“กรมการพัฒนาชุมชน"ร่วมกับ “มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” จัดตั้งโรงครัวประทานเพื่อนพึ่ง(ภา ) เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ จากสถานการณ์อุทกภัยทางภาคใต้ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ โดยการจัดตั้งโรงครัวประทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้จัดตั้งโรงครัวประทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายผู้ประสบภัย ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ รวม 22จุด โดยแต่ละจุดจะดำเนินการครั้งละประมาณ 3-6 วัน ในการจัดทำอาหารแจกจ่าย มากกว่า 269,000 ชุด และมีผู้ได้รับการช่วยเหลือมากกว่า100,000 คน นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย “กรมการพัฒนาชุมชน และ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วยการประกอบอาหารสด เมื่อวันที่ 26กรกฎาคม 2555 โดยได้ตกลงร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ซึ่งได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ด้วยการจัดตั้งโรงครัวประทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประกอบและแจกจ่ายอาหารสด โดยศูนย์กลางการทำงานคือการสร้างพลังชุมชน เพื่อบริหารจัดการจัดตั้งโรงครัวประทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) โดย มีผู้นำชุมชน อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) กลุ่ม องค์กร เครือข่ายพัฒนาชุมชน เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เข้าร่วมดำเนินการ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจะมอบเงินให้คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน (กพสม.) เป็นแกนหลักในการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบในการประกอบอาหารและการปรุงอาหารส่วนการแจกจ่ายจะบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ภาครัฐ ภาคเอกชน จัดยานพาหนะนำไปแจกจ่ายถึงบ้านผู้ประสบภัย” นายอภิชาตเปิดเผยด้วยว่าความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติจากทั้งสององค์กรนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงอุทกภัยเท่านั้น แต่ยังวางเป้าหมายที่จะช่วยฟื้นฟูชีวิตของผู้ประสบภัยหลังจากภัยพิบัติผ่านพ้นไปแล้วอีกด้วย โดยกลไกสำคัญในการบริหารจัดการชุมชน คือการใช้พลังชุมชนการแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง “ปัจจุบันกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยมีผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน รวมทั้งสิ้น 13,376 คน อาสาพัฒนาชุมชน 289,580 คน คณะกรรมการพัฒนาสตรีทุกระดับ จำนวน 1,087,333 คน นอกจากนี้กรมฯได้มีการส่งเสริมสนับสนุนทุนชุมชนได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ดังนั้นกรมฯจะใช้พลังมวลชนและแหล่งเงินทุนในชุมชนเหล่านี้ มาเป็นพลังในการฟื้นฟูเยียวยา และแก้ไขปัญหาต่างๆภายหลังการเกิดภัยพิบัติ ในปีงบประมาณ 2560 กรมการพัฒนาชุมชนมีเป้าหมายในการสร้างสัมมาชีพเพื่อยกระดับรายได้ แก่ครัวเรือนทั่วประเทศ จำนวน 23,589 หมู่บ้าน ครอบคลุมในทุกจังหวัด โดยจะมีกระบวนการเสริมสร้างสัมมาชีพให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีงานทำอย่างสุจริต โดยให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอดำเนินการฝึกอบรมแก่ครัวเรือนในหมู่บ้านเป้าหมาย หมู่บ้านละ 20 ครัวเรือน รวมทั่วประเทศ จำนวน 471,780 คน โดยกรการพัฒนาชุมชนจะมีงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าวัสดุ เพื่อใช้ในการฝึกอาชีพ และสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 2,360กลุ่ม และพัฒนายกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ในปี 2560” นายอภิชาติกล่าว