ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] “หนองเลิงเปือย”อันเนื่องมาจากพระราชดำริ “น้ำคือชีวิต”พระราชทาน ชาวกาฬสินธุ์(1) หนองเลิงเปือยเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่เกิดขึ้นมานานนม คู่มากับท้องถิ่นที่วันนี้เป็นแหล่งน้ำที่นับว่าเป็นแก้มลิงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 นั่นเอง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 25544ขณะประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แสดงให้เห็นน้ำพระราชหฤทัยแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงห่วงใยราษฎรคนไทยอยู่ทุกขณะแม้พระองค์เองจะทรงพระประชวรอยู่ก็ตาม โครงการแก้มลิง เกิดจากการที่ทรงมีพระราชดำริถึงลิงตอนกินกล้วยแล้วยังไม่กลืนแต่อมไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง" ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงเกิดเป็น "โครงการแก้มลิง" ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ชะลอน้ำขณะที่น้ำหลากมามากๆ รับน้ำเอาไว้ในอ่างน้ำอันเป็นที่ลุ่มลึกเมื่อน้ำไหลลงไปพักที่อ่างทำให้ผ่อนกระแสหลากมาแรงของสายน้ำที่สามารถทำลายพืชผลวัตถุสิ่งของได้ กระทั่งชีวิตคนและสัตว์ เมื่อน้ำเต็มจนล้นก็จะค่อยๆไหลต่อไปกระแสไม่ไหลแรงเชี่ยวกรากแล้วและเมื่อผ่านฤดูน้ำหลากสามารถแก้มลิงดังกล่าวกักเก็บน้ำไว้รอการระบายเพื่อไปใช้ประโยชน์ในภายหลัง ประโยชน์ที่ได้จากน้ำในแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของประชาชนในพื้นที่รอบๆเฉพาะอย่างยิ่งหนองเลิงเปือยเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอันเกิดจากพระเมตตาพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรของพระองค์ โดยเพราะทรงตระหนักด้วยพระอัจฉริยภาพว่าชีวิตของสรรพสิ่งขึ้นอยู่กับน้ำ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้อุปโภคบริโภค แล้วก็น้ำเพื่อการเกษตร ความชุ่มชื้นร่มรื่นชื่นเย็นต้องอาศัยน้ำ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรมน้ำเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้พืชผล ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่มีการเจริญงอกงามเติบโตอย่างแน่นอน ดังพระราชดำรัส “น้ำคือชีวิต” พื้นที่ขาดแคลนน้ำก่อเกิดความแห้งแล้งนำความอดอยากขาดแคลนมาเยือน ความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งมาจากความแห้งแล้งเพราะขาดแคลนน้ำไม่อาจประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างปรกติ พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่อาจเจริญงอกงามที่สุดถึงเหี่ยวแห้งตายในที่สุดสรรพสิ่งอื่นๆสรรพชีวิตก็เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงทุ่มเทพระองค์ศึกษาค้นคว้าหาหลักการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมถึงฟื้นฟูแหล่งเกิดน้ำลำธารคือรักษาป่า ฟื้นฟูป่า ทั้งทรงนำพระองค์รักษาป่าปลูกต้นไม้ ทั้งหพระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาแหล่งน้ำดั้งเดิมที่ตื้นเขินขาดศักยภาพเก็บกักและทรงให้สร้างแหล่งน้ำใหม่เป็นแก้มลิง และหรือแม้แต่ที่ทรงรับแหล่งน้ำที่ราษฎรถวายฎีกาขอพระราชทานแหล่งน้ำและทุกภาคร่วมกันพัฒนาเพื่อร่วมสนองพระมหากรุณาธิคุณสืบสานพระราชปณิธานไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วยนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ตราบจนเสด็จสวรรคตเป็นเวลายาวนาน 70 ปีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเรื่องน้ำที่พระราชทานให้เกิดขึ้นทั่วประเทศจึงมีมากมาย สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้หลุดพ้นจากความยากจนอดยากแทบทั้งประเทศ โครงการแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯเป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ( มูลนิธิปิดทองหลังพระ) ร่วมกันพัฒนาขุดลอกและซ่อมแซมฝาย บริเวณ ตำบลสามัคคี อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขุดลอกเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งผ่อนคลายความทุกข์ราษฎรในพื้นที่ หนองเลิงเปือยแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริแหล่งน้ำธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่มีสภาพตื้นเขินจากตะกอนดินทับถม และฝายที่สร้างขึ้นเพื่อชะลอน้ำชำรุด ทำให้ไม่สามารถชะลอน้ำในช่วงหน้าฝนและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภคได้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน จะมีบริมาณน้ำท่าไหลลงหนองเกินความจุของหนองน้ำ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี จากความเดือดร้อนดังกล่าว ราษฎรในพื้นที่ได้ทำหนังสือถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขอพระราชทานโครงการขุดลอกหนองเลิงเปือยและซ่อมแซมฝายบริเวณ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ ในปี 2553 จากนั้นสำนักงานกปร. สรุปแนวทางการช่วยเหลือเสนอสำนักราชเลขาธิการเพื่อนำความกราบบังคลทูลฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงรับโครงการพัฒนาปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นหนองเลิงเปือยไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแด่ชาวกาฬสินธุ์หาที่สุดมิได้ “หนองเลิงเปือย” เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผลผลิตทางการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของราษฎรในเขตอำเภอร่องคำและอำเภอกมลาไสย มีพื้นที่ 887 ไร่ ความลึกเฉลี่ย3 เมตร เดิมเก็บกักน้ำได้3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล.ลบม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ถึง 53 หมู่บ้าน 4 ตำบล 2 อำเภอ คือ 15 หมู่บ้านของตำบลสามัคคี 12 หมู่บ้านของตำบลเหล่าอ้อย 13 หมู่บ้านของตำบลร่องคำ ตำบลทั้งหมดของอำเภอร่องคำ และอีก 13 หมู่บ้านของตำบลโพนงามในเขตอำเภอกมลาไสย พื้นที่การเกษตรทั้ง 2 อำเภอประมาณ 42,958 ไร่ เป็นพื้นที่นา 39,406 ไร่ เป็นพื้นที่ทำไร่ 2,623 ไร่ ที่เหลือประมาณ 929 ไร่ เพาะปลูกผัก ผลไม้ ทำประมง และปศุสัตว์(อ่านต่อ) …...........................................................