ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ทรงพระเมตตาหาใดเปรียบ หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล(จบ) ทรงขจัดปัดเป่าภัยพิบัติต่างๆด้วยพระบรมเดชานุภาพ พระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดและเป็นสิ่งที่ไม่มีบุคคลอื่นใดสามารถจะปฏิบัติให้ได้ผลดีและมีการสูญเสียน้อยที่สุดสำหรับประเทศชาติบ้านเมืองนั่นคือการทรงระงับการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่แทนที่จะได้รับการแก้ไขกลับกลายเป็นการทำให้ปัญหาที่มีอยู่เป็นปัญหาร้ายแรงยิ่งขึ้นและยากที่จะแก้ไขได้ ควรที่จะชี้ให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าการใช้กำลังอาวุธเข้าประหัตประหารกันนั้นไม่ใช่ช่องทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่จะนำมาซึ่งทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ และพยายามทำให้เกิดความพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ให้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบ หรือมีความคิดเคียดแค้นและหาทางที่จะต่อสู้ที่ร้ายแรงขึ้นต่อไป ตัวอย่างกรณีวิกฤตการณ์ความรุนแรงใน “วันมหาวิปโยค” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ปฏิบัติตามพระราชดำรัส ทำให้ประเทศกลับคืนมาสู่ความสงบ อันเป็นการขจัดปัดเป่าวิกฤตของประเทศให้ผ่านพ้นไปด้วยดี ทั้งนี้ด้วยพระบารมีในฐานะพระประมุขของประเทศและตามพระราชอำนาจในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระประมุขของประเทศ ได้เสด็จฯเยือนประเทศต่างๆหลายประเทศนานถึง 6 เดือน ถือว่าเป็นการเสด็จฯเยือนต่างประเทศครั้งยิ่งใหญ่และเป็นปรากฏการณ์โลก คือการเสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆในยุโรปรวม 14 ประเทศและ 1 รัฐ ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 18 พฤศจิกายน 2503 ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือเพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้วให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปยังประเทศต่างๆนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนของประเทศเหล่านั้น เป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล เมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จฯเยือนประเทศต่างๆแล้วก็ได้ทรงรับพระราชอาคันตุกะที่เป็นพระประมุขและประมุขของประเทศต่างๆ ที่เสด็จฯและเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน ซึ่งบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งหลายต่างก็ทรงประทับใจและประทับใจในพระราชวงศ์ของไทย ตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างทั่วหน้า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นทรงตั้งอยู่บนรากฐานการเมืองที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระประมุขของปวงชนทรงใช้อำนาจนั้นเท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์จนถึงปี2555ย่างเข้าปีที่ 66 แห่งการครองราชย์นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นพระประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้มา 18 ฉบับได้ทรงเห็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมากกว่า 50 ชุด นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในรัชสมัยของพระองค์ทุกชุดได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯทั้งในงานพระราชพิธีและเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์เพื่อกราบบังคมทูลรายงานการปฏิบัติงานของรัฐบาล ซึ่งการขอพระราชทานเรียนพระราชปฏิบัติรวมทั้งพระราชดำรัสแนะนำนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ที่นายกรัฐมนตรีไม่พึงนำมาเปิดเผย นอกเหนือไปจากเรื่องที่มีพระราชดำรัสแนะนำเกี่ยวกับแนวทางนโยบายหรือโครงการต่างๆเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาล พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมมีพระราชอำนาจและพระราชฐานะหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ แต่ในขณะเดียวกันตามจารีตประเพณีและการยึดถือปฏิบัติพระมหากษัตริย์ยังคงทรงดำรงไว้ซึ่งสิทธิบางประการ กล่าวคือ 1. สิทธิที่จะพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำ 2. สิทธิที่จะพระราชทานกำลังใจ 3. สิทธิที่จะพระราชทานพระราชดำรัสตักเตือน พระองค์ทรงดำรงไว้ซึ่งสิทธิทั้ง 3 ประการอย่างครบถ้วนและทรงใช้สิทธิดังกล่าวนั้นอย่างทรง พระสุขุมคัมภีรภาพ และทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารธรรมดังที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยมีพระราชดำรัสใดๆในเรื่องที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีไม่ได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำหรือปรึกษาแต่ประการใดเลย “พระองค์ท่านไม่เคยมีบทบาทที่จะชี้ว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก คนนี้ดี คนนี้ไม่ดี คนนี้ทำถูก หรือทำผิด ไม่เคยมี พระองค์ระมัดระวังเรื่องพวกนี้มาก ผมจึงมองว่าทรงเป็นนักประชาธิปไตยหรือนักรัฐธรรมนูญ” ในฐานะพระประมุขของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ โดยทรงคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือวิกฤตของบ้านเมือง เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลคม 2516 หรือเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 นั้นพระองค์ท่านก็ได้ทรงขจัดปัดเป่าให้เหตุการณ์คลี่คลายลง นำประเทศชาติให้กลับสู่ความสงบและเข้าสู่ภาวะปรกติ เนื่องจากทรงครองราชย์มายาวนานจึงทรงมีประสบการณ์ในด้านต่างๆอย่างมากมาย และได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม จนกระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นศูนย์รวมแห่งความถูกต้องดีงาม เป็นเกียรติยศของประเทศ เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและความจงรักภักดีของประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระปรีชาสามารถในงานพัฒนาประเทศ ทรงมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ได้ทรงวางพระองค์และทรงปฏิบัติพระองค์อย่างครบถ้วนของการที่ทรงมีสิทธิและพระราชอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างถูกต้องทุกประการ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้นนายอานันท์เห็นว่า “พระองค์ท่านไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเดียว...แต่ทรงเป็นศูนย์กลางของความถูกต้อง เพราะฉะนั้นในอีกบริบทหนึ่ง...อันนี้ไม่ได้หมายถึงภายใต้รัฐธรรมนูญแต่เป็นส่วนพระองค์ด้วยความเคารพนับถือของคนไทยที่มีต่อพระองค์และพระบารมี พระบารมีก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไป แต่เกิดจากการที่พระองค์สั่งสมคุณงามความดี เพราะฉะนั้นคนไทยก็มองพระองค์ท่านว่า ทรงเป็น...ภาษาอังกฤษเรียกว่า Moral Authority เป็นศูนย์กลางของความยุติธรรม ศีลธรรม ความดีงาม... เป็นศูนย์กลางของการรวมพลังของประชาชนชาวไทย นี่เป็นอำนาจ...แต่เป็นอำนาจที่คนถวายให้ด้วยความยินดี ซึ่งอันนี้ในลักษณะการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษหรือสวีเดนเขาไม่มี ฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ” เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องประทับใจที่สุด เนื่องด้วยพระเกียรติคุณอันแผ่ไพศาลของพระองค์ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในพ.ศ.2549 นอกจากรัฐบาลและประชาชนชาวไทยจะได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงานเพื่อแสดงความจงรักภักดีอย่างยิ่งใหญ่ มีสมเด็จพระราชาธิบดีและผู้แทนพระองค์จากนานาประเทศเสด็จฯ/เสด็จมาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างพร้อมเพรียง เช่นราชวงศ์แห่งยุโรป 10 ประเทศ ราชวงศ์แห่งตะวันออกกลาง 6 ประเทศ ราชวงศ์แห่งแอฟริกา 3 ประเทศ ราชวงศ์แห่งแปซิฟิก 1 ประเทศ ราชวงศ์แห่งเอเชียใต้ 1 ประเทศและราชวงศ์แห่งเอเชีย 4 ประเทศ การเสด็จฯ/เสด็จมาของสมเด็จพระราชาธิบดีและผู้แทนพระองค์จากนานาประเทศในการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในครั้งนั้น นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกนี้ที่ได้รับความสนใจของคนทั่วโลก และเรื่องที่ขอเตือนสติคนไทยทุกคนคือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพยายามจะพัฒนาประเทศชาติ ในขณะที่คนอื่นๆในชาติได้แต่เฝ้ารอให้สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น โดยที่มิได้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท...จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนไทยทั้งหลายไม่ตระหนักและยอมรับในสิ่งนี้ ทุกคนภาคภูมิใจในการมีพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่แนวพระราชดำริอันเป็นรากฐานสังคม เศรษฐกิจและการเมือง การทรงเป็นแรงบันดาลใจ การทรงเป็นแบบอย่างที่ดีและวิถีแห่งการทรงดำเนินชีวิตของพระองค์ ไม่ได้ถูกรับเอามาใช้ในการปฏิบัติอย่างเต็มบ่า.. ทุกคนควรจะตระหนักว่าหนทางเดียวที่จะแสดงความเคารพต่อครูก็คือ เรียนรู้จากพระองค์ เพื่อที่จะนำความรู้นั้นไปช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่เพียงแค่แขวนหรือประดิษฐ์ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ไว้ในบ้าน...” ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าหน้าในหลวงของเราหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน