รงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] แนวพระราชดำริรักษาน้ำรักษาป่าเพื่อประโยชน์แก่ราษฎร ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ตราบจนเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวคิดและทฤษฎีในการพัฒนา ที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการที่ได้ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไขให้การพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นไปได้โดยง่าย ไม่ซับซ้อนและสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศน์โดยส่วนรวมของธรรมชาติ และสภาพภูมิสังคมในชุมชนต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทานว่าเป็นงานที่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยทรงริเริ่มโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ด้วยทรงให้ความสำคัญว่าน้ำคือชีวิต ดังพระราชดำรัสพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...” แนวพระราชดำริทฤษฎีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดน้ำอย่างยั่งยืนทรงตระหนักว่าไม้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะป่าคือแหล่งต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นแนวพระราชดำริสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างที่สุด และทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่ง คือ ทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือที่เรียกว่า Check Dam หรืออาจเรียกว่า ฝายชะลอความชุ่มชื้น ก็ได้ การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นนั้น คือ การสร้างสิ่งก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง เพื่อให้สามารถชะลอน้ำให้ไหลผ่านไปอย่างช้าที่สุด น้ำที่ถูกชะลอไว้ด้วยฝายจะสามารถให้ความชุ่มชื้นจนต้นไม้และสิ่งมีชีวิตดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่มีน้ำมากน้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง ตลอดจนสามารถกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลเทลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง วิธีการอันเป็นแนวพระราชดำรินี้นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง ดังเช่นพระราชาธิบายเกี่ยวกับการปลูกป่าทดแทน ความตอนหนึ่งว่า “...จะต้องสร้างฝายเล็ก เพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้ น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย...” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับรูปแบบและลักษณะ Check Dam ไว้ ความตอนหนึ่งว่า “...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด ใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...” ทั้งนี้ สามารถแยกประเภทของ Check Dam ได้เป็น ๒ ประเภท ดังพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “...Check Dam มี ๒ อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่...” จากพระราชดำรัสข้างต้น สามารถกำหนดประเภทของ Check Dam ได้เป็น ๒ ประเภท คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น และฝายดักตะกอน ซึ่งสามารถสร้างได้ ๓ รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบที่หนึ่ง คือ Check Dam แบบท้องถิ่นเบื้องต้น ซึ่งสร้างได้จากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ รูปแบบที่สอง คือ Check Dam แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวรหรือก่อสร้างโดยเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ และรูปแบบที่สาม คือ แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร โดย Check Dam นั้นสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่ลาดชันสูง ลาดชันปานกลางหรือลาดชันต่ำ เพื่อมุ่งลดการพังทลายของดินและความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ตลอดจนช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลมากับน้ำในลำห้วย เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่และเก็บกักน้ำไว้บางส่วนให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและใช้เป็นแหล่งน้ำบริโภคของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำการเกษตร เพื่อประโยชน์สุขในการดำรงชีพเป็นสำคัญ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่แม่น้ำป่าสัก เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริที่ทรงต้องการให้พสกนิกรมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และป้องกันบรรเทาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และด้วยข้อเท็จจริงว่า แม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยทั้งปีเป็นจำนวนมาก แต่น่าเสียดายว่า ปริมาณน้ำเหล่านี้กลับถูกปล่อยทิ้งลงทะเล แทนที่จะเก็บกักไว้ใช้เพื่อการเกษตรกรรมหรืออุปโภค บริโภค หรือในช่วงฤดูแล้ง การเก็บกักน้ำสามารถช่วยลดความสูญเสียจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำได้ โดยปัญหาต่างๆ นี้เกิดขึ้น อันเนื่องจากไม่มีระบบเก็บกักน้ำที่สมบูรณ์นั่นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภมิพลอดุลยเดชทรงเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่แม่น้ำป่าสักหรือ โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสักเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากดำเนินการได้สำเร็จเร็ว ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาและวิกฤตการณ์เกี่ยวกับน้ำในทุกรูปแบบของประเทศไทย หรือสามารถบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงได้อย่างแน่นอน นอกเหนือจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่แม่น้ำป่าสักแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังได้พระราชทานหลักการสำคัญในการวางโครงการและก่อสร้างระบบแยกน้ำ ๓ รส ออกจากกัน คือ น้ำจืด น้ำเปรี้ยวและน้ำเค็ม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่โดยรอบเขตพรุและที่ใกล้เขตดินพรุ เช่น บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและบริเวณลุ่มน้ำบางนรา เป็นต้น โดยพระราชทานพระราชดำริให้สร้างระบบป้องกันน้ำเปรี้ยวจากพรุที่ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเป็นกรด ระบบป้องกันน้ำเค็มบุกรุก ระบบส่งน้ำจืดช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม และเพื่อการอุปโภคบริโภค เกี่ยวกับโครงการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงวางแนวคิดและวิธีการในเรื่องการแยกน้ำแต่ละประเภทในพื้นที่เดียวกันให้แยกออกจากกันด้วยวิธีการที่แยบยลแนวพระราชดำริข้างต้นนี้นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในศาสตร์ด้านน้ำอย่างแท้จริง