สมาคมประกันวินาศภัยไทยเรียกประชุมชี้แจง30 กว่าบริษัทประกันฯยกแรกที่แจ้งความจำนงสนใจเข้ารับประกันค่ารักษาพยาบาลขรก.7หมื่นล้าน ตั้งแท่นรับมือหากรัฐบาลไฟเขียว นายกฯเตรียมทำหนังสือเวียนพฤหัสฯ19มกราฯถามทุกบริษัทสมาชิกว่าใครร่วมบ้าง แหล่งข่าวจากบริษัทประกันวินาศภัยรายหนึ่ง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้( 18 มกราคม 2560) นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้เชิญบรรดา 30 บริษัทประกันฯที่มีความสนใจในการเข้ามารับประกันหรือบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราช การในวงเงินที่รัฐบาลตั้งไว้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้สมาคมฯได้โทรสอบถามถึงความสนใจไปแต่ละบริษัท ซึ่งก็มีจำนวนทั้งสิ้น 30 บริษัทแจ้งว่า มีความสนใจ ดังนั้นจึงได้เชิญทั้ง 30 กว่าบริษัทประกันฯเข้ามารับฟังและชี้แจงรายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ต่อไป โดยก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯได้มีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมา 3 ชุดเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ได้แก่ ชุดแรกคือคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การประกันภัยข้าราชการซึ่งได้มีนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมฯเป็นประธานชุดนี้ ชุดที่สองคือคณะพิจารณาอัตราเบี้ยประกันและการรับประกันที่ได้มอบหมายให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านจัดทำเรื่องสถิติและเบี้ยฯมาเป็นประธานฯชุดนี้ และชุดที่สามคือคณะกรรมการจัดการสินไหมซึ่งให้นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเข้ามาเป็นประธานชุดนี้ ซึ่งคณะทำงานทั้ง3คณะได้ทำงานมาได้ร่วม 1 เดือนแล้ว ก็มีได้การหารือจนได้ข้อสรุและแนวทางในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าหากภาครัฐมีแนวทางจะให้บริษัทประกันฯเข้ามารับประกัน ก็พร้อมจะเข้าไปนำเสนอได้ทันที เพียงแต่ขณะนี้จะต้องให้ภาครัฐยืนยันมาเสียก่อน ทางภาคธุรกิจก็จะได้นำข้อสรุปและแนวทางไปนำเสนอ ซึ่งโครงการนี้หากจะเริ่มก็คงจะเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 หรือปีงบประมาณ 61 เป็นต้นไป สำหรับหลักการเบื้องต้นคงไม่ต่างไปจากการรับประกันภัยพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยบริษัทประกันฯเข้ามารับบริหารจัดการดูแลในเรื่องสวัสดิการแทน ซึ่งสวัสดิการของข้าราชการในเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลคงจะเหมือนเดิม หรืออาจจะดีกว่าเดิมก็ได้ เพราะหากให้บริษัทประกันบริหารก็จะมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพกว่า โดยเฉพาะภาคธุรกิจมีบริษัทกลางฯมีการบริหารจัดการด้านเคลมและมีเครือข่ายทางด้านโรงพยาบาลดีอยู่แล้ว ซึ่งสามารถจะนำมาใช้ได้ โดยคณะกรรมการจัดการสินไหมฯที่สมาคมฯตั้งขึ้นมาก็ได้มีการศึกษาและเห็นตรงกันแล้วว่าจะมีการตั้งระบบการเคลมเป็นระบบเดียวกันหรือเป็นหน่วยงานเดียว โดยตั้งขึ้นมาเหมือนบริษัท และมีคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและสมาคมประกันฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เวลามีการเรียกร้องค่าสินไหมเกิดขึ้นจะได้ไม่มีปัญหา โดยระบบนี้เรียกว่า TPA หรือ THIRD PARTY ADMINITRATION หรือระบบการบริหารค่ารักษาพยาบาลและสินไหมข้าราชการ ซึ่งแนวทางโดยสรุปที่จะทำก็คือ บริษัทสมาชิกที่สนใจร่วมกันรับประกันร่วม และจะมี TPA เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการสินไหม โดยหลักการน่าจะคล้ายๆกับประกันพรบ.ฯ ควรจะมีการปรับทุกๆ 2 ปีหรือ 3 ปี ถ้าสินไหมน้อยกว่า หรือมีตัวเลขกำไร บริษัทประกันก็ต้องมาปรับลดค่าเบี้ยฯลง ซึ่งโดยหลักการไม่น่าจะต่างกัน แหล่งข่าวรายนี้ กล่าวถึงในส่วนของการชี้แจงทำความเข้าใจให้กับ30กว่าบริษัทที่เข้าร่วมประชุมหารือวันนี้ที่สมาคมประกันฯว่า ได้มีบริษัทสมาชิกหลายรายซักถามถึงข้อข้องใจต่างๆนานา อาทิ การจัดตั้งโครงการนี้ จะต้องมีเงินก้อนหนึ่งใช้หมุนเวียนช่วงเริ่มต้นดำเนินงานเท่าไหร่ เพื่อสมาชิกจะได้รู้ว่า ตัวเองจะต้องเอาเงินมาลงทุนจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งนายกสมาคมฯก็ตอบและชี้แจงไปว่า คาดว่าน่าจะใช้เงินประมาณ 200-300 ล้านบาท เพื่อซื้อระบบและจัดตั้งโครงการขึ้น หรือบางคนก็ถามว่า สมาคมฯรับประกันเข้ามาแล้ว บริษัทสมาชิกมารับต่อ ทางสมาคมฯเป็นผู้ทำเรื่องประกันภัยต่อใช่ไหม หรือว่า ให้บริษัทสมาชิกที่รับประกันไปทำประกันต่อกันเอง โดยนายกสมาคมฯก็แจ้งว่า เป็นหน้าที่ของบริษัทสมาชิกจะต้องไปจัดทำประกันภัยต่อกันเอง หรือกระทั่งคำถามที่ว่า การจัดเก็บเบี้ย รัฐบาลจะจ่ายเป็นก้อนหรือผ่อนชำระเป็นงวดๆ และบริษัทสมาชิกต้องสำรองจ่ายสินไหมไปก่อนใช่หรือไม่ ทำนองนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามคาใจของบริษัทสมาชิกที่ซักถามในการประชุม แต่นายกสมาคมฯสามารถจะชี้แจงให้บริษัทสมาชิกได้เกิดความเข้าใจจนหมด โดยนายกสมาคมฯได้กล่าวโครงการนี้ว่า เท่าที่ประเมินดูแล้ว ไม่น่าจะมีกำไร แต่เป็นโครงการขาดทุนเพื่อชาติ ซึ่งทางนายกสมาคมฯได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2560 ทางสมาคมฯทำหนังสือเวียนถึงบริษัทประกันภัยที่เป็นสมาชิกสมาคมฯทั้งหมดเพื่อสอบถามว่า มีบริษัทใดเข้าร่วมบ้าง เพื่อจะได้มาพิจารณาแชร์สัดส่วนกันมีความชัดเจนในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นหรือรับประกันไว้ว่า บริษัทรายใดจะเข้าร่วมหรือรับไว้ในสัดส่วนเท่าไหร่ต่อไป โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ อนึ่ง สำหรับบริษัทประกันฯทั้ง 30 กว่าบริษัทที่มีความสนใจและทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้เชิญมาร่วมรับฟังในวันนี้(18 ม.ค.)อาทิเช่น บริษัทวิริยะ , บริษัทกรุงเทพฯ ,บริษัทอาคเนย์ฯ ,บริษัทกรุงไทย พานิชฯ ,บริษัทเจ้าพระยาฯ ,บริษัทเทเวศฯ ,บริษัททิพยฯ ,บริษัทไทยไพบูลย์ฯ ,บริษัทไทยรีฯ ,บริษัทไทยเศรษฐกิจฯ ,บริษัทธนชาตฯ ,บริษัทไทยวิวัฒน์ฯ ,บริษัทฟอลคอล ,บริษัทเมืองไทยประกันภัย ,บริษัทสินมั่นคงฯ ,บริษัทไอโออิ กรุงเทพฯ ,บริษัทแปซิฟิคครอสฯ ,บริษัทนำสินฯ ,บริษัทนวกิจฯ , บริษัทไทยประกันสุขภาพ ,บริษัทสมโพธิฯ, บริษัทชับบ์สามัคคีฯ ,บริษัทไทยศรีฯ เป็นต้น