ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ทรงพระเมตตาหาใดเปรียบ (2) โครงการตามพระราชดำริ โครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2494 โดยในระยะเริ่มต้นต้องจำกัดอยู่บริเวณภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ และอาศัยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นหลัก ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด นอกจากโครงการตามพระราชดำริที่ทรงเน้นการพัฒนาชนบทแล้วยังมีโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษาของชาติ โดยทรงระดมทุนจากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์แล้วพระราชทานเงินที่ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อเก็บดอกผลให้เป็นทุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ซึ่งต่อมาทุนนี้ได้มีการพระราชทานแก่สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งทั่วประเทศ โครงการที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขนั้นเริ่มขึ้นในพ.ศ. 2495 เนื่องจากได้เกิดโรคโปลิโอระบาด ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจและกล้ามเนื้อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานตึกวชิราลงกรณธาราบำบัดเพื่อเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคโปลิโอได้เข้าบำบัดฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุอ.ส.ที่เพิ่งจะเริ่มจัดตั้งขึ้นเชิญชวนประชาชนร่วมกันโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวายอันมีส่วนสำคัญที่ทำให้โรคโปลิโอค่อยๆหมดไปในที่สุด ครั้นถึงพ.ศ.2497 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดตั้งหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไปรักษาประชาชนที่อยู่ห่างไกลในชนบท ต่อมาพ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งทุนอานันทมหิดลขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และประเทศชาติ เพราะทรงตระหนักว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น โดยผู้มีความรู้ความสามารถร่วมกันพัฒนา ดังนั้น จึงทรงสนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาที่มีความสามารถยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่างๆได้รับพระราชทานทุน และมีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ขั้นสูงสุดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่อมาได้ขยายการพระราชทานทุนอานันทมหิดลแก่นักศึกษาแผนกต่างๆมากขึ้นเช่นด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เศรษฐกิจ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์และโบราณคดี และในพ.ศ.2502 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนสภาพทุนอานันทมหิดลเป็นมูลนิธิอานันทมหิดลเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทุนอานันทมหิดลไม่มีข้อกำหนดผูกพันระยะเวลาการศึกษา แต่ให้ผู้ได้รับทุนสามารถเรียนต่อจนถึงขั้นสูงที่สุดตามศักยภาพของแต่ละคน เมื่อจบแล้วก็ไม่ต้องมาทำงานใช้ทุนซึ่งต่างจากทุนอื่นๆ จึงเป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการแขนงต่างๆที่ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลจำนวนเกือบ 300 คนทั้งนี้ผู้ที่ได้รับทุนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต่างตั้งใจแสวงหาความรู้และกลับมาทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองโดยเกือบทั้งหมดรับราชการอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนผู้มีโอกาสน้อยกว่า โดยถ่ายทอดความรู้แก่บุคคลอื่นต่อไป พระมหากษัตริย์ในยุคใหม่ ในช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองวุ่นวายซึ่งเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับปัญหาต่างๆนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระประมุขและพระราชินีของประเทศ ด้วยการเสด็จฯไปต่างจังหวัดทั่วทุกภาคทั่วประเทศเป็นการส่วนพระองค์ โดยในพ.ศ.2498 เริ่มเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในแถบภาคกลางก่อน เช่นสุพรรณบุรี สมุทรสาคร อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นในปีเดียวกันจึงได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมประชาชนแถบภาคอีสานเป็นลำดับถัดไป เหตุการณ์หนึ่งก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เสด็จฯไปทรงนมัสการและบูชาพระรัตนตรัยในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้ทรงพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ที่ประทับรอรับเสด็จอยู่ และได้สดับพระดำรัสถวายพระพรของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า “ราษฎรเขามาคอยเฝ้าชมพระบารมีรอรับเสด็จกันตามถนนหนทางมากมาย เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจไปคอยกันเขาไม่ให้เข้ามาใกล้ ไม่ให้แลเห็นพระองค์ เขาเสียใจกันมาก ในเมืองไทยเรานี้พระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรไม่เป็นภัยต่อกันเลย ขอให้ทรงจำไว้ราษฎรไม่เป็นภัยต่อพระองค์เลย” ดังนั้นการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จะทรงยึดถือพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าที่ว่า “ราษฎรไม่เป็นภัยต่อพระเจ้าแผ่นดิน” โดยมีพระราชดำรัสว่าราษฎรต้องเดินทางมาจากที่ไกลๆ บางแห่งก็มาด้วยความยากลำบากและยังต้องมาคอยพระองค์เป็นเวลานานนับชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง ฉะนั้น ทั้งสองพระองค์จึงทรงพระกรุณาให้ราษฎรเฝ้าฯแต่ละแห่งเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จฯโดยเรือพระที่นั่ง หรือการเสด็จฯไปทรงเยือนภาคอีสานโดยรถไฟพระที่นั่งก็ตาม(อ่านต่อ) หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล