ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา/เสกสรร สิทธาคม อาชีวะตั้งศูนย์ FIX ITช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ สนองพระราชดำรัสร.10 ที่ทรงให้ทุกภาคส่วนเร่งช่วยเหลือ (จบ) จากนั้น นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ร่วมกับผู้บริหารและท้องถิ่นมอบถุงยังชีพที่บรรจุสิ่งของจำเป็นเฉพาะหน้าในการยังชีพอันเป็นขวัญกำลังใจเพื่อให้มีพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป รมว.ศธ.ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์อาชีวะบริการซ่อมสร้างช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ ทั้ง 2 จุดคือที่เทศบาลตำบลท่าชีและเทศบาลตำบลเขาหัวควายที่วิทยาลัยสังกัดอาชีวะจากจังหวัดต่างๆมาตั้งศูนย์ฟิกซ์ อิท หรือศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อประชาชนให้บริการซ่อมแก้เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นพัดลม เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ หม้อหุงข้าวเป็นต้น แล้วก็ดูแลซ่อมมอเตอร์ไซค์ เครื่องยนต์ทางการเกษตร เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น การให้บริการเป็นนโยบายสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.)ที่มอบให้วิทยาลัยทุกแห่งน้อมนำเอาหลักการดำเนินชีวิตปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือทำให้นักเรียนนักศึกษาได้ลงมือแก้ปัญหาตามที่เจอจริงกับเครื่องไฟฟ้า กับมอเตอร์ไซค์ กับเครื่องยนต์อื่นๆจะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในงานสายอาชีพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ได้หล่อหลอมซึมซับความสามัคคี ได้ฝึกฝนการให้ผ่านการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อซึมซับการรู้จักเสียสละ ซึมซับความไม่โลภ ซึมซับความเมตตากรุณา ความอดทน ความขยัน เพราะการไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้ไม่มีสิ่งของตอบแทน นอกจากจะได้รับความสุขใจที่มีส่วนช่วยคนอื่น ซึ่งที่พูดคุยทั้งกับครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษาก็ได้รับคำตอบตรงกันว่าไม่ได้คิดถึงสิ่งของตอบแทน ทำไปแล้วมีความสุขใจแล้วก็ได้สัมผัสปัญหาที่เจอของจริงจากเครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านที่เสียเพราะแช่น้ำ จากนั้นรมว.ศธ.พร้อมคณะลงเรือเข้าไปยังพื้นที่บ้านที่น้ำท่วมโดยชาวบ้านยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพบปะพูดคุยเป็นกำลังใจกันแล้วมอบถุงยังชีพเครื่องดำรงชีวิตประจำวันในหลายจุด ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการกอศ. เปิดเผยว่าสอศ. ได้ระดมทีม “อาชีวะบริการ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้” 200 ศูนย์ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2560 นักศึกษาอาชีวศึกษาได้ให้บริการซ่อมซ่อมแซมเครื่องมือ/อุปกรณ์ประกอบอาชีพ เครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย ในช่วงเวลามาถึงวันนี้(19มค.)รวมทั้งสิ้นกว่า 41,315 รายการ แบ่งเป็นเครื่องมือ/เครื่องจักรกลเกษตร 1,538 รายการ ยานพาหนะทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ 17,918 รายการ เครื่องใช้ไฟฟ้า/เครื่องใช้ในครัวเรือน 20,290 รายการ ก่อสร้างซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 549 รายการ ระบบไฟฟ้า 1,020 รายการ และอื่น ๆ 1,662 รายการ คาดเสร็จภารกิจในช่วงแรกอยู่ระหว่าง 14-21 มกราคม 2560 ยอดให้บริการช่วยเหลือของศูนย์ น่าจะมีกว่า 100,000 รายการ เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า สอศ. ตระหนักถึงการลงพื้นที่ให้บริการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า เน้นหลักต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนความทุกข์ที่ได้รับจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ที่สร้างความเสียหายมากมาย ได้รับทุกข์อย่างแสนสาหัสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้ครูอาจารย์นักเรียนนักศึกษาได้ช่วยเหลือคนอื่นก็นับเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาอาชีวะได้ซึมซับสัมผัสปัญหาที่เกิดขึ้นจริงสร้างความชำนาญในสายวิชาชีพที่เรียนคือการซ่อมสร้างเครื่องใช้อุปกรณ์ในการดำเนินชีวิตต่างๆของชาวบ้าน แล้วได้มีโอกาสซึมซับหลักการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชน้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเช่นเรื่องการซึมซับในการช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่มุ่งหวังค่าตอบแทน มุ่งแต่จะช่วยบรรเทาทุกข์ร้อนให้คนอื่นให้ได้พ้นจากความเดือดร้อนโดยเร็ว เป็นการทำประโยชน์ให้สังคมเป็นการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่กำลังทุกข์ การได้ซึมซับทำงานร่วมกับคนอื่นรู้จักความสามัคคี ให้อภัย เอื้อเฟื้อแบ่งปัน การไปอยู่ในพื้นที่ไม่ใช่สุขสบายเพราะเป็นพื้นที่ปัญหาน้ำท่วมจึงต้องฝึกการอดทน ต้องฝึกความขยัน ฝึกการรู้จักละความโลภ “ ถือเป็นห้องเรียนเสมือนจริง ได้บูรณาการ และพัฒนาสมรรถนะ ร่วมกันทั้งครู นักเรียน ชุมชน รวมทักษะวิชาการ และทักษะชีวิต ซึ่งนักศึกษาจะได้ฝึกฝนประสบการณ์ การเรียนรู้ การอยู่ร่วมกันกับชุมชน เป็นการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ของประเทศไทยได้อย่างดี อีกทั้งเป็นการสร้างจิตบริการอาสาให้เกิดขึ้นกับเยาวชน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมูลค่าเพิ่มที่สำคัญแก่นักศึกษาอาชีวศึกษา และภาพลักษณ์ที่ดี”เลขาธิการกอศ.กล่าว สถานการณ์น้ำท่วมเฉพาะของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการประเมินสถานการณ์อุทกภัย ระหว่างวันที่ 4 – 13 มกราคม 2560 โดยสำนักงาน ปภ.สุราษฎร์ธานี ได้รายงานสถานการณ์ น้ำท่วมพื้นที่เสี่ยงภัย มีจำนวน 17 อำเภอ 98 ตำบล 706 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือนร้อน 79,125 คน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย พื้นที่ทำการเกษตรเสียหาย 13,679 ไร่ ถนนเสียหาย 40 สาย คอสะพาน 31 แห่ง มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 270 ล้านบาท อาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีกำหนดศูนย์อาชีวะบริการผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ พื้นที่ 9 อำเภอ จำนวน 35 ศูนย์ ดังนี้ ​อำเภอไชยา จำนวน 11 ศูนย์​ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จำนวน 8 ศูนย์ อำเภอ ท่าชนะ จำนวน 5 ศูนย์ อำเภอพระแสง จำนวน 3 ศูนย์ อำเภอดอนสัก จำนวน 2 ศูนย์ อำเภอนาสาร จำนวน 2 ศูนย์​อำเภอบ้านนาเดิม จำนวน 2 ศูนย์​ อำเภอพุนพิน จำนวน 1 ศูนย์ และอำเภอเวียงสระ จำนวน 1 ศูนย์​ ​ศูนย์อาชีวะบริการผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องยนต์ เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในภาพรวม ขณะนี้ ประมาณ 13,686 ชิ้น และประชาชนผู้มาใช้บริการ 10,200 คน (ข้อมูลวันที่ 17 มกราคม 2560)