ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา [email protected] รู้รักสามัคคี หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทั่วทั้งประเทศทั่วภูมิภาคต่างๆของสังคมไทย ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างทรงตรากตรำด้วยพระราชปณิธานเพื่อมุ่งมุ่นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้พสกนิกรทั่วประเทศทุกภูมิภาค ไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาใดอยู่ห่างไกลเพียงใด โดยได้ทรงเข้าไปช่วยเหลือราษฎรทั้งทางด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการจราจร โดยทรงคิดหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้พสกนิกรดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขบนพื้นฐานพออยู่พอกิน ตลอดจนได้พระราชทานหลักการทรงงาน ที่ทรงยึดการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัวและสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อผลแห่งการพัฒนาที่มุ่งสู่ประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นเป้าหมายสุดท้าย หลักการทรงงานประการหนึ่งที่ทรงให้ความสำคัญ คือเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นคำสามคำที่มีค่าและความหมายลึกซึ้ง พร้อมปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย รู้ คือ การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหา รัก คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนความแล้ว จะต้องมีความรักการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ สามัคคี คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากหลักการทรงงานเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังได้พระราชทานแนวทางแก้ไขความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ในชาติที่ผ่านมา เช่น ในเหตุการณ์ต่างๆ ได้แก่ วิกฤตการณ์ ๑๔ ตุลาคม วิกฤตการณ์พฤษภาทมิฬ และวิกฤตการณ์การเลือกตั้ง ๒ เมษายน ๒๕๔๙ โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเตือนสติประชาชนให้ได้คิดและหันมาปรองดองกัน นำสู่การ “รู้ รัก สามัคคี” ดังนี้ เหตุการณ์วิกฤตการณ์ ๑๔ ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงใช้พระราชอำนาจและพระบารมีในการแก้ไขเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมกันของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก เพื่อประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน จนในที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจรจึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมพลอดุลยเดชทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้พระราชทานพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์แก่ปวงชนชาวไทย โดยทรงเรียกวันดังกล่าวว่า วันมหาวิปโยค เพราะเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการปะทะกัน จนทำให้คนไทยต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยทรงขอให้ทุกฝ่ายตั้งสติระงับเหตุแห่งความรุนแรงและทรงขอให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลใหม่ เพื่อนำบ้านเมืองให้กลับสู่สภาวะปกติ ดังพระราชดำรัสพระราชทานไว้ความตอนหนึ่งว่า “...วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค ที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา ๖-๗ วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุด... ขอให้ทุกฝ่ายทุกคน จงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด... ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้ โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมและแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน...” วิกฤตการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ประชาชนได้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องรัฐบาลและต่อต้านพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจนถึงขั้นบาดเจ็บเสียเลือดเสียเนื้อ แต่ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีและพลตรีจำลอง ศรีเมืองผู้นำการประท้วงรัฐบาล เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับกระแสพระราชดำรัส โดยทรงเตือนสติให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง จนในที่สุดเหตุการณ์ต่างๆ ก็สงบลง ดังพระราชดำรัสพระราชทานไว้ ความตอนหนึ่งว่า “...ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาทุกวันนี้คือความปลอดภัยและขวัญของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งหนมีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศจะล่มจม... ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านโดยเฉพาะสองท่าน พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากันแก้ปัญหาเพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือ ต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชน จะเป็นประชาชนทั้งประเทศ... ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้า แต่ต้องหันหน้าเข้าหากันและสองท่านนี้เท่ากับเป็นผู้แทนของฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย คือฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วเมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกันปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมา ได้กลับมาคืนได้โดยดี...” วิกฤตการณ์การเลือกตั้ง ๒ เมษายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ให้เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ดังเช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนนำสู่การตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฏร เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ในเรื่องการใช้พระราชอำนาจในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุบยเดชทรงวางพระองค์อย่างพอเหมาะพอดี โดยทรงตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงให้ความสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสมอ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวทางแก้ไขความขัดแย้งและวิกฤติการณ์ในชาติในกรณีต่างๆ ทำให้สามารถยุติวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยฉับพลัน พระราชดำรัสที่พระราชทานเน้นย้ำให้สังคมไทยคนไทยดำรงอยู่ในสำนึกแห่งความสำคัญในการ “รู้ รัก สามัคคี”รวมพลังระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นมิให้รุกลามต่อไป และช่วยเตือนสติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ตระหนักถึงความถูกต้องชอบธรรมเป็นอย่างดี นำความสงบสุขร่มเย็นสู่ประเทศเรื่อยมา