วันนี้ (17 มกราคม 2560) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ​ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเครื่องสำอาง พ.ศ. ....            คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการปรับปรุงค่าธรรมเนียมสำหรับคำขอจดแจ้ง ใบรับจดแจ้งการผลิตเพื่อขาย ใบรับจดแจ้งการนำเข้าเพื่อขาย ใบรับจดแจ้งการรับจ้างผลิต ใบแทนใบรับจดแจ้ง คำขอแก้ไขรายการในใบรับจดแจ้งหนังสือรับรองต่าง ๆ การขอความเห็นการใช้ฉลาก การขอความเห็นการโฆษณา การต่ออายุใบรับจดแจ้งประเภทนั้น ๆ และคำขออื่น ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 2. เรื่อง  ขอแก้ไขกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดแบบเอกสารตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและวิธีการขอหลักฐานการแจ้งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับเข้ามาอีก และการขอกลับเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามเดิม พ.ศ. 2559                      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ดังนี้ 1. เลื่อนการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดแบบเอกสารตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และ วิธีการขอหลักฐานการแจ้งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับเข้ามาอีกและการขอกลับเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามเดิม พ.ศ. 2559 ในข้อ 7 จากเดิม ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 30 มกราคม 2560 เป็น มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2560 2. ระหว่างวันที่ 30 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ให้ใช้แบบ ตม.6 ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2547)  ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ไปพลางก่อน  ในระหว่างที่แบบ ตม.6 ยังไม่มีผลบังคับใช้ 3. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงมหาดไทย  และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการออกกฎกระทรวงตามหลักการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 3. เรื่อง  ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคใต้)                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคใต้) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ                      สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคใต้) 1. มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์                               กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุดที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท 2. มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์                               กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก  หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินสามหมื่นบาท 3. การยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว  สามารถดำเนินการได้โดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ 4. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....            คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมและธนาคารแห่งประเทศไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป            ทั้งนี้ ในส่วนเรื่องกองทุนพัฒนาสหกรณ์และกองทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 แล้วแจ้งผลการพิจารณาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป            สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ                    1. กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากภาคเอกชนเข้าเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ และมีการออกระเบียบเพื่อให้มีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ                    2. กำหนดให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจออกระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ มีอำนาจในการดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย และสั่งการให้สหกรณ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดภายในสหกรณ์                    3. กำหนดเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ของผู้มีส่วนได้เสียจากการออกคำสั่งทางปกครองตามกฎหมาย                    4. กำหนดให้กองทุนพัฒนาสหกรณ์สามารถให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนดำเนินธุรกิจกับกลุ่มเกษตรกร                    5. กำหนดให้นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนดประเภทของสหกรณ์ที่สามารถรับบุคคลธรรมดาเข้าเป็นสมาชิกสมทบได้ เพื่อให้สามารถรับเด็กและเยาวชนเข้าเป็นสมาชิกสมทบได้                    6. กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันได้                    7. กำหนดความรับผิดชอบของกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์เมื่อกระทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย                    8. กำหนดคุณสมบัติของกรรมการสหกรณ์ที่เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารสหกรณ์ให้เหมาะสมกับประเภทสหกรณ์ ธุรกิจ และขนาดของสหกรณ์                    9. กำหนดให้สหกรณ์มีผู้ตรวจสอบกิจการเพื่อดำเนินการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์แล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่                    10. กำหนดให้มีกองทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บรรดาสหกรณ์ที่ขาดสภาพคล่อง ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ ประกอบด้วยรองปลัด กษ. ซึ่งปลัด กษ. มอบหมายเป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและเลขานุการ                    11. กำหนดการบัญชี จัดระบบบัญชี รวมถึงการกำหนดชื่อทางบัญชีใหม่ให้สอดคล้องกับระบบบัญชีสากล                    12. กำหนดให้มีการควบรวมสหกรณ์เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยคำนึงถึงขนาดของสหกรณ์ ความเสี่ยงของสหกรณ์ เงินทุนหมุนเวียนและหนี้สิ้น และการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์                    13. ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในเชิงป้องปรามและกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ด้วย   5.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป                    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ                    แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551                    1. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการใน กห. ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา                    2. กำหนดให้บทบัญญัติในกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดที่อ้างถึงส่วนราชการหรือตำแหน่งของข้าราชการกระทรวงกลาโหมเดิม ให้ถือว่าอ้างถึงส่วนราชการหรือตำแหน่งของข้าราชการกระทรวงกลาโหลที่ได้เปลี่ยนชื่อนั้น                    3. เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 6. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาเกษตรกรแห่งชาติไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป                    สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ                    1. ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... มีดังนี้                              1.1 กำหนดวัตถุประสงค์และหลักการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ                              1.2 กำหนดให้มี คทช. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ คทช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีกฎหมายหรือให้แก้ไขเพิ่มเติม ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน                              1.3 กำหนดให้การดำเนินการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศษรฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามที่ คทช. กำหนด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา                              1.4 กำหนดให้ คทช. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาศึกษา เสนอแนะหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่ คทช. มอบหมาย                              1.5 กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการ คทช. มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ คทช. คณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งวิเคราะห์นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้งแนวโน้มและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสนอต่อ คทช. เพื่อพิจารณา                              1.6 กำหนดบทเฉพาะกาลให้ คทช. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้ง เลขาธิการ คทช. และจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ คทช. ในสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน ตามพระราชบัญญัตินี้                    2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนี้                              2.1 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของ คจช. โดยให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมป่าไม้ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมการ อธิบดีกรมที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่น อีกไม่เกินเจ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง                              2.2 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ คจช. ให้มีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกับอำนาจของ คทช.  เศรษฐกิจ- สังคม 7. เรื่อง (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 -2564            คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้                    1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม                    2. เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นกลไกผลักดันการขับเคลื่อนและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง            สาระสำคัญของเรื่อง                    วธ. รายงานว่า วธ. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 - 2564 ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรผ่านการอ่าน แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังผ่านมิติทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิธีที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากครอบครัวชุมชนและสังคม โดยการหลอมรวมเข้ากับแนวทางวิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยม ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคนและสังคมไทยมาช้านาน โดยมี 4 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้                    ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยมีทัศนคติที่ดีและตระหนักถึงประโยชน์ของการอ่านและมีนิสัยรักการอ่านและแสวงหาความรู้มากขึ้น                    ยุทธศาสตร์ที่ 2 อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านทั้งในรูปแบบที่มีความหลากหลายสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย สะดวก ทั่วถึงและไม่จำกัดเวลาและสถานที่                    ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความทันสมัยและสามารถให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง                    ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน เพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชน/สังคมให้เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วม มีกลไกขับเคลื่อนและมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง                    องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และเลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม                    อำนาจหน้าที่                              1) กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย                              2) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน/โครงการบูรณาการที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับ การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน                              3) กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชนหรือประชาสังคมในการขับเคลื่อนการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของประเทศไทย                              4) กำกับ ติดตาม ประสานงาน สนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ                              5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ/คณะทำงานเพื่อดำเนินการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย                              6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย 8. เรื่อง แนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ            คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (ประธาน กพยช.) เสนอ ดังนี้            1. แนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ            2. แผนปฏิบัติการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ            3. แบบตรวจสอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ            4. มอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้                     4.1 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่กฎหมายที่ได้ประกาศในราชกิจนุเบกษาแล้ว                     4.2 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ฐานข้อมูลของกฎหมายทั้งหมด                    4.3 ให้โฆษกกระทรวงมีหน้าที่เผยแพร่กฎหมายที่กระทรวงรับผิดชอบเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ                     4.4 ให้สำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นศูนย์ข้อมูลการเผยแพร่กฎหมาย โดยมีหน้าที่ดำเนินการเผยแพร่กฎหมาย กำกับดูแล และประสานงานกับหน่วยงาน สถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน และ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่กฎหมาย           สาระสำคัญของเรื่อง            1. แนวทางการเผยแพร่กฎหมาย เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย หน่วยงานที่มีบทบาทในการเผยแพร่กฎหมาย กรอบของกฎหมายที่จะต้องมีการเผยแพร่ กลุ่มเป้าหมาย สื่อหรือช่องทางที่ใช้ในการสื่อสาร การติดตามและประเมินผลการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ และการบูรณาการเพื่อการเผยแพร่กฎหมาย            2. แผนปฏิบัติการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งเป็น 3 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการที่ 1 การเผยแพร่กฎหมายใหม่และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ แผนปฏิบัติการที่ 2 การเผยแพร่กฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้ และแผนปฏิบัติการที่ 3 การเผยแพร่กฎหมายที่สื่อมวลชนควรรู้ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวให้หน่วยงานที่มีบทบาทในการเผยแพร่กฎหมาย (หน่วยงานผู้เสนอกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานที่ผู้มีบทบาทร่วมในการเผยแพร่กฎหมาย หน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนการใช้กฎหมาย และสื่อสารมวลชน) เป็นผู้เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนต่อไป            3. แบบตรวจสอบการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสนอให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายต้องจัดทำแบบตรวจสอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสนอให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายจะต้องเสนอแบบตรวจสอบดังกล่าวในขั้นตอนของการเสนอหรือปรับปรุงร่างกฎหมายก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายให้ สลค. ส่งให้สำนักงานกิจการยุติธรรมพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐต่อไป 9. เรื่อง ขอความเห็นชอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560-2573                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 - 2573   ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ  และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ต่อไป   ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด  และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560 -2573 แล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป                     สาระสำคัญของยุทธศาสตร์แห่งชาติฯ มีเป้าประสงค์  เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 ราย  รวมทั้ง ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละ ไม่เกิน 4,000 ราย ตลอดจนลดการรังเกียจ และการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลงร้อยละ 90  โดยมี 6 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่  ยุทธศาสตร์ที่ 1 มุ่งเน้นและเร่งรัดจัดชุดบริการที่มีประสิทธิผลสูงและรอบด้าน ให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและมีโอกาสรับและถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีสูง  ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับคุณภาพและบูรณาการการดำเนินงานป้องกันที่มีประสิทธิผลเดิม ให้เข้มข้นและยั่งยืนในระบบ ยุทธศาสตร์ที่ 3  พัฒนาและเร่งรัดการรักษา ดูแล และช่วยเหลือทางสังคม ให้มีคุณภาพ รอบด้าน และยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับภาพลักษณ์ ความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน รวมทั้งกลไกการคุ้มครองสิทธิ  เพื่อลดการรังเกียจ กีดกัน  การเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ  ยุทธศาสตร์ที่ 5 เพิ่มความร่วมรับผิดชอบ การลงทุน และประสิทธิภาพการจัดการในทุกภาคส่วนทั้งระดับนานาชาติ  ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่   ยุทธศาสตร์ที่ 6   ส่งเสริมและพัฒนาการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และการวิจัยที่รอบด้าน และมีประสิทธิภาพ 10. เรื่อง การเสนอความเห็นการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอขอจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... ของกระทรวงอุตสาหกรรม                      ทั้งนี้  เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน  เพื่อให้กระบวนการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่ได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง  โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ได้แก่ กลุ่มอาหารเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ  กลุ่มสาธารณสุข  สุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์  กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ  หุ่นยนต์และระบบเครื่งอกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม  กลุ่มดิจิทัล  เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต  ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์  ทุนวัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง   11. เรื่อง   การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2560  ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ   จำนวน 47 รายการ จำแนกเป็น 42 สินค้า และ 5 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ                     สาระสำคัญของเรื่อง                     คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประธานกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2560 ได้มีการทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมปี 2560 โดยพิจารณาจากสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ สินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญ สินค้าที่มีผู้ผลิตหรือผู้ขายน้อยรายและการแข่งขันน้อย สินค้าที่มีความผันผวนด้านราคาหรืออาจมีการขาดแคลน และสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากตลาดโลก และได้มีมติให้เพิ่มสินค้าและบริการควบคุม จากเดิม 45 รายการ เป็น 47 รายการ จำแนกเป็นสินค้าคงเดิม 42 รายการ และเพิ่มบริการจากเดิม 3 รายการ เป็น 5 รายการ โดยบริการที่เพิ่มขึ้น 2 รายการ ได้แก่ บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ และบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ เนื่องจากประชาชนใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยแบ่งเป็น 10 หมวด ดังนี้                     1. หมวดอาหาร จำนวน 18 รายการ คือ (1) กระเทียม (2) ข้าวเปลือก ข้าวสาร (3) ข้าวโพด (4) มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์  (5)  ไข่ไก่  (6) สุกร เนื้อสุกร (7) น้ำตาลทราย (8) น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ (9) ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน (10) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว (11) แป้งสาลี (12) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (13) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก (14) ผลปาล์มน้ำมัน (15) ข้าวสาลี (16) ลำไย (17) ทุเรียน (18) มังคุด                     2. หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน จำนวน 3 รายการ คือ (19) ผงซักฟอก (20) ผ้าอนามัย (21) กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า                     3. หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 6 รายการ คือ (22) ปุ๋ย (23) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช (24) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ (25) เครื่องสูบน้ำ (26) รถไถนา (27) รถเกี่ยวข้าว                     4. หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 4 รายการ คือ (28) ปูนซีเมนต์ (29) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น (30) สายไฟฟ้า (31) ท่อพีวีซี                     5. หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 รายการ คือ (32) กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว (33) กระดาษพิมพ์และเขียน (34) เยื่อกระดาษ                     6. หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 3 รายการ คือ (35) แบตเตอรี่รถยนต์ (36) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ (37) รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก                     7. หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 3 รายการ คือ (38) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว  (39) น้ำมันเชื้อเพลิง (40) เม็ดพลาสติก                     8. หมวดยารักษาโรค จำนวน 1 รายการ คือ  (41) ยารักษาโรค                     9. หมวดอื่นๆ จำนวน 1 รายการ คือ (42) เครื่องแบบนักเรียน                     10. หมวดบริการ จำนวน 5 รายการ คือ (43) การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า (44) บริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า (45) บริการทางการเกษตร (46) บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ และ (47) บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ 12. เรื่อง แผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของกรมการขนส่งทางบก            คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้                     1. แผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คค. โดย ขบ. ได้จัดทำแผนแม่บทฯ (พ.ศ. 2560 – 2564) เพื่อรองรับการถ่ายโอนการกำกับดูแลรถโดยสารประจำทางจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็น ขบ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 กันยายน 2559) ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 (เรื่อง นโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร) ที่กำหนดให้ ขสมก. เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเส้นทางที่เชื่อมติดต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการเพียงรายเดียว โดยแผนแม่บทฯ มีวิสัยทัศน์คือ “ระบบรถโดยสารประจำทางต้องเป็นโครงข่ายหลักของการเดินทางในเขตเมืองที่มีคุณภาพและเป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทั้งด้านความครอบคลุม ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยของประชาชน” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเส้นทางการเดินรถ 2) การจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลการบริหารจัดการการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3) การเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 4) การพัฒนาการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ และ 5) การจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนแนวทางแผนแม่บทพัฒนาระบบโดยสาร ประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2. แผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารปรำจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจในการประชุมครั้งที่ 14/2559 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ได้มีมติมอบหมายให้ ขบ. ดำเนินการศึกษาแผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 และรายงานผลการศึกษาดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ซึ่ง ขบ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถและบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทฯ (ตามข้อ 1) แล้ว                    ทั้งนี้ การปฏิรูปเส้นทางฯ ตามแผนแม่บทฯ จะทำให้แต่ละเขตการเดินรถมีจำนวนเส้นทางที่เพิ่มขึ้นและมีความครอบคลุมมากขึ้น โดยในภาพรวมเส้นทางจะเพิ่มขึ้นจาก 202 เป็น 269 เส้นทาง และมีระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 6,437 กิโลเมตร เป็น 7,833 กิโลเมตร ระยะทางเฉลี่ยต่อเส้นทางปรับลดลง 3 กิโลเมตร 13. เรื่อง มาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกและร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้                    1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) โดยมอบหมายให้ กค. เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว แล้วดำเนินการต่อไปได้                    2. เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ                              2.1 มอบหมายให้ กค. เร่งรัดจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามมาตรการทางภาษีเกี่ยวกับการให้ผู้ประกอบการหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างของแรงงานเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป                              2.2 มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์มหาชน) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาจัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างกว้างขวาง รวมถึงกำหนดตราสัญลักษณ์กลางที่ใช้รับประกันคุณภาพ (Hallmarking) สำหรับสินค้าในหมวดเครื่องประดับ                              2.3 มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน พิจารณากำหนดมาตรการเพื่อพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย การจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมและพัฒนาช่างศิลป์ และการพัฒนาทายาทช่างฝีมือ เพื่ออนุรักษ์การผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย                              2.4 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมาตรการทางการเงินในการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการ SMEs ดังกล่าวต่อไป                    3. มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณา กำหนดมาตรการประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว ในย่านการค้าที่สำคัญ รวมถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าที่มีคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยว                    สาระสำคัญของเรื่อง                    กค. รายงานว่า เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก ซึ่งจะช่วยดึงดูดและกระตุ้นให้มีการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มมากขึ้น และผลักดันอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ (Product Champion) ในหมู่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ โดยยังคงสนับสนุนให้มีการจ้างแรงงานฝีมือเพื่ออนุรักษ์การผลิตที่เป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของไทย กค. จึงเห็นควรให้มีมาตรการในเรื่องดังกล่าว ดังนี้                    1. มาตรการสนับสุนนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตอนที่ 71 ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 จำนวน 32 ประเภทย่อย โดยเห็นควรให้มีผลบังคับภายในวันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าสินค้าได้ทันช่วงเทศกาลตรุษจีน                    2. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่                              1) มาตรการทางภาษี โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างของแรงงานที่เป็นช่างเครื่องประดับประเภทที่ผลิตด้วยมือ หรือผลิตด้วยมือร่วมกับการใช้งานเครื่องจักรที่ไม่ซับซ้อนหรือผลิตคนเดียวตลอดกระบวนการผลิต                              2) มาตรการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจัดทำและพัฒนามาตราฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างกว้างขว้าง การกำหนดตราสัญลักษณ์กลางที่ใช้รับประกันคุณภาพ (Hallmarking) และการจัดประกวดออกแบบเครื่องประดับระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก                              3) มาตรการยกระดับฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย การจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมและพัฒนาช่างศิลป์ และการพัฒนาทายาทช่างฝีมือเพื่ออนุรักษ์การผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย                              4) มาตรการทางเงิน โดยการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการ SMEs โดยให้ผู้ประกอบกิจการ SMEs ให้สามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน และธนาคารออมสินเบิกรายจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2560                    3. มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด เป็นการสนับสนุนให้มีการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มมากขึ้น โดยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพการประชาสัมพันธ์แหล่งการท่องเที่ยวในย่านการค้าที่สำคัญ รวมถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าที่มีคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยวบนสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในสายการบิน เป็นต้น 14. เรื่อง แผนยุทธ์ศาสตร์การบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี [สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)] เสนอเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่อไป                    สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ มีเป้าประสงค์ให้พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้และพัฒนาภูมิปัญญาแก่ประชาชน เป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชาติไทย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยว โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 (1-5 ปี) เน้นการบูรณาการ การให้บริการและจัดให้มีระบบหรือกลไกสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน ระยะที่ 2 (6-10 ปี) พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้มีมาตราฐานอย่างทั่วถึง และระยะที่ 3 (11-20 ปี) คนไทยมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ และสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดกิจกรรมเชิงบูรณาการระหว่างพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ และยุทธศาตร์ที่ 4 การบริหารจัดการกระบวนการบูรราการให้มีประสิทธิภาพ แต่งตั้ง 15.  เรื่อง รัฐบาลสาธารณรัฐเปรูเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย (กระทรวงการต่างประเทศ)    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรณีรัฐบาลสาธารณรัฐเปรูเสนอขอแต่งตั้ง  นายเฟอร์นันโด ฆูลิโอ  อันโตนิโอ กีโรส  กัมโปส (Mr. Fernando  Julio  Antonio  Quiros  Campos)  ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนัก ณ  กรุงเทพมหานคร สืบแทน นายเฟลิกซ์   ริการ์โด  อาเมริโก  อันโตนิโอ  เดเนกรี  โบซา (Mr. Félix Ricardo  Américo Antonio  Denegri Boza)  ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ 16. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) แทนตำแหน่งที่ว่าง                    คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบราชการในคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจาก นายพงศ์โพยม วาศภูติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560 เป็นต้นไป   17. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมแทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้                    1. แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560 เป็นต้นไป และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการที่ได้แต่งตั้งไว้แล้ว ดังนี้                              1.1 นายโสภณ เมฆธน แทน นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ที่ลาออก (เป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น)                               1.2 นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ แทน นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา ที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ (เป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น)                               1.3 นายวันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ แทน นางสาวกฤษณา ไกรสินธุ์ ที่ลาออก                    2. ให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมมีจำนวนกรรมการเกินกว่าสิบเอ็ดคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6   18. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายพงษ์ชัย นิรมิตศรีชัย ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายออมสิน ชีวะพฤกษ์)   19. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายฤทธิเดช เหมาะประสิทธิ์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี   20. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง [ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวศิรินารถ ใจมั่น)]                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นางสาวศิรินารถ ใจมั่น เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560 เป็นต้นไป   21. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์)                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมาย ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   22. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายโศภณ นภาธร และนายอดินันท์ ปากบารา)                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้                    1. แต่งตั้ง นายโศภณ นภาธร เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมาย ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ                    2. แต่งตั้ง นายอดินันท์ ปากบารา เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมาย ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี   23. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้                    1. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม                    2. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560 เป็นต้นไป   24. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามลำดับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้                    1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์)                    2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์)                     โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560 เป็นต้นไป   25. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์)   26. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์)                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมาย ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน   27. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์)                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมาย ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ..................................