"บิ๊กตู่"เผยประชุม คสช.ออกมาตรา 44 ตั้งกรรมการ ป.ย.ป.ทำงาน 3 ด้าน เผยประวิตรคาดใช้เวลาหารือทุกภาคส่วน 3 เดือน ขออย่าใจร้อนนิรโทษ หวั่นซ้ำรอยปี 57 วอนสื่อ อธิบายต่างชาติ รบ.ไม่ปิดกั้นสื่อ-การเมือง-นศ. ชี้ สัจวาจา พูดแล้วต้องทำ “หยุดขัดแย้ง ไม่ขวางลต.” สั่ง กก.ปรองดอง รับฟังทีละพรรค เกรงมาพร้อมทะเลาะกัน เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 17 ม.ค.ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยผลการประชุมคสช.ว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมคสช. นัดพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องการพิจารณามาตรา 44 จำนวน 2 เรื่อง เรื่องแรกที่สำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมี 3 ด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ คือคณะทำงานด้านการขับเคลื่อนในส่วนของรองนายกรัฐมนตรีเดิมมาอยู่ในกล่องนี้ ซึ่งก็มีทั้งงานด้านฟังก์ชั่น และงานนโยบาย ส่วนที่สองคืองานด้านการปฏิรูป จะนำแผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่าส่วนไหนรัฐบาลทำแล้ว และอะไรที่อยากให้ทำต่อ จะเอามาพิจารณา และเกลา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เนื่องจากมีการพิจารณาเรื่องกฎหมาย และการทำงานตามรูปแบบด้วย คณะกรรมการปรองดอง ซึ่งทุกคนให้ความสนใจในเรื่องของการปรองดอง อย่างไรก็ตาม การปรองดองอยู่ที่จิตใจของคนที่จะมาปรองดอง และคนที่จะมาพูดคุย ไม่ใช่ว่าคณะกรรมการชุดนี้ หรือตนเองจะมาบังคับได้ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำ เพื่อประเทศไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม ขอย้ำว่ารัฐบาล คสช. และตัวผมเองไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร อย่าเข้าใจผิด หลายคนบอกว่ารัฐบาลต้องเป็นกลาง ซึ่งเราก็เป็นอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นกลางจะทำงานได้หรือ ซึ่งคำว่าเป็นกลางของตนคือทำงานได้กับทุกภาคส่วน ซึ่งตนให้นโยบายกับพล.อ.ประวิตร ว่าจะต้องทำอย่างไร นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นของนักการเมืองที่เสนอเข้ามานั้น จะมีผลกระทบอะไรกับการทำงาน ปยป. หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนิรโทษ รวมถึงเรื่องของกฎหมาย ยังไม่ได้พูดถึงในวันนี้ เราพูดแต่เพียงว่าต้องใช้หลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ต้องให้ทุกพรรคได้พูดออกมา ทั้งเรื่องความขัดแย้ง การปรองดอง และความคิดต่าง ๆ ของแต่ละพรรค ทุกกลุ่มการเมือง เพราะปัจจุบัน มีทั้งพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง และทราบกันดีว่ามีความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ทุกคนต้องชี้แจงได้ว่าจะปฏิรูปประเทศ และปรองดองอย่างไร ต้องหารือด้วยว่าวันข้างหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร ส่วนปัญหาในอดีตที่ผ่านมาค่อยไปหาวิธีแก้ไข ในทางกฎหมายก็ไปว่ากันอีกครั้ง อย่าเพิ่งเอาเรื่องของนิรโทษ หรือเรื่องอะไรมาพูดกันก่อน เพราะถ้านำมาพูดก่อนก็ทะเลาะกันทุกที่ ที่ผ่านมาก็มีปัญหาตั้งแต่ปี 2557 ในเรื่องนิรโทษ และการปรองดอง เอาไว้ทีหลังค่อยว่ากัน "วันนี้เราต้องทำให้ภาคประชาสังคม ประชาชน ทุกคนในประเทศรู้ก่อนว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรค เป็นอย่างไร ต้องการอะไร และจะปฏิรูปประเทศกันหรือไม่ ที่สำคัญจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร แล้วใครที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่ผม หรือรัฐบาลนี้ รวมถึงไม่ใช่เพราะผมเข้ามาจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ผมเข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งก็เห็นอยู่แล้ว ตั้งแต่ตนเองเข้ามาทุกอย่างก็เงียบ หยุดทุกอย่าง ผมถึงเข้ามาแบบนี้ ซึ่งผมก็ต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสรุปผลต่าง ๆ ขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรแล้วไปดำเนินการต่อ และเรื่องแบบนี้ไม่ได้จบภายใน 1-2 วัน"นายกฯ กล่าว นายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าจะต้องใช้เวลาในการหารือพูดคุย ประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อยุติ ว่าใครต้องการอะไร อย่างไร ปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วก็ปฏิรูปลงมา จากนั้นไปว่ากันต่อในขั้นที่ 2 และ 3 อย่าใจร้อน เรื่องนี้ถ้าใจร้อนแล้ว มีเรื่องทุกที พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคำสั่ง มาตรา 44 อีกฉบับ เกี่ยวกับคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจำเป็นต้องมีคณะทำงาน 2 ระดับ โดยระดับบนเป็นครม.กำหนดนโยบาย ระดับล่างเป็นคณะกรรมการพื้นที่ ไม่เช่นนั้นพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จะเกิดไม่ได้ ทั้งนี้ต้องทำให้เกิดมูลค่าในการลงทุนสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งเดิมมีศักยภาพด้านสาธารณูปโภคอยู่แล้ว ดังนั้นต้องขยายให้กว้างขวางขึ้น หากไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ต้องรอพ.ร.บ.อีกหลายเดือนกว่าจะออก แต่คำสั่งมาตรา 44 นั้นก็สอดคล้องกัน และวันนี้หลายประเทศสนใจที่จะมาลงทุน หลายโครงการ ถ้าเราทำเสร็จเขาก็จะตัดสินใจมาภายในปี 2560 นี้ “ฉะนั้นขอให้ช่วยกัน อย่าเอาปรองดองมาเป็นประเด็น พอมาตีว่าปรองดองจะเสร็จสำเร็จไหม เราต้องคาดหวังว่าจะสำเร็จ อยากให้คนไทยทุกคนมองแบบนั้น แต่หากมองเรื่องปรองดอง ปฏิรูปไม่สำเร็จ แล้วจะทำอะไร ทุกคนต้องช่วยกันให้สำเร็จ ผมกำลังทำประเทศ ผมก็ต้องเชื่อมั่นว่าผมจะทำได้ จะได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับทุกคนที่ร่วมมือกับผม ไม่ใช่ผมคนเดียว ที่จะไปสั่งปฏิรูปทั้งหมดไหว ข้าราชการเป็นล้านคน ทุกคนต้องมีแนวคิดเหมือนผม เราจะต้องปฏิรูปและปรองดองเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องสมบูรณ์ และต้องสร้างการรับรู้กับต่างประเทศตั้งแต่วันนี้ ว่านี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ แต่ที่เขาบอกว่ารัฐบาลไม่เปิดเวทีให้ใครพูด จริงๆแล้ว เปิดมาตลอด สื่อก็ว่าผมได้ อดีตพรรคการเมืองก็ว่าผมทุกวัน แล้วผมไปปิดกั้นตรงไหน ช่วยอธิบายสิ สื่อจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรผมก็ได้ ผมก็หงุดหงิดนิดหน่อย แต่ไม่ได้ไปทำอะไรสักอย่าง ส่วนนักศึกษา ที่แสดงความเห็นกรณีอยู่ในสถานที่รโหฐานของเขา หากมีการขออนุญาตมาก็ให้ ไม่ปิดกั้นอะไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างการรับรู้ให้ต่างประเทศเข้าใจ เพราะจะกลายเป็นว่าผมไปละเมิดสิทธิไม่ให้แสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นไปโดยเจตนาบริสุทธิ์ใจ ก็ทำได้ แต่ถ้าโจมตีรัฐบาล ไม่มีประเทศไหนเขายอมหรอก หรือเราจะเอาแบบนั้น ตอนนี้ผมกำลังทำสิ่งที่แตกต่างทำไมไม่ดู ซึ่งท่านก็ต้องให้กำลังใจตนเพื่อขอความร่วมมือกับประชาชนให้ได้ ไม่ใช่ฟังทางนู้นทางนี้ แล้วมาไล่รัฐบาล ต่างชาติเขาจะเข้าใจ และมาลงทุนหรือไม่ เขาก็มาเจรจากับผมทุกประเทศ เพียงแต่รอดูว่ามันจะปรองดองกันได้ไหม นั่นคือประเด็นสำคัญที่ต้องช่วยกัน อย่ามาบอกว่าไม่สำเร็จหรอก แล้วใครที่จะเป็นคนปรองดอง ผมเหรอ” นายกฯ กล่าว นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนเป็นคนอำนวยความสะดวก จัดเวทีการพูดคุยกันให้ได้ แต่ไม่ใช่คุยกัน3-4 แล้วจบ แล้วไปสู่การใช้กฎหมายเลอะเทอะไปหมด แบบนั้นไม่ได้ ประเทศชาติต้องตัดสินใจด้วย โดยประชาชน ประชาสังคม ต้องร่วมตัดสินใจ ฉะนั้นการลงสัจวาจา จริงๆแล้ว ตนแปลให้เป็นแบบไทยๆ หากเป็นเอ็มโอยู ส่วนใหญ่เป็นการลงนามความร่วมมือทางด้านธุรกิจเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แต่อันนี้เป็นเรื่องภายในประเทศ ใช้เรียกให้เบาลง ที่เขาเรียกว่าสัญญาประชาคม ที่เป็นสัจวาจา คือพูดแล้วต้องทำ เช่น จะไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง ว่าไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายหนึ่งต่อต้าน พอต่อต้านพรรคการเมืองจบ ก็มีกลุ่มการเมืองเข้ามาอีก วันนี้ตนคิดให้หมด แล้วมาถามกัน นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการปรองดองไม่ใช่เฉพาะแค่นักการเมือง แต่มีเรื่องที่ดิน เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ตนสั่งการไปแล้วทำทั้งหมด ซึ่งมีประมาณ 10 หัวข้อที่จะฝ่ายการเมืองพูด โดยจะให้ประชาชนรับทราบด้วย ในสิ่งที่ทุกพรรคพูด จะให้มาทีละพรรค เพราะถ้าให้มาพร้อมกันคงไม่ได้พูด ก็ทะเลาะกันอีก จึงต้องให้มาทีละพรรค ทางคณะกรรมการจะสรุปอีกทีว่าจะทำอะไรอย่างไร เรื่องกฎหมายนั้นเอาไว้ทีหลัง