โชว์ภาพสเก็ตซ์"คนนั่ง"ผลงาน“ศ.ศิลป์ พีระศรี”ชิ้นสุดท้ายก่อนเสียชีวิต-รวม29ผลงานศิลปะชั้นครู-ครอบครัว"จุลดุลย์"มอบให้สมบัติของชาติ รายงานจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) ว่า ได้รับการประสานงานจากครอบครัวจุลดุลย์ ที่ต้องการสานต่อเจตนารมณ์ของคุณเทพ จุลดุลย์ นักสะสมผลงานศิลปะชาวไทยในรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ที่มีความประสงค์มอบผลงานศิลปะอันล้ำค่าที่ได้เก็บสะสมไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งผลงานทั้งหมดเป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของศิลปินที่มีชื่อเสียง และเป็นปูชนียบุคคลในวงการศิลปะไทย อาทิ ผลงานภาพสเก็ตซ์รูปคนนั่ง ซึ่งเป็นภาพสุดท้ายของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่ได้เขียนไว้เพื่อสอนนักเรียนก่อนเสียชีวิต 3 วัน ลงปีที่สร้างสรรค์ผลงาน 2505 ศิลปิน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชื่อผลงาน คนนั่ง เทคนิค ภาพสเก็ตซ์ ขนาด 72 เซนติเมตร x 43 เซนติเมตร ปีที่สร้างสรรค์ผลงาน 2505 ภาพจิตรกรรมผลงานค่ายกักกันชาวญี่ปุ่น (Japanese Internment Camp) ของนายเฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งได้สร้างสรรค์ในค่ายกักกันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศอินเดีย และยังเป็นภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพวาดในอินเดีย พ.ศ. 2488 ศิลปิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ชื่อผลงาน ค่ายกักกันชาวญี่ปุ่น (Japanese Internment Camp) เทคนิค สีฝุ่นบนกระดาษ ขนาด 26.50 เซนติเมตร x 37.50 เซนติเมตร ปีที่สร้างสรรค์ผลงาน 2488 ภาพผลงานดอกไม้ (Flowers) ของนายสวัสดิ์ ตันติสุข ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1ของมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2492 และได้รับรางวัลที่ 2 การประกวดศิลปะนานาชาติครั้งที่ 1 ไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ปี พ.ศ. 2505 ภาพผลงานผู้หญิงนอนในป่า ของนานอังคาร กัลยาณพงศ์ ภาพผลงานวัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ธนบุรี ของนายดำรง วงศ์อุปราช ฯลฯ รวมจำนวน 29 ผลงาน จากความสำคัญผลงานในด้านศิลปะ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน และนักสะสมผลงาน สศร.จึงได้รวบรวมนำภาพประวัติศาสตร์และการบันทึกเหตุการณ์ที่มาของแต่ละภาพ มาจัดแสดงและเรียบเรียงเป็นเรื่องราว เพื่อให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ตลอดจนเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินแต่ละท่าน ที่สะท้อนข้อคิด มุมมอง เกร็ดความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของไทย เกิดการกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชน หันมาสนใจในงานศิลปะ เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างคนคุณภาพ ที่มีวิธีคิดและมุมมองที่สร้างสรรค์ นำมาจัดแสดงนิทรรศการผลงานสะสม “กลับบ้าน” ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 10 กันยายน 2560 ชั้น 2 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ทั้งนี้ ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการยังมีการจัดกิจกรรมบรรยายองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศิลปะจากวิทยากรด้านศิลปะให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย และในวันที่ 17 มกราคมนี้ จะมีการแถลงข่าวหอศิลป์ดังกล่าว