มกอช. เผยออสเตรเลีย พบโรคตัวแดงดวงขาวระบาดในฟาร์มกุ้งเป็นครั้งแรก เตรียมประกาศระงับการนำเข้ากุ้งดิบจากทุกประเทศที่มีโรคดังกล่าว ไทยติดร่างแหด้วย นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาประเทศออสเตรเลียตรวจพบโรคตัวแดงดวงขาวในกุ้งเป็นครั้งแรก ในฟาร์มกุ้ง 3 แห่ง ในรัฐควีนส์แลนด์ ตอนใต้ของบริสเบน และยังตรวจพบเชื้อไวรัสดังกล่าวในกุ้งธรรมชาติจับจากแม่น้ำโลแกน (Logan) จึงคาดการณ์ว่าโรคนี้อาจจะแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่ไม่เคยมีโรคตัวแดงดวงขาวมาก่อน จึงถือเป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องควบคุมและกำจัดการแพร่กระจายของโรคดังกล่าว โดยเตรียมประกาศใช้มาตรการชั่วคราวในการระงับการนำเข้ากุ้งสดที่มาจากทุกประเทศที่มีโรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Syndrome Virus: WSSV) รวมถึงไทยด้วย ทั้งนี้ โรคตัวแดงดวงขาว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและยังไม่มียารักษา กุ้งที่เป็นโรคดังกล่าวจะมีลำตัวเป็นสีแดง มีดวงขาวบริเวณผิวใต้เปลือกขนาด 1-2 มม. บริเวณ ส่วนหัวและลําตัวกุ้ง โรคตัวแดงดวงขาวจะทำให้กุ้งมีอัตราการตายสูงมาก 40-100% ภายใน 5-10 วัน การแพร่กระจายเชื้อ ส่วนใหญ่ผ่านทางน้ำ การสัมผัสเชื้อไวรัสโดยตรง การกินกันเอง พาหะ และการถ่ายทอดเชื้อไวรัสผ่านทางพ่อแม่สู่ลูก “สมาคมอุตสาหกรรมอาหารทะเลและสมาคมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในรัฐควีนส์แลนด์ สันนิษฐานว่า สาเหตุของการปนเปื้อนและระบาดมาจากกุ้งสดแช่เยือกแข็งที่มีการนำเข้าจากเอเชีย จึงเกิดการเรียกร้องให้มีการระงับการนำเข้ากุ้งสดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด ทั้งนี้ประเทศที่พบว่ามีโรคไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งได้แก่ เวียดนาม จีน มาเลเซีย และไทย” เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำออสเตรเลียได้ทำลายกุ้งทั้งหมดในฟาร์มที่ตรวจพบและอยู่ระหว่างการสืบหาสาเหตุของการระบาดของโรคดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและกำจัดการระบาด ทั้งนี้มาตรการการนำเข้ากุ้งของออสเตรเลียในปัจจุบันกำหนดให้ การนำเข้ากุ้งสดจะต้องถอดหัว ปอกเปลือก และกักกัน ณ ด่านนำเข้า เพื่อสุ่มตรวจโรคที่ระดับความเข้มงวด 100% อย่างไรก็ดี มกอช. และกรมประมง จะเร่งเจรจากับออสเตรเลียเพื่อแก้ไขปัญหาและขอยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้ากุ้งจากไทย นอกจากนี้กรมประมงอยู่ระหว่างยื่นข้อเสนอขอจัดทำความเท่าเทียมกันของห้องปฏิบัติการ เพื่อขอยกเว้นการตรวจเชื้อไวรัส ณ ด่านนำเข้าออสเตรเลีย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบให้กับผู้ประกอบการ ประเทศออสเตรเลียไม่สามารถผลิตกุ้งได้เพียงพอต่อปริมาณการบริโภคในประเทศ จึงมีการนำเข้ากุ้งแช่เยือกแข็งทั้งแบบสดและแปรรูปจากหลายประเทศ โดยมีการนำเข้าจากจีนมากที่สุด เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ในปี 2558 ไทยส่งออกกุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็งไปยังออสเตรเลีย มูลค่า 955 ล้านบาท และส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งต้มและกุ้งแปรรูปแช่เยือกแข็งมูลค่า 1,135 ล้านบาท