รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล ชาติของใคร? ดนตรีของใคร? : ฟรานซ์ ลิซต์กับดนตรีประจำชาติฮังการี หลัง ค.ศ. 1800 กระแสชาตินิยมที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุโรป ส่งผลให้ศิลปินและนักเขียนริเริ่มสร้างงานในอุดมคติเดียวกันนั้น การก่อร่างสร้างตัวของประเทศอิตาลี เยอรมนี และกระแสการต่อต้านลัทธิอาณานิคมของประเทศต่างๆ ที่ปรากฏเป็นการปฏิวัติในอเมริกา และการจลาจลอินเดีย ปลุกจิตวิญญาณของ “ความเป็นชาติ” ให้ปรากฏชัดเจนขึ้นทุกขณะ ดังนั้นเอง ในรัสเซีย เราจึงพบนักแต่งเพลงที่พยายามเขียนงานดนตรีคลาสสิคด้วยสำเนียงดนตรีที่ย้อนกลับไปหารากเหง้าของชาวรัสเซียดั้งเดิม มีการใช้ท่วงทำนองเพลงพื้นบ้านเก่าแก่ หรืออย่างกรณีของนักแต่งเพลง-นักเปียโนชื่อดังในฝรั่งเศสอย่าง โชแปง (Frederic Chopin) หรือ ลิซต์ (Franz Liszt) ก็ปรากฏชัดเจนว่าเขียนงานขึ้นด้วยอุดมการณ์แบบชาตินิยมทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเป็นดนตรีชาตินิยมนั้นหาได้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ในตัวเองไม่ เพราะดนตรีทุกๆ ชนิดย่อมขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมเป็นสำคัญ ดังนั้น ดนตรีชาตินิยมของนักแต่งเพลงชาวรัสเซียจำนวนมาก ที่ได้รับการนำออกแสดงในยุโรปย่อมถูกผู้ฟังชาวยุโรปถือว่าเป็นดนตรี “exotic” หาใช่ดนตรี “ชาตินิยม” ไม่ (แต่ความ exotic นี้เองก็กลายเป็นจุดขายสำคัญของดนตรี-โอเปร่ารัสเซีย และทำให้ธุรกิจการแสดงดนตรี-โอเปร่าของรัสเซียในยุโรปประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในยุคนั้น) ส่วนกรณีของ เฟรเดอริค โชแปง นักแต่งเพลงชาวโปแลนด์ที่ลี้ภัยทางการเมืองมายังปารีส และจงใจผลิตงานเพลงจำนวนมากที่มีบุคลิกแบบโปแลนด์ หรือนำรูปแบบเพลงของชาวโปลอย่าง Mazurka หรือ Polonaise มาเขียนใหม่สำหรับเปียโน และได้รับความนิยมจากผู้ฟังชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก ก็มีลักษณะที่ไม่ผิดกันนัก นั่นคือ ดนตรีชาตินิยมโปแลนด์ของเขา ถูกรับรู้โดยผู้ฟังชาวปารีสในฐานะของดนตรี exotic มากกว่า และที่น่าสนใจกว่านั้น คือกรณีของ ฟรานซ์ ลิซต์ นักเปียโนชื่อดังผู้มีกำเนิดเป็นชาวฮังการี แต่มามีชื่อเสียงโด่งดังและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ปารีสเช่นเดียวกับโชแปง แน่นอนว่าลิสต์เองก็เป็นนักดนตรีที่เชื่อมั่นในกระแสชาตินิยม และประกาศตนเองเป็นนักแต่งเพลงชาตินิยมฮังการีอย่างชัดเจน และถึงกับแต่งเพลงชุด Hungarian Rhapsody สำหรับเปียโนไว้เป็นจำนวนมากถึง 19 ชิ้น (ยังไม่นับงานสำหรับเครื่องดนตรีอื่นๆ อีกมาก) แต่ที่น่าประหลาด (ในสายตาคนปัจจุบัน) ก็คือ สำหรับลิสต์แล้ว ดนตรีชาตินิยมฮังการี หมายถึงดนตรียิปซี-ฮังการีที่ “ชาวยิปซี” ในฮังการีมักบรรเลงให้ผู้ฟังชาวฮังการีฟัง และไม่ได้หมายถึงเพลงพื้นบ้านของชาวฮังการีจริงๆ ที่มีลักษณะแตกต่างออกไป ลิสต์กับเจ้าหญิง Carolyne von Sayn-Wittgenstein ถึงกับร่วมกันเขียนหนังสือความยาวกว่า 300 หน้า ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของชนชาวยิปซี (ที่ในภาษาฮังการีเรียกว่าชาว Ciganyok) และดนตรีของชาวยิปซี เขายืนยันว่าการผสมผสานระหว่างดนตรีแบบชาวยิปซีกับฮังการี นับเป็นการหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และสามารถจัดเป็นดนตรีประจำชาติชาวฮังการีได้อย่างไม่ขัดเขิน ลิสต์ยกย่องนักดนตรีชาวยิปซีเป็นอย่างมาก และกล่าวว่าดนตรีประเภทนี้ได้ซึมซับเข้ามาในความทรงจำของเขานับตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก (อนึ่ง ดนตรียิปซี-ฮังการีที่ลิสต์พูดถึงนี้ หมายถึงดนตรีที่ชาวยิปซีมักบรรเลงให้ชาวฮังการีฟังและเต้นรำในงานรื่นเริงต่างๆ ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับดนตรีที่พวกเขาบรรเลงเล่นกันเองในหมู่ชาวยิปซีด้วยกัน ซึ่งจะมีความเรียบง่ายกว่า และบ่อยครั้งเป็นเพียงเสียงร้องเพลงประกอบกับการปรบมือเท่านั้น) ยิ่งกว่านั้น ลิสต์ยังไปไกลถึงขนาดกล่าวว่า ดนตรียิปซี-ฮังการีนี้ แท้ที่จริงแล้วก็ดำรงอยูได้ด้วยการอุปถัมภ์ของชาวฮังการี เพราะลำพังชาวยิปซีเองนั้นไม่ได้มีความเข้าใจในความงามของดนตรีและความสำคัญของนักดนตรีเก่งๆ เหล่านี้แต่อย่างใด ดังนั้น ชาวฮังการี - ผู้เป็นผู้ฟังที่ชาญฉลาด - จึงมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ดนตรีชนิดนี้ดำรงอยู่และสืบทอดมาอย่างยาวนานเช่นนี้ได้ ช่วงเวลาที่ลิสต์ยืนยันว่าดนตรียิปซี-ฮังการีเป็นดนตรีประจำชาติฮังการีนี้เป็นช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในสถานที่คือ “ฝรั่งเศส” ขณะที่ในศตวรรษถัดมา ในราวทศวรรษที่ 1910s ใน “ฮังการี” ได้มีนักดนตรีกลุ่มใหม่ที่พยายามค้นหาและรวบรวมบทเพลงประจำชาติฮังการีที่แท้จริง โดยมีบาร์ต็อค (Bela Bartok) เป็นบุคคลสำคัญที่เก็บข้อมูลจำนวนมากจากเพลงพื้นบ้าน และจัดการวิเคราะห์งานเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ ถึงตอนนั้น ดนตรีของพวกยิปซีอย่างที่ลิสต์ชอบ จึงกลายเป็นของแปลกปลอม และไม่ใช่ดนตรีประจำชาติฮังการีที่แท้จริงอีกต่อไป ภาพ Franz Liszt (1811-1886) ภาพเขียนโดย Ary Scheffer