เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา คณะสื่อมวลชน และข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางลงพื้นที่ ศาลาประชาคมบ้านท่าข้าม ต.มิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพื่อรับฟังเวทีชาวบ้านในโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยมี ดร.มุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา ,นายยงยุทธ ป้อมเอี่ยม นายอำเภอสีคิ้ว ,นายศุภวัฒน์ วิรุฬดก กำนัน ต.มิตรภาพ และผู้ใหญ่บ้าน ม. 6 ,นายพุทธพงศ์ ส่งสกุลวงศ์ นายก อบต.มิตรภาพ ,น.ส.สุภาพ แสนมี ตัวแทนกรมการปกครอง และผู้ใหญ่บ้านหมู่ต่าง ๆ การนี้ ดร.มุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา กล่าวเปิดงานว่า วันนี้ อ.สีคิ้ว มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทาง จ.นครราชสีมา โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการฯ และกรมการปกครองโดยสำนักงานปกครองท้องที่ ได้พิจารณาคัดเลือกให้ อ.สีคิ้ว เป็นสถานที่ที่จะบอกถึงแนวนโยบายของรัฐ และบอกถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวประชารัฐ ว่า ประโยชน์เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ อ.สีคิ้ว แห่งนี้ ได้ดำเนินการตามความต้องการที่จะสร้างให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะทำให้ทุกคนได้คิด ได้แก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเองได้โดยอิสระ ขณะที่ในส่วนของเวทีชาวบ้าน น.ส.สุภาพ แสนมี ตัวแทนกรมการปกครอง กล่าวว่า โครงการนี้ริเริ่มโดยกระทรวงการคลัง แต่ปัญหา คือ กระทรวงการคลังไม่มีกลไกที่จะรับผิดชอบรับงานนี้ไปสู่การปฏิบัติ ครม.จึงพิจารณาและเล็งเห็นว่า กระทรวงมหาดไทย มีกลไกตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล สุดท้ายคือ หมู่บ้าน โดยให้กระทรวงมหาดไทยไปหารือกับ กรมบัญชีกลาง และ สำนักงบประมาณ ว่าจะพิจารณาโครงการที่นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนมากที่สุดได้อย่างไร จึงได้ชื่อโครงการว่า "โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ" ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเอง แก้ปัญหาด้วยตัวเอง และก้าวไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่อมา รองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า เศรษฐกิจของจังหวัดฯ มีความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรเป็นหลัก รวมทั้ง อุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และอุตสาหกรรมผลิตอะไหล่รถยนต์ทั้งหลายด้วย ซึ่งขณะนี้ ทางจังหวัดได้มีความก้าวหน้าในเรื่องของการลงทุนทางด้านการค้าอีกด้วย เช่น มีห้างต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และก็กำลังจะมีมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รวมถึง สนามบินที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่ได้สร้างไว้นานแล้ว “ตรงนี้จะเป็นการเปิดกว้างไปสู่ภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในระดับพื้นที่ นโยบายของผู้ว่าฯ ได้กำหนดนโยบายหรือรูปแบบในการที่จะทำให้ จ.นครราสีมา ของเรา นั้น เป็นประตูของภาคอีสาน และเป็นประตูเปิดไปสู่อาเซียนด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ เราเป็นผู้นำกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรี คือ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ ด้วย ส่วนด้านความสามารถในเรื่องการพัฒนาทุกด้านตามแนวทางนโยบายของรัฐบาล และของส่วนราชการต่าง ๆ จังหวัดเราประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง เนื่องด้วยผู้ว่าฯ ได้มีความเอาใจใส่ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่วันหยุด” ดร.มุรธาธีร์ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า จังหวัดฯ มีแนวทางการตรวจสอบการใช้งบฯ ไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตอย่างไร ดร.มุรธาธีร์ กล่าวว่า แรกสุดได้นัดแนะการประชุม โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน และมี ป.ป.ช. ,สตง. และหน่วยงานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบ ซึ่งได้มีการประชุมไปเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา และผู้ว่าฯ ก็ได้กำชับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ให้ระมัดระวังการรั่วไหล การใช้จ่ายที่ไม่เหมาสม หรือการใช้งบฯ ผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งกำชับว่า อย่าให้มีการทุจริต หากพบมีการทุจริตจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด และได้มีหนังสือสั่งการแจ้งเตือนเป็นระยะ ๆ เพราะฉะนั้น ถามว่ามีการร้องเรียนเข้าไปไหม ไม่มีเลย แต่ถ้ามีการร้องเรียนว่า โครงการนั้นนี้ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ พอเราอธิบายเขาก็เข้าใจ ซึ่งเป็นจำนวนน้อย เมื่อถามถึงกรณีการทุจริตการทุจริตค่าที่พักนักกีฬาของ อบจ.โคราช รวมถึง โครงการขุดคลอง-สร้างถนน สัญญาละ 5 แสนบาท วงเงินกว่าพันล้านบาท และการร้องเรียนการก่อสร้างฝายชะลอน้ำบ้านลิงส่อง ม.2 อ.สีดา ของเทศบาลตําบลสีดา ที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ดร.มูรธาธีร์ รองผู้ว่าฯ โคราช ยืนยันว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก เพิ่งย้ายจาก จ.ศรีสะเกษ มาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ โคราช ได้ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น โดยทำงานในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่ด้านความมั่นคง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา ไม่ได้เดินทางร่วมเวทีชาวบ้านดังกล่าว แต่อย่างใด เนื่องจาก เดินทางไปทำภารกิจของทางราชการ ขณะที่ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบฯ 2560 โดยอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการ รวมวงเงิน 18,760 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปแก่หมู่บ้านแห่งละ 250,000 บาท จำนวน 74,655 หมู่บ้าน วงเงินรวม 18,663.75 ล้านบาท และค่าดำเนินโครงการจำนวน 96.25 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 เดือน สิ้นสุดเดือน ม.ค. 2560 อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เน้นการกลั่นกรองโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และทำให้เกิดการกระจายของเม็ดเงิน สร้างการจ้างงาน ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และควรเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เช่น การสร้างลานตากมันสำปะหลังที่ยังไม่มีในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ให้จัดทำโครงการประเภทการจัดซื้อครุภัณฑ์ใหม่ สร้างศาลาการเปรียญ หรือซ่อมแซมอาคารเรียน และไม่ให้จัดทำโครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่มีอยู่แล้วในงบประมาณประจำปีปกติ