ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง เสน่ห์ผ้าไหมแพรวา “ป้าคำสอน สระทอง” งามวิจิตรจรดผืน กล่าวกันว่าผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์มีเสน่ห์แตกต่างจากผ้าลดวดลายชนิดอื่นที่ทอด้วยกี่ ด้วยความที่ช่างทอผ้าให้ความละเมียด ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนประณีตศิลป์การผลิต จนสำเร็จรูปมาเป็นผ้าแพรวาสวยงามจรดผืน ซึ่งก็แน่นอนทีเดียว ผ้าแพรวาทั้งผ้าพันคอ สไบ ผ้าตัดชุด ผ้าส่งประกวด จัดเป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หน้าตาของจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้คนท้องถิ่นนิยมสวมใส่ออกงานต่างๆ ไม่ว่างานบุญ ประเพณี แม้แต่งานสังคมต้อนรับผู้มาเยือนถิ่นก็ตาม ในการรังสรรค์ผ้าแพรวา หนึ่งในผู้สร้างผ้าแพรวางามจรดผืน นางคำสอน สระทอง ผู้นำกลุ่มทอผ้าไหมแพรวา ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์–ทอผ้า) ประจำปี 2559 ในที่นี้พาไปรู้จักประวัติและผลงานช่างทอผ้าแพรวาท่านนี้โดยข้อมูลศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังเขป นางคำสอน สระทอง ปัจจุบันอายุ 77 ปี (เกิด 1 ก.ย. 2482) จบการศึกษาชั้น ป.4 เรียนรู้เทคนิคการทอผ้าแพรวาจากนางเบง สระทอง ซึ่งเป็นคุณย่าของสามี ได้สอนการทอผ้าห่ม ลายแรกที่ทอคือลายนาค สืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยายชาวภูไทมาจากทางฝั่งลาว มักทอสไบไว้สำหรับใช้เอง แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร เห็นผ้าแพรวา จึงทรงให้ทอสามารถนำมาตัดเสื้อได้ ตัดผ้านุ่งได้ เพราะผ้าสไบหน้ากว้างเพียง 12 – 13 นิ้ว จากนั้นมาคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานทอผ้าแพรวา จนกระทั่งเกิดความเชี่ยวชาญและได้พัฒนารูปแบบลวดลายให้สวยงามทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยนิยม สามารถประดิษฐ์ลวดลายได้อย่างประณีตงดงามตามจินตนาการ อีกทั้งได้คิดประดิษฐ์รูปแบบการทอผ้าที่เรียกว่า “เขาลาย หรือ ตะกรอลาย” เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการประดิษฐ์ลวดลายแพรวาให้สามารถทอเป็นแบบเดียวกันอย่างเป็นระบบทั้งผืน นับเป็นมิติการทอผ้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค ทั้งเป็นผู้นำกลุ่มทอผ้าไหมแพรวายาวที่สุดในโลก 99 เมตร 60 ลาย ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผ้าไหมแพรวาขนาดหน้ากว้างพิเศษ 80 เซนติเมตร ความยาว 9 เมตร จำนวน 10 ลาย รวม 43 แถว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วประเทศ ด้วยเสน่ห์ของผ้าแพรวาแตกต่างจากผ้าชนิดอื่นด้วยลวดลายที่ทอจะปรากฏอยู่ด้านล่างของกี่ โดยมีไม้คันผังยึดผ้าที่ทอแล้วไว้ให้ตึงตลอดเวลา ทำให้ลวดลายบนผ้าสวยงาม ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสีสันของผ้าแพรวาเป็นโทนสีแดง และใช้เส้นไหมสีเขียว เหลือง ขาว หรือน้ำเงินในการขิดลาย ทำให้เกิดสีสันที่งดงามกับผืนผ้า ซึ่งลวดลายที่ปรากฏบนผ้าแพรวาประกอบด้วยลายทั้งหมด 3 ส่วน ลายหลัก คือ ลายขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยลายเล็กๆ หลายๆ ลายมาประกอบเข้าด้วยกัน ตามวิธีการของผู้ทอ ลายเล็กๆ ที่สามารถนำมาประกอบเป็นลายหลักได้ เช่น ลายนาคสี่แขน ลายพันธุ์มหา ลายดอกส้าน ฯลฯ ส่วนประกอบสำคัญของลายหลัก ได้แก่ ลายนอก ที่มีลักษณะเป็นตารางสามเหลี่ยม ประกอบสองข้างของลายใน มีลวดลายครึ่งหนึ่งของลายในตลอดความกว้างของผืนผ้า ลายใน คือ ส่วนที่อยู่ตรงกลางของแถวหลัก มีลวดลายเต็มรูปอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูนตลอดความกว้างของผืนผ้าเช่นกัน ลายเครือ คือ ส่วนที่อยู่ในแถวบนของกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในแต่ละแนว มีกึ่งกลางของลายหลักเป็นส่วนยอดของลายเครือ ลายคั่น คือ ลายที่มีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางผืนผ้า ทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วงๆ ไป เป็นลายที่ใช้แต่งชายผ้าและขาดไม่ได้ในลายผ้าแพรวา เช่น ลายขาเข ลายงูลอย ลายดอกส้มป่อย ฯลฯ ลายเชิง คือ ลายที่ปรากฏช่วงปลายของผ้าทั้งสองข้างที่เป็นตัวริเริ่มและตัวจบปลายผ้า เช่น ลายหางปลาวา ลายดอกผักแว่น ลายงูลอย ฯลฯ จากผลงานการทอผ้าที่โดดเด่น สำนักพระราชวังได้มีหนังสือแต่งตั้งให้เป็นครูสอนการทอผ้าที่ศูนย์ส่งเสริม ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ทำหน้าที่สอนการทอผ้า ทั้งยังเป็นครูภูมิปัญญาชาวบ้าน บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อีกคงความเป็นครูหลวงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป ในฐานะวิทยากรในการฟอกย้อมสีไหมและสอนทอผ้าไหมแพรวาให้กลุ่มต่างๆ รวมทั้งสอนทอผ้าไหมแพรวาที่ศูนย์ศิลปาชีพ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดสกลนคร ด้านผลงานรางวัลมากมาย เช่น ชนะเลิศประกวดกลุ่มทอผ้าไหมดีเด่น ประเภทผ้าไหม ทอ 4 – 8เส้น (2533) ชนะเลิศมหกรรมวิจิตรแพรวาราชินีแห่งไหม ประเภทผ้าไหมแพรวาลายเกาะ – ตัดชุด (2539 – 2540) รางวัลศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (หัตถกรรมทอผ้า) สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (2548) ฯลฯ ได้รับปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาช่างออกแบบประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ (2548) กระทั่งล่าสุด คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์–ทอผ้า) ประจำปี 2559 ป้าคำสอน สระทอง ยังคงคิดค้นหาวิธีการที่จะทำให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดการทอผ้าแพรวาให้ดำรงอยู่คู่ท้องถิ่นและชาติสืบไป