พิธีสาบานตน “ทรัมป์” วุ่น ผู้ประท้วงปะทะเดือด ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าควบคุม ประธานาธิบดีคนใหม่ลั่นดึงอำนาจจากนักการเมืองคืนสู่ประชาชน “อเมริกาต้องมาก่อน” สร้างงาน ล้างบางก่อการร้าย ประเดิมลงนามคำสั่งยกเครื่อง “โอบามาแคร์” ด้านทำเนียบขาวออกแถลง อาจถอนตัวจากนาฟตา ขณะที่ นายกแคนาดาร่วมยินดี ชี้พร้อมร่วมมือทำงาน ส่วนนายกหญิงผู้ดียังเชื่อมะกันไม่ทิ้งนาโต เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 60 สำนักข่าวต่างประเทศ นายโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวแทนจากพรรคริพับลิกัน วัย 70 ปี ได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อเวลาวันศุกร์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น โดยพิธีมีขึ้นที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศ ท่ามกลางแขกสำคัญจำนวนมาก ทั้งอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช และนางลอรา บุช ภริยา อดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน และนางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทรัมป์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่พ้นจากตำแหน่ง และนางมิเชลล์ โอบามา ภริยาด้วย นอกจากแขกสำคัญที่มาเข้าร่วมในพิธีแล้ว ยังมีประชาชนอีกหลายแสนคนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ แต่กระนั้นก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อยกว่าในสมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามา และในกลุ่มประชาชนที่มานั้น ไม่ได้มีเพียงผู้สนับสนุนเขาเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้ที่มาประท้วงต่อต้านเขาด้วย แม้เริ่มแรกจะเป็นการประท้วงโดยสันติ แต่ไม่นานก่อนที่ขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองจะเริ่มขึ้น กลุ่มผู้ประท้วงสวมหน้ากากจำนวน 4 – 500 คนได้ก่อเหตุขว้างปาก้อนหิน จนปะกับเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลถึงขั้นที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าปฏิบัตการ และสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุวุ่นวายไว้ได้ 217 คน ภายหลังจากกล่าวคำสาบานตนตามธรรมเนียมแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า จะนำอำนาจที่เคยอยู่ในมือนักการเมือง กลับมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยจะผลักดันนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ กิจการใดๆ ต้องเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนทั้งการสร้างงาน การทำให้สหรัฐฯ กลับมามั่นคง ปลอดภัย และยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยจะกวาดล้างกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ทำลายความมั่นคงของสหรัฐฯ ให้หมดสิ้นไป ที่ห้องทำงานรูปไข่ ในทำเนียบขาว ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีการต่างๆ แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เริ่มวันแรกของการบริหารประเทศด้วยการลงนามในคำสั่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายการปฏิรูปกฎหมายหลักประกันสุขภาพ หรือที่รู้จักกันในนาม “โอบามาแคร์” ซึ่งออกในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโอบามา ทั้งนี้ ได้มีการอธิบายว่าเพื่อเป็นการลดภาระทางเศรษฐกิจของประเทศจากกฎหมายฉบับนี้ และยังมีแถลงการณ์กว้างๆ ออกมาว่า เขาจะยกเลิกทุกการ กระทำ บันทึกข้อตกลง และคำสั่งซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาในสมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามาด้วย ขณะที่ไม่ถึง 2 ชั่วโมงหลังเสริจสิ้นพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เว็บไซต์ของทำเนียบขาวได้เผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลชุดนี้จะเจรจาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ที่มีอายุยาวนานถึง 23 ปี และอาจจะถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวเว้นเสียแต่ว่าจะยุติธรรมต่อสหรัฐฯ ส่วนนโยบายต่างประเทศในรัฐบาลนี้จะเน้นที่ผลประโยชน์สหรัฐฯ และความมั่นคงของชาติ โดยสันติภาพและความเข้มแข็งจะเป็นศูนย์กลางของนโยบาย ซึ่งปรัชญานี้จะก่อให้เกิดความมั่นคง โลกที่สงบยิ่งขึ้น และความขัดแย้งที่น้อยลง ขณะที่การปราบปรามกลุ่มไอซิส และก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงอื่นๆ ก็จะเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด โดยจะใช้มาตรการกดดันต่างๆ ร่วมกับปฏิบัติการทางทหารที่จำเป็น และร่วมกับนานาชาติในการตัดเส้นทางการเงิน ทำสงครามไซเบอร์เพื่อสกัดการโฆษณาชวนเชื่อ และการปลุกผู้เข้าร่วมของกลุ่มก่อรร้าย ด้านปฏิกิริยาของผู้นำชาติต่างๆ โดยนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนนาดา ได้ร่วมแสดงความยินดีมายังประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และแสดงความต้องการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง เพื่อผลประโยชน์ของสองประเทศ และสร้างโลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ขณะที่ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ แสดงความเห็นว่า เธอเชื่อว่า สหรัฐฯ ภายใต้ผู้นำใหม่จะยังคงตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือในกรอบสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือ (นาโต) ที่มีกับยุโรป แม้ว่าก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์จะออกมากล่าวถึงปัญหาของนาโตก็ตาม ล่าสุด มีรายงานว่า แค่เพียงวันเดียวหลังประธานาะบดีทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ชาวออสเตรเลีย หลายพันคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนทั้งในนครซิดนีย์ และเมืองเมลเบิร์น เช่นเดียวกับที่กรุงเวลลิงตัน และโอ๊คแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมสตรีทั่วโลกเพื่อประท้วงผู้นำสหรัฐฯ โดยคาดว่าเมื่อรวมกับอีกหลายเมืองในสหรัฐฯ แล้วจะมีผู้เข้าร่วมถึง 2 แสนคน