ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น ปฏิทิน“สุวรรณมณิรัตน”เครื่องทองคำประดับอัญมณีล้ำค่าเชื่อมสัญลักษณ์จักรราศี มีภาพปฏิทินพุทธศักราช 2560 ชุดโบราณวัตถุทองคำอัญมณีล้ำค่ามาให้ชมกัน ปฏิทินชุดนี้ชื่อว่า “สุวรรณมณิรัตนปฏิทิน” จัดทำโดยกรมศิลปากร ทั้ง 12 ภาพ 12 เดือน แต่ละเดือนแสดงความหมายตามชื่อนามปฏิทินประจำปี 2560 คำว่า “ปฏิทิน” (ภาษาไทยอ่าน: ปะ-ติ-ทิน) มาจากคำภาษาบาลี ปฏิทินัม (ภาษาสันสกฤต: ปรติทินัม) มีความหมายว่า “ในทุกๆวัน” สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชลิไท แห่งสุโขทัยทรงคิดค้นและโปรดเกล้าฯให้นำปฏิทินมาใช้ครั้งแรกในราชอาณาจักรสุโขทัยเมื่อพุทธศักราช 1904 คำภาษาสันสกฤต “มณิรัตน” (ภาษาบาลี: มณิรตน) เป็นคำผสม มาจากคำ 2 คำ คือ “มณิ” และ “รัตน” มีความหมายว่า อัญมณี หินมีค่า ในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาภาษาบาลีบางเรื่อง “มณิรตน” แสดงนัยทางจริยธรรมอยู่ด้วย เช่น คำกล่าวที่ว่า “อมณิง อุทกัง อมณิง กัตวา” มีความหมายว่า “น้ำที่ปราศจากแก้วผลึก แต่ก็ทำให้ใสได้ดุจแก้วผลึก (มณิ)” คำภาษาสันสกฤต “สุวรรณ” ตรงกับ “สุวัณณ” ในภาษาบาลีซึ่งนิยมผสมกับคำอื่น ปรากฏในพระพทุธธรรมคัมภร์ และวรรณกรรมโบราณในพระพุทธศาสนา เช่น สุวัณณภูมิ (แผ่นดินทอง) สุวัณณคิรี (ภูเขาทอง) สุวัณณคุหา (ถ้ำทอง) สุวัณณภิงการะ (หม้อน้ำทองคำ) สุวัณณหังสะ (หงส์ทองคำ) คำเหล่านี้เป็นที่เข้าใจและใช้สืบต่อมาจนทุกวันนี้ แม้นิยมปรับให้เป็นคำภาษาสันสกฤตก็ยังคงความหมายเดิม ดังนั้นนามปฏิทินปี 2560 “สุวรรณมณิรัตนปฏิทิน” จึงบอกให้ทราบว่าเป็นปฏิทินแสดง “โบราณวัตถุทองคำประดับอัญมณีล้ำค่า” ภาพที่นำมาแสดงไว้ในแต่ละเดือนจึงสื่อถึงความหมายที่เชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ตามจักรราศี หรือแสดงนัยสำคัญของแต่ละเดือน ซุ้มบันแถลงทองคำดุนประดับอัญมณี พุทธศักราช 1967 มกราคม “มกร” มาจากคำภาษาสันสกฤตใช้เรียก สัตว์น้ำชนิดหนึ่ง มกร เริ่มต้น จากการเป็นสัญลักษณ์แทนน้ำอันอุดม เช่น มหาสมุทร ฝน การปรากฏของสัตว์ปรัมปราของอินเดียชนิดนี้ในสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของไทยมักสัมพันธ์กับ“นาค”(งู) ในส่วนของเครื่องประดับสถาปัตยกรรมจำลองชิ้นนี้ปรากฏรูปมกรคายนาค ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์แห่งดุลยภาพของน้ำและแผ่นดิน “สุวรรณภิงคาร” หรือ หม้อน้ำทองคำ กุมภาพันธ์ วัตถุทองคำชิ้นนี้เรียกว่า “สุวรรณภิงคาร” หรือ “สุวรรรณภิงการะ” มีความหมายว่าหม้อน้ำทองคำ ภาชนะทองคำนี้บรรจุน้ำสำหรับหลั่งรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีมงคลของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดู จึงเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และการให้พร ดังนั้นนามของเดือนนี้ “กุมภาพันธ์” มีความหมายว่า “ผูกพันกับหม้อน้ำ” จึงแสดงนัยด้วยภาพ “สุวรรณภิงคาร” เข็มขัดทองคำลงยาและหัวเข็มขัดเป็นหินโมราและผลึกควอรตซ์ตกแต่งด้วยลายรูปผีเสื้อและปลาคู่ เป็นเครื่องประดับใช้ในพิธีโสกันต์ พุทธศตวรรษที่ 24 – 25 มีนาคม “มีนะ” เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า “ปลา” ซึ่งตรงกับสัญลักษณ์โหราศาสตร์ของจักรราศีคือ “ไพซีซ” ความหมายเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวพันกับน้ำ คนไทยเชื่อสืบต่อกันมาว่า ปลา สัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ การเจริญพันธุ์ และ ความสอดคล้องต้องกัน ปลาคู่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมและความสุขแห่งชีวิตคู่ คำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งนำมาจากความตอนหนึ่งในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช 1835 ยังถือกันว่าเป็นจริงอยู่จนทุกวันนี้ พระพุทธรูปทองคำปางสมาธิ ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เมษายน การฉลองในช่วงวันหยุดยาวนานที่สุดของไทย คือระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 เมษายนของทุกปี คือ เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทยที่มีความสำคัญสำหรับคนไทย หัวใจสำคัญของประเพณีพิธีกรรมแห่งเทศกาลนี้คือ การอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญสู่ขบวนแห่แหนและสรงน้ำ ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สำริดปิดทองและเป็นที่ศรัทธาสักการะมากของคนไทย รองจากพระแก้วมรกต ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาที่ท้องสนามหลวงให้ประชาชนสรงน้ำเป็นประจำทุกปี พระพุทธรูปทองคำขนาดเล็กองค์นี้แสดงปางสมาธิเช่นเดียวกับพระพุทธสิหิงค์ นับเป็นสิ่งล้ำค่าหายาก แหวนทองคำ หัวแหวนสลักรูปแม่วัวและลูกวัวกำลังดูดนมแม่วัว พุทธศักราช 1967 พฤษภาคม “พฤษภะ” มาจากคำภาษาสันสกฤต “วฤษภะ” แปลว่า “วัวตัวผู้” หากเป็น “วัวตัวเมีย” คำภาษาสันสกฤตใช้ “โค” และถือว่า เป็นสัญลักษณ์ของดวงดาว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวทอเริซในจักรราศี) ท้องฟ้าเมฆฝน สวรรค์และแผ่นดิน เหรียญเงินไม่กี่เหรียญที่พบในแหล่งวัฒนธรรมทวารวดี กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 12 แสดงรูปแม่วัวกับลูกวัวกำลังดูดนมแม่วัว เป็นสัญลักษณ์ของการดูแลเยี่ยงมารดาต่อบุตร และความอุดมสมบูรณ์ การแสดงรูปลักษณ์เช่นเดียวกันนี้ปรากฏในหัวแหวนพบในกรุของวัดราชบูรณะ กำหนดอายุพุทธศักราช 1967 ย่อมบ่งบอกว่า คติแห่งสัญลักษณ์เช่นนี้สืบทอดต่อมาถึงคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา แหวนทองคำ หัวแหวนสลักรูปกินนร-กินนรีคู่หนึ่ง พุทธศตวรรษที่ 24 มิถุนายน ความหมายของคำภาษาสันสกฤต “มิถุนะ” คือ คู่ (ชาย-หญิง) หรือความเป็นคู่ของสิ่งใดๆก็ได้ “คู่” สัมพันธ์กับ “ทวิภาวะ” ของสองสิ่ง การทำให้เป็นสอง การทำซ้ำ ความขัดแย้ง และ การแยกออก รูปกินนรคู่ หรือ กินนร(เพศผู้) คู่กับกินนรี(เพศเมีย) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตกึ่งเทพที่มีร่างท่อนบนแบบคน ร่างท่อนล่างแบบนก เมื่อปรากฏเป็นส่วนประดับสถาปัตยกรรมหรืองานศิลปกรรมถือว่า เป็นรูปลักษณ์อันเป็นมงคล ประหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความรักอมตะ รูปกินนรคู่สลักบนแหวนวงนี้ทำให้คะนึงถึงชาดกเรื่องจันทกินนรี ซึ่งพระโพธิสัตว์(พระพุทธเจ้าในอดีตชาติ) เสวยพระชาติเป็นกินนรและมีคู่เป็นนางกินนรีที่มีความรักมั่นคง ไม่เสื่อมคลายและเสียสละ ควรแก่การยกย่อง กวางทองคำในท่าหมอบประดับอัญมณี พุทธศตวรรษที่ 21 กรกฎาคม “กรกฎะ” มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “กรกฏะ” ตรงกับ “แคนเซอะ” ในระบบโหราศาสตร์ตะวันตกและมีสัญลักษณ์เป็น ปู ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีกระดอง กระดองปู บ่งบอกนัยถึง ความรักบ้าน ปูยังเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ทั้งแสดงถึงความสันโดษหรือความเป็นส่วนตัว ไม่ต่างไปจากพระสงฆ์ที่ต้องจำพรรษาในวัดตลอดระยะสามเดือนในช่วงเข้าพรรษาซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้ อันเป็นไปตามประเพณีปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ และอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ(พระสงฆ์) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงถือว่า มีพระรัตนตรัย คือพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ครบองค์ครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนแปด (ตรงกับเดือนกรกฎาคม) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (แปลว่า ป่ากวาง) เมืองสารนาถ อินเดียเหนือ ดังนั้นในพุทธศิลปกรรมจึงใช้รูปกวางเป็นสัญลักษณ์แทนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ซึ่งต่อมาเรียกว่า วันอาสาฬหบูชา ผอบทองคำรูปสิงห์หมอบ ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ 20 สิงหาคม คำภาษาไทย “สิงห์” มาจากคำภาษาสันสกฤต “สิงห”ความหมายเดียวกับสิงโต สิงโตและความแข็งแกร่งของมันแสดงถึงความเป็นผู้ปกครอง เมื่อสิงห์ปรากฏเป็นพาหนะของเทวีในศาสนาฮินดู เช่น พระนางปารวตี (จึงมีพระนามว่า สิงหวหินี) และเป็นพาหนะของพระโพธิสัตว์ สตรีคือกวันอิน(กวนอิม)ของจีน สิงห์ แสดงคุณลักษณะและบุคลิกภาพของความอบอุ่น ความใจกว้าง โอบอ้อมอารีและทรงอำนาจ อันเป็นบุคลิกภาพของพระราชินีนาถผู้ยิ่งใหญ่ ดั่งเช่นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์มีพระราชสมภพในวันที่ 12 สิงหาคม ศิราภรณ์ ไหมทองคำ พุทธศักราช 1967 กันยายน “กันยา” หมายถึง “สาวพรหมจารี” หรือ “หญิงสาว” ซึ่งตรงกับ “เวอโก” หนึ่งในสิบสองจักรราศีแบบตะวันตก เวอโก มีสัญลักษณ์เป็นสาวพรหมจารี หรือ หญิงรุ่นสาว ศิราภรณ์นี้ทำขึ้นสำหรับสุภาพสตรีสูงศักดิ์ ถักเป็นลวดลายดอกบัวแปดกลีบเบ่งบานและใบก้านขดในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ของหญิงสาว และความรอบรู้อันไม่สิ้นสุด ภาชนะทองคำรูปหงส์ พุทธศักราช 1967 ตุลาคม “ตุลา” มาจากคำภาษาสันสกฤต หมายถึง ดุลยภาพ ความเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ต่างไปจาก “ลีเบรอะ” สัญลักษณ์ลำดับเจ็ดในจักรราศี ซึ่งแทนความหมายของ ดุลยภาพ ความสอดคล้องต้องกัน และความยุติธรรม ภาชนะทองคำรูปหงส์แสดงนัยตามชาดกเรื่องมหาหงส์ กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาหงส์และพระราชาผู้ทรงธรรม (ธรรมราชาธิราช) องค์หนึ่งได้ตอบพญาหงส์เรื่อง ทศพิธราชธรรม หรือธรรม 10 ประการที่พระราชาผ้ทู รงธรรมต้องถือปฏิบัติ ในตำนานของโลกตะวันออก หงส์ ได้รับการยกย่องถึงความมีวินัย ความงาม และความบริสุทธิ์ ตามนัยที่กล่าวมา จึงให้หงส์ เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของ “ตุลา” ผอบผลึกควอรตซ์ทรงดอกบัวตกแต่งฝาและลายขอบด้วยทอง พุทธศักราช 1967 พฤศจิกายน ชื่อของเดือนนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต “วฤศจิกะ” แปลว่า แมลงป่อง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเดือนนี้ในจักรราศี อย่างไรก็ดี วันสำคัญของเดือนนี้สำหรับคนไทยคือวันลอยกระทงซึ่งเป็นวันขึ้นสิบห้าค่ำ (วันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง) คืนวันเพ็ญชาวไทยพากันออกจากบ้านพร้อมกระทงรูปดอกบัวทำจากใบตองและดอกไม้สำหรับใส่เทียนที่จุดสว่างแล้วลอยกระทงออกไปประหนึ่งเรือลำน้อยลอยในลำน้ำ เพื่อเป็นสัญญาณแห่งการบูชาพระแม่คงคา การแสดงด้วยรูปผอบผลึกควอรตซ์ใสกระจ่างทรงดอกบัวสำหรับเดือนนี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนที่บอกเล่าคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองวันลอยกระทงที่แจ่มกระจ่างใจในเดือนนี้ พระพุทธรูปทองคำขนาดเล็กปางห้ามญาติ พุทธศักราช 1967 ธันวาคม ตราบเท่าทุกวันนี้ วันที่ 5 ธันวาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นับเป็นวันอันตราตรึงในจิตใจของชาวไทยทั้งปวง เพราะพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันดีงามทั้งมวลเพื่อประเทศชาติอย่างหาที่สุดมิได้ คนไทยเชื่อว่า บุคคลที่เกิดในวันจันทร์ควรบูชาพระพุทธรูปปางห้ามญาติประหนึ่งพระพุทธรูปประจำวันเกิดเป็นสำคัญ พระพุทธรูปองค์นี้แสดงปางเดียวกันกับพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามวันพระราชสมภพในวันจันทร์ ซึ่งสร้างขึ้นและประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ทั้ง12โบราณวัตถุทองคำประดับอัญมณีล้ำค่านี้ใน “สุวรรณมณิรัตนปฏิทิน” 2560 สื่อความหมายที่เชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ตามจักรราศี หรือแสดงนัยสำคัญของแต่ละเดือน หมายเหตุ..เนื้อเรื่องและภาพกรมศิลปากร , เรียบเรียง