ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ทรงพระเมตตาหาใดเปรียบ (1) หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล อดีตองคมนตรีได้ถ่ายทอดความสำนึกในพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตรถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี”ขออนุญาตนำถ่ายทอดพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงตั้งพระราชปณิธานอุทิศพระองค์ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนักหน่วงเพื่อประโยชน์สุขต่อปวงชนพสกนิกรชาวไทย ผ่านความรู้สึกของอดีตองคมนตรีจากที่ได้สนองงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมายาวนานเกือบ 20 ปี เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอาลัยพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ “ตำแหน่ง “องคมนตรี” เป็นตำแหน่งที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อได้รับทราบจากท่านราชเลขาธิการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9มีพระราชกระแสให้มาสอบถามผมว่า หากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น “องคมนตรี”ผมพร้อมที่จะรับตำแหน่งนี้หรือไม่ ผมได้เรียนให้ท่านราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลฯว่าผมมีความยินดีและเต็มใจที่สุดที่จะรับตำแหน่งหน้าที่อันสูงสุดนี้ และจะปฏิบัติงานถวายรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดไป วันที่ 9 สิงหาคม 2540 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีทำหน้าที่แทนประธานองคมนตรี นำผมเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ตามประเพณีปฏิบัติ ด้วยการทูลเกล้าฯถวายพานดอกไม้ธูปเทียนแพ แล้วถวายสัตย์ปฏิญาณ เรียบร้อยแล้วได้มีพระราชดำรัสว่า “ดีแล้ว เธอก็รู้จักกันดีกับเพื่อนร่วมงานในราชสำนักและคงจะช่วยกันทำงานได้ด้วยดี “ เท่านั้นเป็นอันเสร็จพิธี ในระยะเริ่มต้นของรัชกาลเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ยังมีพระราชกิจในการศึกษาต่อ จึงเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 19 สิงหาคม 2489 ซึ่งเป็นวันเสด็จฯนั้นมีราษฎรจำนวนมากมาส่งเสด็จ ขณะรถยนต์พระที่นั่งแล่นถึงวัดเบญจมบพิตร มีราษฎรร้องขึ้นดังๆว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง”ข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง”อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว” นั่นเปรียบดังเป็นคำมั่นในพระราชหฤทัยที่พระราชทานแก่ประชาชน ต่อมาเมื่อเสด็จนิวัตรประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตลอดระยะเวลากว่า 65 ปี(ขณะเขียนบันทึกนี้)แห่งการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงครองแผ่นดิน พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า ตลอดจนผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารต่างได้รับความร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบารมีและพระบรมเดชานุภาพเป็นที่ประจักษ์ของผู้คนทั้งหลาย อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาทางการเมืองที่คงสร้างความหนักพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ระหว่างนักการเมืองกับนายทหารชั้นสูงในกองทัพ อาทิกรณีกบฏทั้งหลายเช่น กบฏเสนาธิการทหาร กบฏวังหลวง และกบฏแมนฮัตตันเป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก่อนที่จะเสด็จฯกลับมาเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งก่อนหน้าที่จะทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชคงยังทรงมีความหนักพระราชหฤทัยว่าจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่หนักหน่วงได้หรือไม่ แต่ในที่สุดก็ทรงทราบในพระราชหฤทัยว่า ต้องทรงยึดมั่นในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องและทรงพยายามทำให้ดีที่สุด ด้วยได้ทรงเห็นถึงความรักความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพระองค์ อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะทรงตอบแทนประเทศชาติ(อ่านต่อ) หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล