ข้อมูลพื้นฐานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลฯ ธ.ค.59) ด้านสถิติผู้เข้าชมในแต่ละปีอยู่ที่หลักหมื่น จากข้อมูลรายงานแผนการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลฯ (ธ.ค.59) ปี 2555 มีผู้เข้าชมสูงสุดกว่า 5 หมื่นคน ส่วนปี 2559 ตัวเลขอยู่ที่ 2.6 หมื่นคน ซึ่งถือว่าจำนวนน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี (พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน) ในรายงานแผนพัฒนาฯ ระบุสาเหตุแนวโน้มผู้เข้ามาใช้บริการน้อยลงทุกปี เนื่องจากปัจจุบันมีแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าดึงดูดให้เลือกจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งการจัดแสดงนิทรรศการแบบเดิมๆ ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเข้ามาเยี่ยมชมซ้ำได้ ในรายงานยังได้ร่ายสาเหตุสภาพปัญหา นิทรรศการถาวรเริ่มชำรุดทรุดโทรม ป้ายคำบรรยายหรือป้ายข้อมูลมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ขณะที่การจัดแสดงบางส่วนมีเนื้อหาสาระรายละเอียดที่ยาวมากเกินไป ทำให้ผู้ชมไม่อยากอ่าน จึงทำให้ไม่น่าสนใจและไม่สามารถให้ความรู้ได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน การจัดแสดงบางส่วนก็ขาดข้อมูลความรู้ที่จะอธิบายให้กับผู้ชมทราบ ในรายงานระบุลงไปด้วยว่า สมควรดำเนินการปรับปรุงนิทรรศการถาวรทั้งหมด เพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ให้มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้าขอ้มูลทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพื้นที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑ์ ในรายงานกล่าวถึงโครงการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ระยะที่ 1 ได้รับงบประมาณประจำปี 2560 จำนวนเงิน 5 ล้านบาท ทั้งตั้งงบฯ ปี 61 ปรับปรุงระยะที่ 2 อีกกว่า 13 ล้านบาท และตั้งงบฯ ปี 62 ระยะที่ 3 ตัวเลข 8 ล้านบาท นอกจากกิจกรรมจัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้ว รวมไปถึงซ่อมแซมอาคาร ปรับภูมิทัศน์ และพัฒนาอำนวยความสะดวก ตอนท้ายของรายงานบอกเชิงปริมาณผู้เข้าชม ในช่วง 3 ปีแรกหลังการปรับปรุงแล้วสามารถเพิ่มจำนวนสถิติผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 7 หมื่คนต่อปี นั่นเป็นข้อมูลรายงานแผนพัฒนาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ด้วยการคาดหวังว่าจะมีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นตามระบุ ย่อมต้องมีการจัดกิจกรรมและตัวนิทรรศการต้องมีเรื่องราวที่น่าสนใจหมุนเวียนตลอดทั้งปี เพราะหากตัวนิทรรศการจัดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ แล้ว ผู้ที่เคยมาชมแล้วไม่อยากมาชมอีก ไหนๆ พูดถึงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภายใต้การดูแลกรมศิลปากร ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง งบการพัฒนาพิพิธภัณฑ์แต่ละปี ส่วนใหญ่จะเทลงไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูมิภาค กว่า 40 แห่ง ได้รับงบการพัฒนาในแต่ละปีไม่มากนัก (ยกเว้นงบปรับปรุงใหญ่ หลายแห่งดำเนินการอยู่) อย่าว่าแต่งบพัฒนาเลย งบทำกิจกรรมองค์ความรู้ให้กับคนในท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์บางแห่งยังได้รับงบแค่หลักแสนบาท ทำกิจกรรม 3 ครั้งก็หมดแล้ว เหล่านี้กรมศิลปากรในฐานะดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะขับเคลื่อนแผนงานนโยบายและยุทธศาสตร์ ควรให้ความสำคัญงานพิพิธภัณฑ์ภูมิภาคอย่างยิ่ง การที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ดูแลกระทรวงวัฒนธรรม อีกผู้บริหารกระทรวง กรม บอกว่าได้พัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ “มีชีวิต” นั้นซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งที่ดูภูมิใจกับสถิติผู้เข้าชม แต่กระนั้นก็ควรปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑ์ภูมิภาคไปในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการ “ยกเครื่อง” เพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนภูมิภาคก่อน “ไร้ชีวิต” ผู้เข้าชม