“เอกชัย” แจงสร้างความปรองดอง ต้องให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม ติง ทหาร ใช้อำนาจอย่างเดียวสร้างปรองดองไม่ได้ ต้องใช้ปัญญา เมื่อเวลา 11.00 น. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่าในส่วนของการสร้างความปรองดองนั้น ตนมองว่าควรนำผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีหลายคณะทำงานได้ศึกษา มาตั้งแต่ ปี 2552 อาทิ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน, รายงานของสถาบันพระปกเกล้า, รายงานปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานศึกษา มาพิจารณา พล.อ.เอกชัยกล่าวต่อว่าการสร้างความปรองดองให้เป็นรูปธรรมนั้นจะต้องมีการทำแผนให้ชัดเจน อาทิกรณี คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)ก็จะต้องทำแผนขับเคลื่อนให้ชัดเจน ว่าต่อจากนี้จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เช่นการเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆเขามีส่วนร่วม จะต้องเปิดพื้นที่อย่างไร แล้วใครจะเป็นคนเปิดและกระบวนการยุติธรรม ตนเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรม ถ้าเป็นไปแบบนี้ อีก 10 ปี ปัญหาก็ยังไม่จบ เท่าที่ตนทราบขณะนี้เรื่องกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความปรองดองนั้นจะมีการพุดถึงเรื่องการชะลอการงโทษ การให้อภัย ตนคิดว่าเรื่องเหล่านี้ในอนาคตจะต้องมีการนำมาหารือกันอีก พล.อ.เอกชัยกล่าวว่าเรื่องการนิรโทษกรรม สำหรับผู้มีโทษสถานเบา แทนที่จะถูกตัดสินลงโทษเลย ก็จะต้องมีกระบวนการยอมรับผิดก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการชะลอการลงโทษ เมื่ออยู่ในระยะเวลาชะลอการลงโทษ อาทิ ในระยะ 5 ปี ถ้าเขาไม่มีปัญหาอะไรก็ถือว่าหมดโทษไป เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการหารือกันต่อไป พล.อ.เอกชัยกล่าวต่อว่าตนศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดองมาตั้งแต่ปี 2552 และพบว่าเหตุสำคัญที่การสร้างความปรองดองเกิดไม่ได้นั้นก็เพราะว่า1.คนที่ทำเรื่องการสร้างความปรองดองไม่มีความอดทนรับฟังกลุ่มคนที่มีความเห็นต่าง พอได้ยินคนเห็นต่าง ก็มองว่าเขาเป็นคนจากฝ่ายตรงข้าม 2. ไม่มีการเปิดใจมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ให้สำเร็จอย่างแท้จริง เมื่อทำเรื่องนี้ในช่วงเวลาหนึ่งก็เก็บเอาไว้ ไม่มีการนำมาสานต่อ 3 ต้องอย่าอคติ อย่าไปเน้นที่ชื่อคน ต้องมองอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่ไปมองแต่ข้างหลัง ตนเชื่อว่าถ้าทำทั้ง 3 ประการนี้ได้ ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จของการสร้างความปรองดอง พล.อ.เอกชัยกล่าวว่าในวันนี้เรื่องการสร้างความปรองดองนั้นมาถึงมือของ สปท.และมาถึงมือของ ป.ย.ป.แล้ว ควรจะดูว่าที่ผ่านมามีการเสนอเรื่องการสร้างความปรองดองเอาไว้ จะทำอย่างไร เรื่องการสร้างความปรองดองเหล่านั้นจะถูกทำให้สำเร็จได้ จะต้องสร้างบรรยากาศการพูดคุยกันอย่างไร ที่ผ่านมาทางทหารก็มีการสร้างศูนย์ปรองดองไว้ 4 พันกว่าเวที ถามว่าไม่ได้ผลเลยหรือไม่ ในวันนี้ถึงต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ การสร้างความปรองดองนั้นต้องให้ทุกฝ่ายทำร่วมกัน จะต้องมีความชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเขาได้มีการประชุมพรรคกันหรือยัง เพื่อให้เขาได้มีข้อเสนอด้านการสร้างความปรองดองมายัง สปท. มายัง ป.ย.ป. ถ้าปลดล๊อคตรงนี้ ก็จะเข้าสู่โหมดการสร้างความปรองดองได้ ส่วนผู้ที่ถูกลงโทษ ณ ขณะนี้ ก็ต้องมีความชัดเจนว่า จะทำอะไรกับเขา ในระยะเวลา 1 ปี 2 ปี หลังจากนี้ พล.อ.เอกชัยกล่าวต่อว่าการสร้างความปรองดองจะต้องมีความสอดคล้องกับเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องใช้เวลาการสร้างความปรองดองนานถึง 20 ปี ก็เพราะว่าการเยียวยาจิตใจไม่ใช่แค่ใช้เงินเยียวยา ต้องมีการผสมผสานกันไป ทั้งการใช้เงินเยียวยาตามมาตรฐานของต่างประเทศที่กำหนดไว้ อาทิ ถ้าแขนพิการ หรือเสียชีวิต จะต้องเยียวยากันเท่าไร ซึ่งกรณีเสียชีวิตของต่างประเทศเขาจะใช้อัตรารายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปี ของประเทศนั้นๆคูณ 30 เท่าเพื่อเป็นเงินชดเชย ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็จะผกผันกับรายได้ของประชากรโดยเฉลี่ยที่เปลี่ยนไปตามระยะเวลา สำหรับการเยียวยาที่ไม่ใช่ตัวเงินนั้นจะต้องให้กรมสุขภาพจิตเข้ามาดำเนินการ ดูแลคนรอบข้างหรือครอบครัวที่ต้องเห็นการสูญเสียคนที่เป็นที่รัก ซึ่งตนเชื่อว่าว่าเรื่องเหล่านี้ควรต้องกำหนดให้เป็นกฎหมายต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานใช้กับทุกกรณีที่เกี่ยวข้อง พล.อ.เอกชัยกล่าวต่อว่าต้องขอถามว่าในรัฐบาลนี้นั้นมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการสร้างความปรองดองตามวิธีที่ตนได้เสนอไว้หรือไม่ ตนเชื่อว่ารัฐบาลในชุดนี้มีศักยภาพทำให้เกิดความปรองดองได้ เพราะไม่มีรัฐบาลไหนมีอำนาจสูงสุดควบคุมได้ทุกองคาพยพรวมถึงสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้วดังเช่นที่รัฐบาลนี้สามารถทำได้ ดังนั้นถ้าหากไม่สร้างความปรองดองในรัฐบาลนี้แล้วจะทำในรัฐบาลไหน พล.อ.เอกชัยกล่าวต่อว่าที่ผ่านมาใน สปช.ก็เสนอเรื่องการสร้างความปรองดองเอาไว้ครอบคลุมใน 6 ภารกิจ หลัก และมองไกลไปการป้องกันความขัดแย้งโดยกำหนัดเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งลงไปในร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งก็ต้องไปดูว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามตินั้นยังมีเรื่องนี้อยู่หรือไม่ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้วไม่สามารถจะแก้ไขได้ แต่เรื่องการสร้างความปรองดองนั้นก็สามารถจะนำไปใส่ในกฎหมายอื่นๆได้ ซึ่งที่ผ่านมาก้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว อาทิ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นต้น เมื่อถามถึงกรณีที่การตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ พล.อ.เอกชัยกล่าวว่าทางทหารนั้นอาจจะคิดไม่เหมือนกับตนที่เป็นทหารนอกราชการไปแล้ว ซึ่งตนเห้นว่าการสร้างความปรองดองนั้นต้องหลากหลายใช้ทหารอย่างเดียวไม่ได้ การสร้างความปรองดองจะต้องใช้ปัญญาและความรู้ ไม่สามารถใช้กำลังได้ เมื่อยิ่งใช้กำลังและอำนาจก็จะยิ่งไม่ปรองดอง