ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] “หนองเลิงเปือย”อันเนื่องมาจากพระราชดำริ “น้ำคือชีวิต”พระราชทาน ชาวกาฬสินธุ์(จบ) ก่อนมีการพัฒนาหนองเลิงเปือยจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประชาชนในพื้นที่โดยรอบโครงการพื้นที่ 2 อำเภอ ประมาณ 4,000 กว่าครัวเรือนมีความเป็นอยู่ฝืดเคือง แต่ละครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 46,000 บาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศที่อยู่ 50,000 บาท มีหนี้สินครัวเรือน 40,000 บาท ก่อนพัฒนาหนองเลิงเปือยพื้นที่บริเวณโดยรอบและพื้นที่ใกล้เคียงเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ประจำแทบจะทุกปี ทั้งๆมีหนองเลิงเปื่อยอยู่แล้ว แต่ที่เกิดการท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปีเพราะหนองเลิงเปือยนั้นตื้นเขิน ทำให้ไม่สามารถมีศักยภาพที่จะเก็บกักน้ำชะลอไว้ได้ หลังน้ำท่วมแล้วไหลหายไปหนองเลิงเปือยเก็บน้ำไว้ได้น้อยมาก ทำให้3ปีชาวบ้านทำนาได้เพียงครั้งเดียว “หนองเลิงเปือยฯขณะตื้นเขินไม่สามารถเก็บน้ำได้เพียงพอ ความลึกเฉลี่ยเพียง 3 เมตรเก็บกักน้ำได้ไม่มาก เก็บน้ำได้ราว 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อโครงการฟื้นฟูหนองเลิงเปือยฯสำเร็จสามารถกักเก็บน้ำได้ราว 7 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรจึงสามารถทำนาเพิ่มได้กว่า 5,200 ไร่ แล้วการการขุดลอกได้ถูก วางแผนขุดที่ความลึก 6 เมตร ขุดแบบขั้นบันไดตัดหน้า 2-3 เมตรให้ปลาสามารถวางไข่ได้”ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในช่วงการขุดลอกนั้น ดินที่ได้จากการขุดประมาณ 4.9 ล้านคิว ถูกนำไปถมที่นาบริเวณรอบหนองเพื่อปรับพื้นที่ให้สูงขึ้นเฉลี่ย 2 เมตร โดยเลือกพื้นที่รอบหนองในรัศมี 2.5 กิโลเมตร ดินที่อยู่ด้านบนนั้นมีความอุดมสมบูรณอยู่เพียงพอแล้วไม่ต้องทำอะไรอีก เมื่อถมเสร็จชาวบ้านสามาถทำการเกษตรได้ทันที ส่วนหน้าดินชั้นที่ลึกลงไปมีการวางแผนปลูกต้นปอเทืองแล้วไถกลบ เพื่อปรับปรุงบำรุงให้ดินได้รับโปตัสเซี่ยมเหมาะสำหรับทำการเกษตรในอนาคตต่อไป การลงพื้นที่ดูโครงการพัฒนาหนองเลิงเปื่อยอันเนื่องมาจากรพระราชดำริเมื่อไม่นานมานี้ ได้เห็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 8หน่วยงานหลัก คือมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สำนักงานกปร.มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)ตลอดจน หน่วยงานของจังหวัดกาฬสินธุ์เอง ชาวบ้าน ต่างให้ความร่วมมือการฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำหนองเลิงเปือยฯเป็นความหวังในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกาฬสินทธุ์ส่วนหนึ่ง พ.ท.ชินกาจ รัตนจิตติ รองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 2(ในเวลาฟื้นฟูแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ)ในฐานะตัวแทนหน่วยรับผิดชอบดำเนินงานพัฒนา กล่าวว่า ทางกองทัพบกเข้ารับผิดชอบกิจการด้านพลเรือน ใน 4 บทบาท บทบาทแรกคืองานประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชน ภารกิจที่2 คือการขุดลอกหนองเลิงเปือยฯ ซึ่งทางกองทัพส่งทหารมาร่วมในภารกิจ 6 กองพัน ได้แก่ กองพันทหารช่างที่ 3, 6,201,202,111 และกองพันทหารช่างเครื่องมือพิเศษ บทบาทที่3 เป็นการดำเนินการเรื่องมวลชนที่มาสนับสนุนโครงการ และบทบาทสุดท้ายคือตั้งระยะเวลาการทำงานไว้ประมาณ 5 เดือน คือจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2557 เพื่อให้ทันฤดูการเพาะปลูก ทางด้านนายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯกล่าวว่า โครงการพัฒนาหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นโครงการต้นแบบสำหรับนำการไปพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งโครงการพัฒนาหนองเลิงเปือยฯนี้หลังดำเนินการแล้ว นอกจากจะแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากได้แล้ว ยังมีน้ำกักเก็บไว้ให้พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จากการพัฒนาหนองเลิงเปือยฯอีกกว่า 5,200 ไร่ การพัฒนาขุดลอกหนองเลิงเปือยฯแนวทางการสนองพระราชปณิธาน สิ่งที่ขาดไม่ได้ต้องดำเนินการคู่กันไปคือ ทำให้ชาวบ้านเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการพัฒนาคนควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดความรักหวงแหนมีส่วนร่วมบำรุงรักษา ตั้งแต่ช่วงดำเนินการ มีการเตรียมความพร้อมของประชาชน เป้าหมายคือ ประชาชนส่วนใหญ่ของพื้นที่มีอาชีพด้านเกษตรกรรม ได้ร่วมพูดคุยกันว่าจะพัฒนาอาชีพกันอย่างไรหลังจากที่โครงการพัฒนาหนองเลิงเปือยฯแล้วเสร็จ โดยจะมีปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดกาฬสินธุ์ มาให้ความรู้ประสบการณ์ หลักสำคัญคือการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงปรัชญาดำเนินชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานให้ไว้ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เล่าถึงการน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ไว้ว่าเป็นการเน้นย้ำให้ชาวบ้านมีเหตุมีผลไม่โลภรู้จักคำว่าพอประมาณพอเพียง ค่อยเป็นค่อยไป แต่ดำเนินชีวิตด้วยความขยันอดทน ไม่โลภเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้ใช้แนวคิดหลายๆอย่างตามศาสตร์พระราชา ที่ปฎิบัติกันมาแล้วคือ การเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฏีใหม่ฯ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในด้านใดทั้งเรื่องน้ำ เรื่องอาชีพ หรือแม้กระทั้งเรื่องของประชาชนเองทางส่วนราชการก็น้อมนำแนวคิดเรื่องศาสตร์พระราชามาใช้สร้างความรู้ความเข้าใจทั้งสิ้น “การนำหลักเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฏีใหม่ฯมาใช้ในพื้นที่โดยรอบหนองเลิงเปือยฯนั้นไม่สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 30:30:30:10 ได้เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากแต่ต้องประยุกต์ตามความเหมาะสม จะใช้การขุดคันสระรอบๆแปลงนาให้สูง เพราะเวลาน้ำท่วมจะมีคันคอยกั้นไม่ให้น้ำท่วมเข้าไปในแปลงได้ ก็จะยังคงทำนาได้ ซึ่งสามารนำน้ำมาใช้ในหน้าแล้ง แล้วในฤดูฝนยังช่วยกั้นน้ำได้ หลังจากโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยพัฒนาเสร็จแล้ว คงสามารถแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้มาก ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ทำให้เกษตรสามารถทำอาชีพได้เพราะมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง สามารถทำนาปรังได้ นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องการอุปโภคบริโภค เมื่อปัญหาเรื่องน้ำหมดไป ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็น่าจะหมดไป ปัญหาเรื่องการย้ายฐิ่นฐาน การเข้าไปรับจ้างในต่างพื้นที่ก็จะหมดไปเพราะในพื้นที่บ้านของตนเองนั้นสามารถทำอาชีพได้แล้ว” เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังกล่าวต่อถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอีกว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ทรงรับโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งชาวบ้านทั้งหน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆจะทำความดีเพื่อตอบแทนพระองค์ท่าน จะสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ จะน้อมน้ำแนวคิดหลักปรัชญาของพระองค์ท่านมาใช้ในชีวิตต่อไป การฟื้นฟูพัฒนาหนองเลิงเปือยแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ผ่านมาจนวันนี้จึงได้เห็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนและที่มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมใจให้ความร่วมมือในการพัฒนาอย่างเต็มกำลัง ผลที่เกิดวันนี้คือ สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนในพื้นที่ ประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์รวมถึงประชาชนทั้งประเทศ ชาวบ้านเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนมีความสุข รวมพลังดำเนินชีวิตบนความดีงามถวายเป็นพระราชกุศล ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นพระมหกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่พระองค์ทรงสร้างประโยชน์สุขให้ราษฎรทุกคนด้วยทรงห่วงใยตลอดเวลาแม้ในช่วงที่พระองค์จะทรงพระประชวรก็ตาม โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริวันนี้ห จึงเป็นอีกรูปธรรมหนึ่งแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชาด้วยพระราชปณิธานที่ทรงต้องการเห็นราษฎรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป .................................................