คณะทำงานฯ ป.ป.ช. ถก เอสเอฟโอ ขอข้อมูลเบื้องต้นแล้ว หวั่น 3 ประเด็น หน่วยงานไหนเป็นหลักในการสอบ-โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต-ใช้อำนาจภายในแทรกแซงคดี รับก้อน 1-2 หมดอายุความแล้ว ให้ฟ้องแพ่ง-ส่ง ปปง. อายัดทรัพย์เอง ตั้งอนุฯได้แค่ยุค “ทักษิณ” เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานสอบสวนและรวบรวมข้อมูล กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (เอสเอฟโอ)ว่า จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินประมาณ 1.2 พันล้านบาท และเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2543-2556 วงเงินประมาณ 385 ล้านบาทว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2560 คณะทำงานฯได้พูดคุยเบื้องต้นกับเอสเอฟโอแล้ว โดย เอสเอฟโอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมมีหน่วยงานจากประเทศไทยขอสำนวนสอบสวนกรณีดังกล่าวเยอะ คณะทำงานฯจึงยืนยันว่า ขณะนี้มี ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ อาจเพื่อหาข้อมูลประกอบในการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายใน เช่น บริษัท การบินไทยฯ หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ดูรายละเอียดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เบื้องต้นท่าทีของเอสเอฟโอเป็นไปค่อนข้างดี และคณะทำงานฯ เตรียมประชุมเพื่อหากำหนดกรอบคำถาม ก่อนจะประสานไปอีกครั้งหนึ่ง นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า ข้อกังวลเบื้องต้นของเอสเอฟโอขณะนี้ นอกเหนือจากไม่มั่นใจว่ามีหน่วยงานไหนเป็นหลักในการตรวจสอบแล้ว ยังกังวลเกี่ยวกับบทลงโทษของประเทศไทยในคดีการติดสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต เหมือนกับกรณีที่ ป.ป.ช. เคยขอข้อมูลคดี GT200 ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เช่นกัน แต่คณะทำงานฯ ป.ป.ช. ยืนยันว่า โทษดังกล่าวไม่เคยนำมาใช้นานมากแล้ว และปัจจุบันคงไม่มีการนำมาใช้อีก อย่างไรก็ดีอีกประเด็นหนึ่งสำคัญคือ เอสเอฟโอ มองว่า ภายในประเทศไทยยังคงมีการใช้อำนาจภายในจากรัฐบาล จึงกังวลถึงกระบวนการดำเนินคดีในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการสร้างความเชื่อมั่นแก่ เอสเอฟโอ และองค์กรระดับนานาชาติว่า จะไม่มีการใช้อำนาจภายในเข้าแทรกแซงเรื่องนี้ และเห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อแก้ปัญหา เพราะ ป.ป.ช. ถือเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบเรื่องทุจริตอยู่แล้ว เมื่อถามว่า กรณีการจ่ายสินบนช่วงแรก เมื่อปี 2534-2535 ปรากฏบันทึกคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทยฯ ที่อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบิน B777-200 รวม 8 ลำ พร้อมให้ซื้อเครื่องยนต์จากโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยนั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ทราบจากข่าวแล้ว แต่กรณีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า คดีเรียกรับสินบน มีอายุความ 20 ปี ซึ่งการจ่ายสินบนช่วงแรก เมื่อปี 2534-2535 และช่วงที่สองปี 2535-2540 หมดอายุความไปแล้ว ไม่สามารถรื้อฟื้นมาทำอะไรได้อีก และหากให้ คสช. ใช้อำนาจภายในเพื่อไม่ให้คดีหมดอายุความ ต่อไปประเทศไทย รวมถึง ป.ป.ช. จะไม่น่าเชื่อถือต่อสายตานานาชาติอีก ดังนั้นจึงอาจให้หน่วยงานที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น บริษัท การบินไทยฯ ดำเนินการฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกความเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาจร้องเรียนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินได้ เมื่อถามว่า กรณีการจ่ายสินบนช่วงที่สาม เมื่อปี 2547-2548 คณะทำงานฯทราบชื่ออดีต รมช.คมนาคม ที่มีพฤติการณ์นัดกินข้าวกับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทยฯ และนายหน้า ตามสำนวนการสอบของ เอสเอฟโอ หรือยัง นายสรรเสริญ กล่าวว่า ทราบพฤติการณ์ และทราบชื่อทั้ง รมว.คมนาคม และ รมช.คมนาคม รวมถึงเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทยฯ แล้ว แต่ยังไม่สามารถหาข้อเชื่อมโยงได้ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนอย่างไร ต้องรอให้ได้ความชัดเจนจาก เอสเอฟโอ ก่อน จึงจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไป