นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ กล่าวว่า การใช้วิธีการปลูกป่าเพิ่มคือ ป่าไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า ได้รับการฟื้นฟูดีขึ้น แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนพื้นที่เสื่อมโทรมไม่ได้รับการดูแลเมื่อถึงฤดูฝน พื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชนจะเป็นแอ่งกระทะ น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านทุกคนเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่า ช่วยกันดูแลรักษา ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า มีเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น นกยูง มีเพิ่ม 300-400 ตัว มีหมูป่าอพยพมาอาศัย มีนกหลากหลายชนิด เป็นต้น พื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน แหล่งชุมชน ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม มีต้นน้ำเป็นทุนเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภค เรียกได้ว่า คนกับป่าไม้ได้อยู่ร่วมกัน พึ่งพากันและกัน ไม่ทำร้ายกัน ทำให้ให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตระหนักและทรงห่วงใย ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและพสกนิกรชาวไทย เพื่อให้รู้จักอยู่รวมกันและชาวไทยมีที่ทำกิน มีอาชีพ ด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งที่เป็นศูนย์กลางการศึกษารวบรวมความรู้ศาสตร์ทุกด้านอาทิเช่น การเกษตรกรรม การประมง ปศุสัตว์ ด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ก็เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มาศึกษา เรียนรู้ นำไปปฏิบัติได้จริงให้ตนเองและครอบครัว ประเทศชาติ มีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน “สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีการพัฒนา ทดลอง วิจัยการดำเนินงานจำนวนกว่า 20 หลักสูตร ตลอดระยะเวลา 34 ปี เช่น ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงแพะนม โคนม ไก่ไข่ หรือด้านเกษตร เช่น การสอนให้เพาะเห็ดหัวหอม เห็ดหลินจือ เห็ดหัวลิง การทำนา การปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกไม้ผล การปลูกมะนาวในวงบ่อ การแปรรูปสมุนไพร เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เป็นแนวทางช่วยเหลือให้กับเกษตรกร และชาวบ้านบริเวณรอบศูนย์ฯ และประชาชนทุกเพศทุกวัยทั่วไป ได้มาศึกษา ปฏิบัติจริง ทางสถานที่จะมีการอบรมและสอนให้เรียนรู้จริง ทำจริง และนำไปสร้างอาชีพให้ตนเอง มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ขยายไปทั่วทุกจังหวัดของภาคเหนือ ระบบการวางแผนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้หลักการทำงาน คือ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารและ ปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม ทรงมีหลักแนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า เรื่องแรกการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า ดิน น้ำ เรื่องที่สองการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามปัญหาของแต่ละภูมิภาค” นายสุรัช ผู้อำนวยการฯ กล่าว นายนภดล โค้วสุวรรณ์ ฝ่ายวิชาการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ นำชมนิทรรศการแบบจำลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนืองมาจากพระราชดำริจำนวน 6 แห่ง โดยกล่าวว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ได้นำมาจัดแสดงให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมาเรียนรู้ ศึกษาเรื่องราวของแต่ละศูนย์ศึกษาฯ มีประโยชน์ด้านใดบ้างได้รวบรวมอยู่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนืองมาจากพระราชดำริ เป็นการจัดกิจกรรมจัดแสดงเด่น ๆ ที่เป็นหลักการดำเนินงานของแต่ละศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ให้ประชาชนได้ศึกษามีความหลากหลายและน่าสนใจอย่างมาก เพราะรวบรวมมาอยู่พื้นที่แห่งนี้ เช่น ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ นำ 3 มหัศจรรย์ คือ ไก่ดำ หมูดำ โคดำ มาให้เรียนรู้ มีด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ การพัฒนาดิน เป็นต้น ได้จัดแสดงให้ประชาชนเข้ามาศึกษาได้ทุกวัน ทางเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะให้ความรู้ สาธิต อบรม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งมีในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง เพื่อสืบสานแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยการให้ศูนย์ฯ นำการวิจัย การทดลอง ไปขยายผลสู่ประชาชนให้ได้รับประโยชน์นำไปปรับปรุงใช้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้รู้จักใช้ชีวิตตามแนวทางและหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริก่อให้เกิดความยั่งยืน “ส่วนตัวของผม สิ่งที่จะทำคือ การใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง ทำประโยชน์เพื่อสังคม ขอถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช จะมีความเพียรพยายาม เหมือนพระองค์ท่าน จะไม่ยอมแพ้หรือท้อต่อการทำงาน จะขอลุกขึ้นมาใหม่และแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ขอสืบสานงานที่พระองค์ท่าน พระราชทานพระราชดำรัสไว้อย่างดีที่สุดในฐานะพสกนิกรชาวไทยคนหนึ่งที่อยู่ใต้ร่มพระบารมี” นายนภดล กล่าว นายไชยฤทธิ์ ศิริชัย หัวหน้ากลุ่มงานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์และโคนมในโครงการพระราชทานกล่าวว่า จัดตั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาด้านปศุสัตว์ให้กับประชาชนที่สนใจดำเนินการมา 49 ปี เริ่มจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงมอบพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้นำไปจัดหาซื้อแพะนมลูกผสมพันธุ์ซาแนน-แองโกลนูเบียนเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ซาแนนและพันธุ์แองโกลนูเบียนเป็นแพะนมมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ การนำน้ำนมแพะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ และนำผลผลิตไปขายสู่ตลาด เพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การทำสบู่จากนมแพะ ไอศกรีมนมแพะ นมแพะพาสเจอร์ไรส์ และการจัดอบรม การเลี้ยงโคนม ไก่ แพะนม เรามีเครือข่ายเกษตรกรมากอยู่แต่กำลังจะทำการวางแผนเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ตรงนี้ให้มีที่ขายอย่างถูกต้อง มีรายได้พอเลี้ยงตนเองและครอบครัว ด้าน นายประโภชฌ์ สภาวสุ ผู้อำนวยการ โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ไทยดเบฟฯ กล่าวว่า ไทยเบฟฯ ของเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม ได้มีแนวคิดและปฏิบัติในการจัดทำโครงการ จัดสร้าง หอเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 70 ปีนี้เกิดขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย จากโครงการพระราชดำริจำนวนมากที่ได้ทรงทดลองจนเกิดผลสามารถนำไปใช้จริงในพื้นที่ บังเกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และสภาพแวดล้อมทาธรรมชาติซึ่งยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดสร้างหอเฉลิมพระเกียรติฯ โดยการอนุรักษ์พื้นที่ทางอาคารศาลาทรงงาน และการอนุรักษ์พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ “สำหรับผมคิดว่า หัวใจของความรู้คือการที่ให้ความรู้จากจุดเล็กๆ ก่อนคือ ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้รับการเรียนรู้ และนำไปใช้ประโยชน์พร้อมทั้งปฏิบัติแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การที่พวกเขารู้จักดูแลตนเอง พึ่งพาตนเอง ให้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมั่นคง อย่างเช่น การที่นำปัจจัยด้านอาชีพมอบให้กับชาวบ้าน เช่น หมู ไก่ ปลา กบ การสอนให้รู้จักงานฝีมือ ให้ชาวบ้านได้ศึกษา เลี้ยงตนเองทำเป็นอาชีพ เพื่อเป็นปัจจัยการดำรงชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการพึ่งพาตนเอง สิ่งที่สำคัญของการเดินตามรอยเท้าพ่อ อย่างพอเพียงและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองด้วยการเรียนรู้ ศึกษา ทดลอง และนำไปใช้ได้อย่างถาวร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ” นายประโภชฌ์ กล่าว รายงาน / ฤทัยรัตน์ เมื่องกฤษณะ