ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ นักกฎหมายเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน จากกรณีนายกิตติกร วิกาหะ ฆ่าชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธมีดแทงลำตัวและลำคอ นายวศิน เหลืองแจ่ม เสียชีวิตบริเวณปากซอยสุคนธสวัสดิ์ 27 เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 4 ม.ค.หลังนั้นยังไปก่อเหตุชิงทรัพย์บริเวณอื่นๆอีก ในพื้นที่สน.โชคชัย และหน้าโรงพยาบาลสินแพทย์ ฆาตกรรายนี้เคยถูกดำเนินคดีมาแล้ว 7 คดี เริ่มจากกระทำความผิดขณะเป็นเด็กจึงถูกส่งตัวไปสถานพินิจฯ 2 คดี ตามมาด้วยคดีที่อายุเกิน 18 ปีอีก 5 คดี คือ 1)ความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อปี 2549 ศาลสั่งคุมประพฤติ 2 ปีโดยรายงานตัวทุก 2 เดือน 2)ความผิดสูดดมสารระเหย เมื่อปี 2550 ศาลคุมประพฤติ 1 ปีรายงานตัวทุก 2 เดือน 3) ความผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์และความผิดต่อร่างกาย โทษจำคุกให้รอไว้ 4) ความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลพิพากษาจำคุก และ 5) ความผิดฐานผลิตและครอบครองพืชกระท่อม ศาลพิพากษาจำคุกเมื่อธันวาคม 2559 แต่รอการลงโทษ จะเห็นได้ว่าสองคดีแรกศาลสั่งคุมประพฤติแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติกระทั่งศาลได้ออกหมายจับ ส่วนอีก 3 คดี มีเพียงคดีเดียวที่ลงโทษจำคุกคือความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คดีที่เหลือรอลงอาญาโดยได้รับการปล่อยตัว เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา จึงนำไปสู่ประเด็นถกเถียงและคำถามว่าทำไมกระทำผิดซ้ำซาก ดูเสมือนว่าผู้กระทำไม่ได้เกรงกลัวต่อบทลงโทษของกฎหมาย เพราะได้พัฒนาการการกระทำความผิดจากโทษระดับต่ำในความผิดสถานเบาไปสู่โทษที่สูงขึ้นในความผิดสถานหนักขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเฉพาะคดีที่ถูกจับกุมตัวได้นั้นมีการกระทำความผิดปีละหนึ่งครั้ง หลายคำถามจึงส่งไปยังกระบวนการยุติธรรมว่าก่อนการปล่อยตัวนักโทษสู่สังคมรัฐได้มีวิธีการอย่างไรต่อการบ่มเพาะพฤติกรรมที่ดีให้กับผู้ต้องขัง มีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างไรกับนักโทษที่กระทำผิดซ้ำซากจะรอการลงโทษหลายๆครั้งแบบนี้หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้น มันเป็นปัญหาจากคน หรือปัญหาของกฎหมาย หรือปัญหาของกระบวนวิธีในการดำเนินงาน คำถามส่วนหนึ่งสังคมได้คำตอบจากรองปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ฆาตกรรายนี้แทบไม่มีเวลาเหลือในโปรแกรมบำบัดแก้ไขฟื้นฟูในชั้นหลังคำพิพากษาของศาลเลย เนื่องจากเป็นความผิดที่มีอัตราโทษต่ำ ขณะที่การควบคุมตัวในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีเพียงระยะสั้นๆ สังคมไทยมีมายาคติต่อผู้กระทำผิดไม่ยอมรับเขากลับคืนสู่สังคม เป็นบุคคลน่ารังเกียจ และที่สำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการเข้าทำงานว่าต้องไม่เคยต้องโทษจำคุก จนไม่อาจเข้าถึงงานหรือคบค้าใครได้ จนเหลือคนสุดท้ายที่สามารถกลับไปคบได้ก็คือคนที่เคยต้องโทษเหมือนกัน สุดท้ายต้องเดินกลับไปซ้ำรอยเดิม ซึ่งถือเป็นคำตอบจาก”นักนิติศาสตร์” ภาครัฐที่ผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน บ่งชี้ให้เห็นว่าอดีตนักโทษหากมาคบค้าสมาคมกันมักมีแนวโน้มกระทำความผิดซ้ำ เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ว่าระบบการใช้เหตุผลของแต่ละคนมักเป็นไปตามประสบการณ์และการเรียนรู้ ทำให้ศาสตร์ที่ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมแตกต่างกันไป นักนิติศาสตร์มีโลกทัศน์ต่อกฎหมายว่าเป็นเป็นเครื่องมือในการสรรสร้างสังคมให้เกิดความยุติธรรม เพราะมีการกำหนดกรอบกติกาของการอยู่ร่วมกันในสังคมให้สงบสุข สิทธิเสรีภาพของปัจเจกได้รับการปกป้อง มีกลไกยุติข้อพิพาทและลงโทษผู้กระทำความผิดเพื่อคืนความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายและความสงบสุขสู่สังคม กระทั่งการฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นักนิติศาสตร์มองกฎหมายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการสร้าง “ความยุติธรรม” ขณะที่โลกทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์มีหลักพื้นฐานของความตระหนักในความมีอยู่จำกัดของทรัพยากร ขณะที่ความต้องการมีอยู่ไม่จำกัด เพราะเหตุนี้ทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจึงต้อง “เลือก” ว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด จึงให้ความสำคัญกับตลาดเสรีด้วยความเชื่อมั่นในการตัดสินใจเลือกอย่างเสรีของปัจเจก หากปัจเจกแต่ละคนตัดสินใจเลือกให้ตนได้ประโยชน์สูงสุด สังคมส่วนรวมที่ปัจเจกแต่ละคนบวกรวมกันก็จะได้ประโยชน์สูงสุดตามไปด้วย เพราะการแสวงหาประโยชน์สูงสุดของแต่ละปัจเจกจะถูกถ่วงดุลซึ่งกันและกันจากสภาพการแข่งขันเสรีในตลาด จนได้ดุลยภาพ (Equilibrium) ที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยน ดังนั้นราคาดุลยภาพที่ซื้อขายกันในตลาดจึงเป็นราคาที่ผู้ขายและผู้ซื้อต่างได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยน นั่นคือผู้ซื้อได้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาสูงสุดที่ยินดีซื้อ ส่วนผู้ขายได้ขายในราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาต่ำสุดที่ยินดีขาย เป็นความพึงพอใจร่วมกัน กลไกราคาตลาดเสรี (Free Market) จึงเป็นกติกาคอยกำกับเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร เสมือนหนึ่งมี ‘มือที่มองไม่เห็น’ (Invisible Hands) คอยดูแลแล้ว รัฐไม่ควรเข้าแทรกแซงกลไกตลาด จากหลักคิดสำคัญของนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ที่มีโลกทัศน์ที่ต่างกันแต่สามารถนำมาสร้างมโนทัศน์ร่วมกันเป็นหลัก “นิติเศรษฐศาสตร์” เพื่อนำหลักดังกล่าวมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมโดยเฉพาะการก่ออาชญากรรม โดยมีข้อสมมติพื้นฐานว่า มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ประชาชน ตลอดจนอาชญากร ล้วนมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ และตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ แต่ละคนตัดสินใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเลือกทางที่ทำให้ตนได้รับผลประโยชน์สุทธิสูงสุดภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่ตนเผชิญ ทั้งนี้ในปี ค.ศ.1968 Gary Becker ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ออกแบบจำลองว่าด้วยการเลือกอย่างมีเหตุมีผล (Rational Choice Model) อธิบายโลกอาชญากรรมโดยมีข้อสมมติว่า อาชญากรเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ และตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ หรือเป็นนักคิดคำนวณที่มีเหตุมีผล (Rational Calculator) เหมือนดังเช่นปัจเจกทั่วไป อาชญากรจะตัดสินใจก่ออาชญากรรมหากประเมินว่าผลประโยชน์ของการก่ออาชญากรรมสูงกว่าต้นทุนของการก่ออาชญากรรม แต่ด้วยผลประโยชน์และต้นทุนของการก่ออาชญากรรมอยู่บนฐานของความไม่แน่นอน (Uncertainty) การตัดสินใจกระทำผิดของมนุษย์มักจะมีเหตุผลในการตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนมากที่สุด และเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice )ที่สุด เพราะมนุษย์สามารถจัดลำดับความสำคัญของความต้องการได้จึงตัดสินใจเลือกสิ่งต่างๆ ตามลำดับความสำคัญที่ตนเองตั้งไว้ ดังนั้นกรณีการตัดสินใจเลือกกระทำการโดยคำนึงถึงเป้าหมายบางอย่างในการกระทำความผิด และผลประโยชน์ที่ได้รับกับต้นทุนที่ต้องเสียไป จึงถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกที่มีเหตุผลและเป็นการจัดลำดับความสำคัญสำหรับความต้องการของตนที่ดีที่สุด เป็นไปตามหลักการเลือกอย่างมีเหตุผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ นิติเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นเครื่องมือการใช้เหตุผลมาอธิบายและตอบคำถามประเด็นที่สำคัญต่อหลักนิติศาสตร์ ได้ 3 ประการคือ 1)การหาเหตุผลเบื้องหลังของการตรากฎหมาย เพื่ออธิบายที่มาที่ไปและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของกฎหมายฉบับแต่ละฉบับว่ามีความเป็นมาอย่างไรและความจำเป็นในการมีอยู่ รวมทั้งกระบวนการได้มา 2)การค้นหาผลกระทบของกฎหมายต่อพฤติกรรมของบุคคลและสังคม โดยเป้าหมายของระบบยุติธรรมทางอาญาคือ การป้องปรามไม่ให้เกิดอาชญากรรม (Deterrence) ผ่านบทลงโทษที่เหมาะสม (Optimal Criminal Sanction) และ3)การออกแบบกฎหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้คนให้ดีขึ้น โดยมีหลักคิดสำคัญคือ การเพิ่มต้นทุนของการกระทำความผิดให้สูงขึ้น ไม่ว่าเป็นการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น เพิ่มโอกาสในการจับผู้กระทำผิดมาลงโทษ ฯ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้คิดกระทำผิดมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์โดยเลือกที่จะไม่กระทำผิดเพราะไม่คุ้มค่า ปัจจุบันทั้งสหรัฐและยุโรปได้พัฒนาการ “กฎหมายและเศรษฐศาสตร์” (law and economics) หรือ “การวิเคราะห์กฎหมายด้วยเศรษฐศาสตร์” (economic analysis of law) จนสามารถสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ อาทิ งานของ Polinsky and Shavell, (2007) และ Shavell, (2004) นอกจากนั้นโรงเรียนกฎหมายต่างมีอาจารย์ประจำทางเศรษฐศาสตร์ ที่เขียนบทความวิชาการเชื่อมโยงระหว่างหลักกฎหมายกับหลักเศรษฐศาสตร์ นับแต่กฎหมายการแข่งขัน(competition law) กฎหมายป้องกันการผูกขาด (antitrust law) เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเลือกอย่างมีเหตุผล สามารถค้นหาแรงจูงใจการตัดสินใจกระทำความผิดของอาชญากรได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อนำแนวคิดทาง “นิติเศรษฐศาสตร์”มาใช้ในการวิเคราะห์การกระทำความผิด เราจะได้หลักทฤษฎี “การก่ออาชญากรรมโดยเลือกอย่างมีเหตุผล” (rational choice theory of crime) ซึ่งบุคคลจะตัดสินใจกระทำความผิดก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่เขาคาดคะเน (expected benefits) จากการกระทำความผิดสูงกว่าต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (expected costs) การที่ต้องใช้ค่าคาดคะเน (expected value) ก็เนื่องจากการกระทำความผิดมีความไม่แน่นอน (uncertainty) จากการดำเนินการสำเร็จ และการถูกลงโทษ จึงต้องนำความน่าจะเป็นที่ประโยชน์และต้นทุนจะเกิดขึ้นมาพิจารณา (ชั่งน้ำหนัก)โดยประโยชน์ที่คาดคะเนก็คือประโยชน์ที่อาชญากรคาดว่าจะได้จากการก่ออาชญากรรม กรณีของนายกิตติกร วิกาหะ ที่กระทำความผิดฆ่าชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธมีดแทงลำตัวและลำคอเหยื่อ ผลประโยชน์คาดคะเนคือ มูลค่าทรัพย์(มือถือที่ชิงไป)คูณกับโอกาสหรือความน่าจะเป็น (Probability) ที่จะชิงทรัพย์สำเร็จ ส่วนต้นทุนคาดคะเนคือ มูลค่าโทษ (หรือการประเมินต้นทุนจากการถูกจำคุก) คูณกับโอกาสที่จะถูกจับกุม หากอาชญากรประเมินว่าผลประโยชน์คาดคะเนสูงกว่าต้นทุนคาดคะเน ก็จะประกอบอาชญากรรม หากอาชญากรตัดสินใจเลือกว่าจะประกอบอาชญากรรมอะไรดี เขาก็จะเลือกการก่ออาชญากรรมที่ให้ผลประโยชน์คาดคะเนสุทธิแก่ตัวเขาสูงที่สุด ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นฆาตกรรายนี้หลังจากฆ่าชิงทรัพย์เหยื่อแล้ว ยังตระเวนกระทำความผิดชิงทรัพย์เหยื่อรายอื่นๆ อีกหลายจุดโดยที่ไม่เกรงกลัวว่าจะถูกจับกุมหรือกลัวการลงโทษเพราะอาจประเมินแล้วว่าผลประโยชน์คาดคะเนย่อมมากกว่าต้นทุนคาดคะเนเป็นแน่แท้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เห็นว่ากฎหมายนอกจากเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการสร้าง “ความยุติธรรม”ตามหลักคิดของนักนิติศาสตร์แล้ว ในทางกลับกันกฎหมายก็เป็นตัวกำหนดโครงสร้างสิ่งจูงใจหรือโครงสร้างผลประโยชน์และต้นทุน ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสิ่งจูงใจที่คนเผชิญ และยังผลให้พฤติกรรมของปัจเจก และผลลัพธ์ (Performance) ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย ดังนั้นบทเรียนการฆ่าชิงทรัพย์กลางกรุง ที่อาชญากรก่ออาชญากรรมโดยเลือกอย่างมีเหตุผลนี้ เป็นบทเรียนสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทยนับแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ ที่จะต้องช่วยกันหาทางป้องกัน ส่วนผู้เขียนเองนำเสนอว่า “การลดประโยชน์ที่อาชญากรคาดหวังและการเพิ่มต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” แก่อาชญากรอาจทำโดยการเพิ่มการลงโทษให้หนักขึ้นหรือการเพิ่มความน่าจะเป็นในการจับกุมให้สูงขึ้นจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมลงได้ไม่มากก็น้อย..