“ สิ่งที่สำคัญในฐานะพ่อ เราเองต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกเห็น เช่นการไม่สูบบุหรี่ การไม่ดื่มสุรา ดูแลความอบอุ่นของครอบครัวและขวนขวายหาความรู้อยู่ตลอดเวลา” ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าศึกใหญ่หลวงที่ทั้งรัฐบาลและ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคง ของประเทศ กำลังรับมือนั้นคงไม่ใช่เรื่องอื่น ที่จะร้อนไปกว่า “สงครามไซเบอร์” กลุ่มต่อต้านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่รุกหนักไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งงานนี้ ต้องไม่ลืมว่า ยังมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่ต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องเช่นกัน เรากำลังพูดถึง “ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก” ที่มีหน้าที่ในการดูแล ติดตามผู้กระทำความผิดทางไซเบอร์ แต่วันนี้ “รื่นรมย์คนการเมือง” จะขอพักเบรคเรื่องร้อนๆ แล้วพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ” ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ในแง่มุมของการใช้ชีวิต มุมคิดในการดำเนินงาน ต้องบอกว่าน่าสนใจและน่าติดตามไม่แพ้ ภารกิจในฐานะผอ.ศูนย์ไซเบอร์ ของทบ. เลยทีเดียว - ส้นทางสู่ “นายทหาร” สำหรับประวัติความเป็นมาของพล.ต.ฤทธี นั้นมีภูมิลำเนาเดิมเป็นคนจ.ลำปาง โดยคุณพ่อณรงค์ คุณแม่คำมูล อินทราวุธเกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2501 ปัจจุบันอายุ 59 ปี จบชั้นประถมศึกษา โรงเรียนน้ำตาลอนุเคราะห์ อ.เกาะคา จ.ลำปาง ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 18 โรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 29 ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต ( วทบ.ทบ.) และ ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ( ศศม. การทหาร )จากนั้นได้ศึกษาต่อในหลักสูตรพิเศษของกองทัพบก ทั้งนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกและก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก ( ศทท.ทบ.) และหลังจากนั้นในปี 2557 ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ผอ.ศทท.)ปัจจุบันสมรมกับนางประภาศรี อินทราวุธ ( กลิ่นทอง )ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินทรา ซัพพลาย แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ชื่อด.ช.ประภฤทธิ์ อินทราวุธ อายุ 14 ปี กำลังศึกษาในชั้น ม.3 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล - เรียนรู้เทคโนโลยีตลอดเวลา เมื่อมีเวลาว่าง พล.ต.ฤทธี บอกว่า จะค้นคว้าในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้จะเขียนบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยี ส่วนระยะหลังจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศูนย์ไซเบอร์ เทคโนโลยีและการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ รวมทั้งในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับผลกระทบ หรือวิกฤตทางเทคโนโลยี ในเชิงวิชาการและการแสดงความคิดเห็น เช่น เกมส์โปเกมอน ซึ่งทุกเรื่องล้วนแต่เป็นประเด็นที่อยู่ในชีวิตประจำวัน พล.ต.ฤทธี เล่าว่า ตั้งเเต่เรียนจบในปี 2528 ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ภาคใต้และออกภาคสนามมาตลอด ผ่านงานหนัก ในฐานะ “นายทหารสายบู๊” มาแล้วทั้งสิ้น ทั้งการนำทีมปราบผู้ก่อการณ์คอมมิวนิสต์ และเป็นงานด้านมวลชน ฝ่ายกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 4ซึ่งงานด้านกิจการพลเรือนเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาคอมพิวเตอร์ โดย เมื่อปี 2528 เห็นว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีความจำเป็น จึงของบประมาณสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา เพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ และเรียนรู้ผ่านstoryboard จากนั้นได้จัดทำฐานข้อมูล ของประชาชน ในพื้นที่14 จังหวัด ซึ่งในสมัยนั้น ขณะที่ยังประจำการอยู่ภาคใต้ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลประชาชนของอ.คีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งในช่วงนั้นมีการเกิดดินสไลด์จึงทำให้ข้อมูลของทางราชการหายทั้งหมดซึ่งเหลือแค่ฐานข้อมูลที่ได้จัดทำไว้เท่านั้น “สามารถทำให้รู้ว่ามีประชาชนได้รับความเสียหายเท่าไหร่โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชา” และเมื่อพล.ต.ฤทธี จบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้บรรจุเป็นอาจารย์ ส่วนจำลองยุทธ์ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งช่วยในการพัฒนาต่อเติมและนำไปใช้ของระบบจำลองยุทธ์ในการฝึกของกองทัพบก หลังจากนั้นได้พัฒนาระบบเพื่อเก็บข้อมูลของกำลังพลให้กับกองพันต่างๆ และได้เริ่มก่อตั้งศทท.ทบ. และแปรสภาพมาเป็น ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ในปี 2559 - กีฬา” คือยาวิเศษ ในสมัยเรียนพล.ต.ฤทธี เคยเป็นเล่นกีฬามาก่อน ตั้งแต่สมัยเรียน จปร. เคยเป็นนักกีฬาฟันดาบและสมัยเรียนเรียนโรงเรียนเสนาธิการ ชอบเล่นกีฬาฟุตบอล เมื่อมีเวลาว่างก็มักจะไปเล่นกีฬา ส่วนเวลาว่างนั้นจะแบ่งเป็น 3 ส่วน จะให้เวลากับตัวเองในการค้นคว้าเทคโนโลยี แบ่งให้กับกิจกรรมครอบครัวและ การดูแลการฝึกซ้อมของลูกชาย ที่เป็นนักดาบสากลเยาวชนทีมชาติไทยรุ่นอายุ 17 ปี เป็นมือวางอันดับ 2 ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปแข่งขันระดับโลกที่ประเทศฝรั่งเศส พล.ต.ฤทธี เล่าว่า ลูกชายยังเด็ก จะชอบขับรถคาร์ท แต่ด้วยเหตุที่เป็นกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งการฝึกซ้อมมีขีดจำกัด ในเรื่องของสนาม เนื่องจากก่อนแข่งขันต้องเปลี่ยนรถใหม่ทุกครั้ง จึงทำให้ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายสูง จึงให้ลูกชายเปลี่ยนชนิดกีฬาที่เล่น บังเอิญกับที่ลูกเห็นรูปตนตอนที่แข่งดาบสากล สมัยเรียน จปร. จึงพาลูกไปดูการแข่ง ปรากฏว่าลูกชายชอบ เพราะตรงกับสไตล์ของเขา ที่ชอบความท้าทาย มีความมั่นใจในตัวเองสูง อีกทั้งเพราะลูกเป็นเด็กอยู่ไม่นิ่ง ขี้เบื่อ เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า เด็กไฮเปอร์ ตนจึงหาวิธีรักษาโดยการให้เล่นกีฬาทั้งการขับรถคาร์ท และการเล่นดาบ ซึ่งกีฬาทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นกีฬาที่ต้องมีการฝึกซ้อมหนัก ต้องใช้ไหวพริบในการแข่งขัน ซึ่งในการฝึกซ้อมดาบแต่ละวันจะใช้เวลา 3 ชม. หลังจากเสร็จกิจกรรมการเรียน ซึ่งการรักษาด้วยวิธีแบบนี้ดีกว่าการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน และเห็นผลเป็นอย่างมาก พล.ต.ฤทธี เล่าต่อไปว่า สมัยที่ลูกชายยังเล็กๆ เคยลองหาวิธีรักษาด้วยการพาไปออกรอบตีกอล์ฟ ลองให้ ตีกอล์ฟ แรกๆก็เล่น แต่เมื่อเล่นไปเรื่อยๆ ลูกเริ่มเกิดคำถาม ทำไมต้องตีกอล์ฟด้วย และทำทุกวันซ้ำไปมา ไม่ท้าทาย จึงต้องหาวิธีใหม่และจบลงด้วยขับรถคาร์ท และดาบสากล ซึ่งในการดูแลลูกชาย ก็ต้องขอความร่วมมือกับครูผู้ปกครองที่โรงเรียน เพราะบางเรื่องเราก็จะเตือนเขาไม่ได้เพราะบางเรื่องที่อยู่ที่โรงเรียนเราไม่สามารถดูแลเขาได้ - เป็นตัวอย่างให้ลูก พล.ต. ฤทธี ได้ถ่ายทอดถึงแง่มุมชีวิตครอบครัวว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะไปกันทั้งครอบครัว ไปเป็นแพ็กเก็จ ตลอดเวลา เพราะด้วยไลฟ์สไตส์ที่เหมือนกันๆ ลักษณะครอบครัวที่อยู่ด้วยกันตลอด มีความเชื่อมั่น เชื่อใจในตัวของกันและกัน จึงทำให้ลูกเป็นเด็กมีความมั่นใจ มีความตรงไปตรงมา ทำทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่น มุมานะ และไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เป็นคนไม่ยอมใคร สิ่งไหนถูกว่าว่าไปตามถูก สิ่งไหนผิดก็ยอมรับผิด “สิ่งที่สำคัญคือในฐานะพ่อ เราเองต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกเห็น เช่นการไม่สูบบุหรี่ การไม่ดื่มสุรา ดูแลความอบอุ่นของครอบครัวและขวนขวายหาความรู้อยู่ตลอดเวลา” ก็เหมือนกันในเรื่องของการทำงานให้ความสำคัญของ “ผลงาน” มากกว่า “คน” โดยในการทำงานมีคติประจำใจว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เพราะฉะนั้นการเลื่อนยศ ตำแหน่งงงานของกำลังพลในศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก นั้นเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เพราะเราดูที่งานของผู้ใต้บังคับบัญชา และทุกคนก็จะเติบโตตามลำดับขั้นตอน “ในการทำงานขอให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนถือว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์และมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าในการหวังเรื่องการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง” เรื่อง : ชยณัฎฐ์ มีเงิน ภาพ : สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล