เมื่อวันที่ 19 ม.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในหลายจังหวัดผ่านศูนย์ดำรงธรรม เกี่ยวกับความเดือดร้อนจากปัญหาการแข่งขันรถจักรยานยนต์ในทาง (เด็กแว้น) ป่วนเมืองจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อและโซเชียลมีเดียว่า ยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายในหลายพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญและอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ จึงได้สั่งกำชับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยทหารในพื้นที่ให้เข้มงวดตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิด ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ละเลยต่อปัญหา และมีความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรโดยเฉพาะยามค่ำคืน โดยพื้นที่ใดที่ดำเนินการได้ดีอยู่แล้วให้ทำต่อไป ส่วนพื้นที่ใดยังพบปัญหา เช่น บริเวณชายหาดบางแสน ให้ผู้บังคับบัญชาลงไปตรวจสอบ และกวดขันให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคม ส่งเสริมให้เด็กมีแรงจูงใจทำเรื่องอื่นที่มีประโยชน์ ไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย หากไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามลำดับชั้น พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนหรือพ่อแม่ผู้ปกครองอาจละเลยในข้อกฎหมายที่มีอยู่ จึงอยากเตือนว่า เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทำตามกฎกติกาบ้านเมืองด้วยการ “จับจริง ยึดจริง ปรับจริง” เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่างโดยเด็ดขาด โดยทั้งเด็ก เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันหากลูกหลานกระทำผิด ดังนั้น ผู้ใหญ่จะต้องสั่งสอนและตักเตือนไม่ให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ทั้งนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถยึดรถไว้ชั่วคราวหากมีการกระทำผิด และพ่อแม่ผู้ปกครองต้องวางเงินประกันไว้ไม่เกิน 2 ปี โดยหากพบว่ากระทำผิดซ้ำ ให้ผู้ปกครองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบเงินประกันเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็ก ส่วนผู้ที่ยุยงส่งเสริมให้มีการกระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นผู้ประกอบการให้สั่งปิดกิจการหรือเพิกถอนใบอนุญาต