เรื่องคอเลสเตอรอลที่ทุกคนหวาดกลัวนั้น เริ่มต้นมาจากรายงานฉบับแรกของ กระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1913 ที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับปริมาณคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ประมาณ 5% ของไขมันทั้งหมดในไข่ หรือ เพียง 0.4% ของไข่ทั้งฟอง เมื่อเวลาผ่านไป 100 กว่าปี www.forbes.com สื่อชั้นนำระดับโลก ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “Why Eggs And Other Cholesterol-Laden Foods Pose Little Or No Health Risk” หรือ “ทำไมไข่และอาหารคอเลสเตอรอลไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 เนื้อหาระบุถึงรายงานคำแนะนำการบริโภคอาหารโดยคณะกรรมการที่ปรึกษากำหนดแนวทางการบริโภคของสหรัฐอเมริกา หรือ คณะกรรมการ Dietary Guidelines Advisory Committee (DGAC) ประจำปี 2015 ซึ่งมีการทบทวนผลการศึกษาทางโภชนาการล่าสุด ในทุกๆ 5 ปี หลังจากครั้งสุดท้ายทำเมื่อปี 2010 โดยกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนคำแนะนำการบริโภคอาหารหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ “ไข่” โดยได้ยกเลิกคำแนะนำฉบับเก่าเมื่อปี 2010 ที่ให้จำกัดการบริโภคคอเลสเตอรอลไว้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างคอเลสเตอรอลที่มีในอาหารกับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดที่ชัดเจนของผู้ที่สุขภาพดี ส่วนผู้มีปัญหาคอเรสเตอรอลสูงยังคงอยู่ภายใต้คำแนะนำโดยแพทย์ สอดคล้องกับ สมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (American Heart Association : AHA) ที่ในปีเดียวกันก็ได้เปลี่ยนคำแนะนำจากเดิมเมื่อปี 1968 ที่บอกว่า ในแต่ละวันคนบริโภคคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม และไม่ควรกินไข่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ มาเป็น “กินไข่ได้วันละไม่เกิน 1 ฟอง” เพื่อไม่ให้เสียโอกาสที่จะได้รับสารอาหารดีๆจากไข่ไก่ เนื่องจากองค์ความรู้เรื่องไขมันและคอเลสเตอรอลถูกพัฒนาไปมากจนเป็นที่แน่ชัดว่าไขมันในไข่ไก่มีผลเสียต่อผู้บริโภคน้อยมากเมื่อเทียบกับไขมันจากแหล่งอื่นๆ และพบว่า การกินไข่วันละ 1 ฟอง ไม่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ที่สำคัญ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture : USDA) ยังช่วยทลายความเชื่อผิดๆ เรื่องคอเลสเตอรอล อีกครั้ง หลังจากในปี 2015 ได้ถอดคอเลสเตอรอลออกจากสารอาหารที่คนอเมริกันต้องควบคุม เพราะได้ค้นพบว่า คอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหารไม่สัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ขณะเดียวกันก็ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับไข่ไก่ที่เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ทั้งกรดไขมัน DHA (Docosahexaenoic acid) และ EPA (Eicosapentaenic acid) ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของสมอง สายตา หัวใจและระบบหลอดเลือด รวมถึงสุขภาพจิตใจ และยังช่วยป้องกันโรคสมาธิสั้นในเด็ก แถมยังช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ และโรคหัวใจ ล่าสุดหมอไทยก็ออกมายืนยันอีกครั้งว่าไข่ไก่นั้นทานได้ แถมประโยชน์ยังมีมากมาย ศจ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ อดีตประธานหลักสูตรโภชนศาสตร์ โครงการร่วมรามาธิบดีและสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ถ้าพูดคนส่วนใหญ่จะกลัวเรื่อง โรคหัวใจ ด้วยคิดว่าเกิดจากคอเลสเตอรอล จึงโทษกันว่าการกินไข่ที่มีคอเลสเตอรอลอยู่ด้วยจะส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ ซึ่งจริงๆแล้วจากการศึกษาทั่วโลก ได้ข้อสรุปว่า “ในคนทุกวัยที่สุขภาพปกติ สามารถรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ” ที่สำคัญการรับประทานไข่ไก่ในผู้สูงอายุ จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ และมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบสมอง ซึ่งจะช่วยให้มีสมาธิ ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้อีกด้วย ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ต้องควบคุมอาหารที่มีไขมัน ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์ และที่ต้องทำให้เป็นนิสัยคือหมั่นออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่เลี่ยงอาหาร มัน หวาน เค็มจัด ก็จะช่วยให้มีร่างกายที่แข็งแรงลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่างๆได้ ทั้งหมดนี้คงพอลบล้างความเชื่อเดิมๆที่คนไม่กล้ากินไข่เพราะกลัวคอเลสเตอรอลได้เสียที อย่ามโน..จนทำให้เสียโอกาสที่จะได้กินของดีมีประโยชน์เกินราคาอย่างไข่ไก่อีกต่อไปเลย