ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ นักกฎหมายเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน กรณีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตครู ถูกจำคุกในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต ได้ร้องขอความยุติธรรมเพื่อให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ทำให้คำว่า “แพะ”เป็นที่กล่าวถึงกันอีกครา สังคมตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมว่า “มีข้อบกพร่อง และความไร้ประสิทธิภาพ” เกิดขึ้น ณ จุดใด ผลจากคดีนี้ส่งผลให้ “ครูแพะ”ต้องติดคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ต้องออกจากราชการ ครอบครัวแตกแยก สูญเสียลูกคนโต ลูกคนเล็กต้องออกจากโรงเรียน ขณะที่ภาครัฐออกมาประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า หากเป็นแพะจริงจะต้องได้รับการเยียวยา คำว่าเยียวยาเสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้านต่อการแก้ปัญหาของรัฐที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดเสมอ แต่ไม่เคยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง สังคมไทยจึงเกิดแพะซ้ำแล้วซ้ำอีก อันที่จริงสังคมมิได้ต้องการเห็นเพียงการเยียวยาจากรัฐให้กับเหยื่อเท่านั้น แต่ต้องการเห็นความยุติธรรม (Judicial Remedy) และการแก้ไขปัญหาในโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความรับผิดชอบจากกลไกของกระบวนการยุติธรรม โดยให้ตระหนักถึงสิทธิของพลเมืองในการได้รับการสืบสวนสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีความเป็นอิสระ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights- ICCPR ) ทั้งนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีผลใช้บังคับในปี 2519 ส่งผลให้รัฐภาคีจะต้องเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของพลเมืองทุกคน ซึ่งรวมถึงสิทธิในชีวิต เสรีภาพในศาสนา เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการรวมตัว สิทธิเลือกตั้ง และ”สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีด้วยความยุติธรรม” เป็นต้น สำหรับไทยในฐานะรัฐภาคีมีพันธะผูกพันที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการของกติกา ICCPR โดยทำให้เกิดสิทธิต่าง ๆ ตามที่ระบุในกติกาและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสิทธิที่รับรองไว้ในกติกาด้วยความก้าวหน้า สำหรับคดีครูแพะหากดูในกติกา ICCPR โดยเฉพาะในข้อ 2 ต้องมีการเยียวยาบุคคลที่สิทธิหรือเสรีภาพซึ่งรับรองไว้ในกติกาถูกละเมิด โดยไม่ต้องคำนึงว่าการละเมิดนั้นจะกระทำโดยบุคคลผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ และการเยียวยาดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจ หรือจากหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ และต้องบังคับการให้การเยียวยานั้นเป็นผล นอกจากนั้น ข้อ 14 ยังกำหนดว่า เมื่อบุคคลใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดอาญา และภายหลังมีการกลับคำพิพากษาที่ให้ลงโทษบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นได้รับอภัยโทษ โดยเหตุที่มีข้อเท็จจริงใหม่หรือมีข้อเท็จจริงที่ได้ค้นพบใหม่อันแสดงให้เห็นว่าได้มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มิชอบ บุคคลที่ได้รับความทุกข์อันเนื่องมาจากการลงโทษตามผลของคำพิพากษาลงโทษเช่นว่า ต้องได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งทั้งการเยียวยาแลและการชดเชยในกรณีครูแพะไม่มีอะไรน่าเป็นกังวลมากนักเพราะเริ่มกระบวนการต่างๆในชั้นศาลเพื่อไต่สวนค้นหาความจริงแล้วประกอบกับหลายฝ่ายยืนยันว่าหากเป็นแพะจะต้องมีการเยียวยา และที่สำคัญนายกรัฐมนตรียืนยันว่าหากไม่ผิดรัฐต้องคืนสิทธิในการกลับเข้ารับราชการ ที่ผ่านมาการดำเนินคดีต่อพลเมืองที่เสมือนกับ “ไร้ประสิทธิภาพ” ไม่ว่าคดีไหนๆทำให้มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดหลักประกันสิทธิของพลเมือง และเป็นอุปสรรคของความก้าวหน้าบางประการในการดำเนินการตามกติการะหว่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐขาดการเผยแพร่กติกาที่สำคัญนี้ให้พลเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับกติกาได้รับทราบถึงสิทธิต่างๆที่พึงมี ย่อมส่งผลต่อความเข้มแข็งอย่างเพียงพอในการเข้าถึงกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ และการเข้าถึงกลไกกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริงตามที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศของพลเมือง หลายครั้งหลายหนที่รัฐใช้ความไม่รู้ของพลเมืองในการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเกิดเหตุการณ์การดำเนินคดีและทำละเมิดสิทธิมนุษยชน “พลเมืองผู้บริสุทธิ์” แพะในกระบวนการยุติธรรมจึงเต็มบ้านเต็มเมือง นับแต่คดีในตำนาน เชอรี่แอน ดันแคน ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิตจำเลยทั้งหมด ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2538 แต่กว่าจะถึงวันนั้น จำเลยแพะบางราย ตรอมใจตายในคุก บางรายพ้นโทษออกมาไม่นานก็เสียชีวิต บางรายถูกทำร้ายจนพิการแถมลูกเมียก็เสียชีวิตขณะที่ตัวเองถูกจองจำ มีจำเลยเพียงคนเดียวที่อยู่รอดปลอดภัยแต่ก็เสียโอกาสในอนาคตจากคดีเกือบตลอดชีวิต กว่าจะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่จนสามารถจับฆาตกรตัวจริงได้ทุกอย่างก็สายเกินไป สิ่งที่รัฐทำได้คือการนำเงินจากภาษีของประชาชนไปเยียวยาจากความผิดพลาดของตน กรณีของ “ครูแพะ” เป็นบทเรียนสำคัญของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม ที่มองเพียงเรื่องเยียวยาจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างความยุติธรรมด้วยการชดเชย แทนที่จะรื้อถอนโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มันเป็นอุปสรรคต่อการการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมือง ด้วยหลักคิดเพียงการเยียวยานี้เองรัฐจึงมอง“สิทธิเสรีภาพของพลเมืองมีราคาค่างวดเป็นตัวเงินไม่ต่างกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าภายใต้ยุคทุนนิยม” โดยหลงลืมสิทธิอันชอบธรรมที่ติดตัวมาของพลเมือง เมื่อพูดถึงการคืนสิทธิอันชอบธรรมของพลเมืองขอเล่าเรื่องเป็นอุทาหรณ์ เรื่องมีอยู่ว่า ในยุคกลางของยุโรปขณะที่ศาสนจักรรุ่งเรือง มีการตั้งศาลศาสนาขึ้นเพื่อชำระความลงโทษพวกนอกรีต คนนับหมื่นต้องเสียชีวิตลงและอีกนับล้านถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกจับกุม ถูกสอบสวน หรือถูกทรมาน จากกระบวนการยุติธรรมโดยศาลศาสนา แต่คดีที่เป็นประวัติศาสตร์ของโลกคือกรณีคดีของ Jeanne d'Arc หรือ Joan of Arc โจนน์ ออฟ อาร์ค หญิงสาวที่นำทัพฝรั่งเศสต่อสู้กับอังกฤษในสงครามร้อยปี(Hundred Years War) กระทั่งภายหลังชนะอังกฤษและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างฝรั่งเศสให้เป็นปึกแผ่น แต่โชคร้ายที่ ดาร์ค ถูกจับกุมระหว่างสงครามที่แคว้นเบอร์กันดีพันธมิตรผู้ใกล้ชิดของอังกฤษ เธอถูกส่งตัวให้กับกองทัพอังกฤษ ”คำว่าคนนอกรีดหรือแม่มดจึงถูกยัดเยียดให้เธอ” ศาลศาสนาโดยปีแยร์ โคชง ทำหน้าที่พิจารณาคดีข้อหานอกรีตหรือที่เรียกว่า “การพิจารณาคดีประณาม” สุดท้ายคำว่า “คนนอกรีต” ส่งผลให้ศาลประหารชีวิตเธอด้วยการเผาทั้งเป็น แต่หลังสงครามร้อยปีสิ้นสุดลง มีการร้องขอให้ศาลศาสนาไต่ส่วนคดีใหม่การพิจารณาคดีครั้งที่สองนี้เป็นการพิจารณาคดีเพื่อสอบสวนการพิจารณาคดีครั้งแรก หรือที่เรียกว่า “การพิจารณาคดีประณามเป็นโมฆะ” สุดท้ายศาลพบว่าการกระทำของ ปีแยร์ โคชง ที่ดำเนินคดีและลงโทษ ดาร์ค นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ บิดเบือนความจริง ศาลจึงพิพากษาให้ ปีแยร์ โคชง เป็นคนนอกรีตเสียเอง ส่วน ดาร์ค เป็นผู้บริสุทธิ์ คดีเดิมตก “เป็นโมฆะ”ไป อย่างไรก็ตามการเป็นโมฆะแม้ไม่อาจคืนสิทธิในฐานะพลเมืองหรือคืนสถานะทางสังคมให้ ดาร์ค ได้ดังเดิม แต่อย่างน้อยพลเมืองฝรั่งเศสได้รับรู้ว่าเธอคือผู้บริสุทธิ์ กระทั่งผ่านมากว่า 500 ปี ในปี 1920 ทางวาติกันโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 15 ได้สถาปนาให้ ดาร์ค เป็นนักบุญ นาม St.Joan of Arc ตราบจนปัจจุบันนี้ เราจึงเห็นประติมากรรมรูปของเธอในหลายอิริยาบถให้คนได้ระลึกถึงในหลายเมืองของฝรั่งเศส คดีนี้ ฌอง ดาร์ค หรือ St. Joan of Arc จึงเป็นผลพวงของกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากความยุติธรรม สภาพปัญหาของคดีนอกรีตกับคดีแพะ หากครูเป็นแพะจริงๆ สิ่งที่เหมือนกันคือรัฐต้องคืนสิทธิให้พลเมือง นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปเพื่อให้พลเมืองเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมอย่างแท้จริงคือการปรับรื้อโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นต้นว่า กติกา ICCPR ข้อ 14 ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะ ได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง หรือโดยผ่านผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเลือก สิทธิที่บุคคลได้รับแจ้งให้ทราบถึงสิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย หากบุคคลนั้นไม่มีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ในกรณีใด ๆ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมบุคคลนั้นมีสิทธิที่จะมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งมีการแต่งตั้งให้โดยปราศจากค่าตอบแทน เป็นต้น กรณีนี้แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยได้มีการตรากฎหมายให้ศาลจัดหาทนายความให้จำเลยหากเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีทนายความในคดีอาญาแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ จำเลยที่ศาลจัดหาทนายความให้นั้นล้วนเป็นคนยากคนจน ประกอบกับทนายความที่รัฐจัดหาให้เป็นทนายความที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านคดีมากเพียงพอ ทั้งนี้เพราะล้วนเป็นทนายความที่ไปขึ้นทะเบียนไว้กับศาลที่เรียกกันว่า “ทนายขอแรง” ทำคดีเสร็จศาลก็จะมีคำสั่งจ่ายค่าตอบแทนให้ 3,000 บาทบ้าง 5,000 บ้าง 8,000 บ้างมากน้อยตามแต่คดีไป ซึ่งส่วนใหญ่จะน้อยมากจึงกล่าวขานกันว่า “เป็นความยุติธรรมราคาถูก” ทนายขอแรงจึงเป็นส่วนหนึ่งของสภาพปัญหาในโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่าทนายขอแรง ศาลได้ประกาศให้ทนายความที่ต้องการทำคดีขอแรงไปขึ้นทะเบียนต่อศาลเพื่อจัดลำดับก่อนหลังในการทำคดี แต่ไม่มีหน่วยงานใดๆในกระบวนการยุติธรรมที่จะคอยกลั่นกรองว่าทนายความขอแรงนั้นๆ จะมีศักยภาพความรู้ความสามารถมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญทนายความที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพอย่างเต็มที่แล้วกระทั่งสังคมยอมรับจะไม่ไปลงชื่อเป็นทนายขอแรงเป็นแน่แท้ ดังนั้นทนายขอแรงจึงมักจะเป็นทนายความรุ่นใหม่ๆที่ยังขาดประสบการณ์ในวิชาชีพและอาจส่งผลกระทบต่อพลเมืองที่ตกเป็นจำเลยตามมา พลเมืองจึงขาดหลักประกันในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามกติการะหว่างประเทศฯ ด้วยเหตุนี้ทำให้ทนายขอแรงเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งที่กลไกของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมได้จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เท่านั้น แต่ไม่อาจเป็นหลักประกันที่มีประสิทธิภาพทำให้พลเมืองเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง สำหรับคดีครูแพะไม่ได้ใช้บริการของทนายขอแรงที่ศาลจัดหาให้ ทำให้ความรับผิดชอบระหว่างทนายกับครูแพะเป็นความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดองค์หนึ่ง ความผิดพลาดใดๆที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่ต้องไปรับผิดชอบกันเอง หากทนายความผิดพลาดบกพร่องและไร้ประสิทธิภาพ ด้วยประการใดกลไกของมารยาททนายความคอยกำกับลงโทษทนายความอยู่แล้ว แต่ในส่วนของกลไกของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดีจนถึงสิ้นสุดคดี หากข้อบกพร่อง และความไร้ประสิทธิภาพ เกิดขึ้นในกระบวนการของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมรัฐต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดเสมอ ส่วนปัจเจกใดทำผิดก็รับโทษไล่เบี้ยกันไป บทเรียนคดี “ครูแพะ” เป็นทั้งบทเรียนของความยุติธรรมและบทเรียนของสังคม ที่ทั้งรัฐและสังคมต้องหันหน้าร่วมมือกัน รื้อถอนปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนยุติธรรมของพลเมืองให้หมดสิ้น โดยเฉพาะคดีที่มีโทษทางอาญา ที่สำคัญหากว่ารัฐได้ปรับเปลี่ยนระบบทนายขอแรงในศาลเสียใหม่โดยมอบหมายให้สภาทนายความฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักกฎหมายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีความหลายแขนงช่วยเป็นกลไกในการจัดทำทะเบียนรายชื่อทนายขอแรงส่งไปยังศาล เพื่อช่วยกลั่นกลองทนายความที่มีศักยภาพเหมาะกับคดีเพื่ออำนวยความยุติธรรมต่อพลเมืองที่ตกเป็นจำเลยน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไข ข้อบกพร่อง และความไร้ประสิทธิภาพ และเป็นการประกันการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อีกช่องทางหนึ่ง อย่างน้อยมีองค์กรรองรับความผิดพลาดบกพร่องที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ของทนายความ...