ยกชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนริมคลอง ทั้งรัฐและเอกชนร่วมสนับสนุน สร้างบ้านเสร็จทั้งชุมชนแล้ว 65 หลัง แก้ปัญหาบุกรุกคลองและช่วยการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดย รมว.พม.ร่วมมอบทะเบียนบ้าน-บ้านกลาง ทุนอาชีพ-การศึกษาเด็ก ขณะที่ พอช.ตั้งเป้าสนับสนุนการสร้าง “บ้านประชารัฐริมคลอง” ปีนี้ 3,672 หลัง ด้าน กทม.จี้บริษัทรับเหมาเร่งตอกเสาเข็มเดินหน้าสร้างเขื่อนให้ได้ตามแผนงาน ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาชุมชนที่บุกรุกพื้นที่ริมคลองในกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำแผนงาน “บ้านประชารัฐริมคลอง” เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคลองที่ต้องรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ และให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบในการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งนี้การรื้อย้ายบ้านนอกจากแนวคลองและการสร้างบ้านใหม่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วหลายชุมชนตั้งแต่ช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา โดยในขณะนี้มีชุมชนที่รื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมเสร็จทั้งชุมชนแล้ว 1 ชุมชน คือชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ จำนวน 65 หลัง ล่าสุดวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2560) เวลา 10.00 น. ที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ริมคลองลาดพร้าว ซอยพหลโยธิน 54 เขตสายไหม มีพิธีมอบทะเบียนบ้านจำนวน 64 ครัวเรือนให้แก่ชาวชุมชน และมอบบ้านกลางให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญจำนวน 1 หลัง โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธี มีตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม เช่น นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการ พอช. ฯลฯ รวมทั้งสมาชิกเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลองเข้าร่วมงานประมาณ 400 คน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.กล่าวว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญถือเป็นต้นแบบในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยราชการต่างๆ จำนวน 9 หน่วยงาน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมทั้งบริษัทเอกชนเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ จากเดิมที่มีสภาพเป็นชุมชนแออัด บ้านเรือนทรุดโทรม และสภาพแวดล้อมไม่ดี ตอนนี้ชุมชนมีบ้านใหม่ที่สวยงาม มั่นคง มีสนามเด็กเล่น มีสถานที่ออกกำลังกาย และต่อไปก็จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนริมคลองเป็นความร่วมมือ ร่วมใจ ของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นโครงการประชารัฐอย่างแท้จริง นอกจากพิธีมอบทะเบียนบ้านและบ้านกลางให้แก่ชาวชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ยังร่วมกันมอบทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนจำนวน 40 ทุนๆ ละ 1,000 บาท, มอบเก้าอี้รถเข็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการจำนวน 5 คัน, มอบผ้าห่มและเครื่องอุปโภคบริโภค 65 ชุด และมอบเงินทุนในการฝึกอาชีพให้แก่ชุมชนจำนวน 7,000 บาทด้วย นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการ พอช.กล่าวว่า พอช. มีเป้าหมายในการได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านประชารัฐริมคลอง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) มีเป้าหมาย 52 ชุมชน จำนวน 7,081 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เพื่อนำงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะเวลา 15 ปีเพื่อสร้างบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วหลายชุมชน ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการรื้อย้ายและก่อสร้างบ้าน โดยมีชุมชนริมคลองที่ก่อสร้างบ้านเสร็จไปแล้วจำนวน 4 ชุมชน รวม 549 ครัวเรือน ส่วนในปีนี้ 2560 จะดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ รวม 33 ชุมชน จำนวน 3,672 ครัวเรือน ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว ระยะทางรวม 2 ฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตรนั้น รายงานข่าวจากบริษัทริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทก่อสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าวไปแล้ว คิดเป็นระยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ บริเวณชุมชนที่เริ่มก่อสร้างเขื่อนในขณะนี้ เช่น ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม, ชุมชนบางบัวร่วมใจพัฒนา เขตหลักสี่, บริเวณพื้นที่ริมคลองตรงข้ามตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงเรือสำรวจความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าว พบว่ามีความคืบหน้าประมาณ 8.8 % ล่าช้ากว่าแผนงานเดิมประมาณ 6.2 % ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ บ้านที่ปลูกสร้างอยู่ริมคลองหลายชุมชนยังไม่ยอมรื้อย้ายออกจากพื้นที่ บริษัทก่อสร้างเขื่อนจึงยังไม่สามารถเข้าไปก่อสร้างหรือตอกเสาเข็มในพื้นที่ริมคลองบริเวณนั้นๆ ได้ ซึ่งตามแผนงานบริษัทฯ จะต้องตอกเสาเข็มได้ประมาณ 10,000 ต้น แต่จนถึงขณะนี้สามารถตอกเสาเข็มได้ประมาณ 5,105 ต้น เนื่องจากติดปัญหาเรื่องชุมชนที่ยังไม่ยอมรื้อย้าย ทำให้มีอุปสรรคในการลำเลียงเครื่องจักร อุปกรณ์การก่อสร้าง และเสาเข็มเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าหมายที่จะให้บริษัทรับเหมาตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนให้ได้วันละ 50 ต้น จากเดิมที่ตอกเสาเข็มได้ประมาณวันละ 30 ต้น โดยจะมอบหมายให้สำนักงานเขตแต่ละพื้นที่นำบริษัทรับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และเพื่อให้การสร้างเขื่อนระบายน้ำเป็นไปตามแผนงาน โครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวเริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จากบริเวณอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 (บริเวณกิโลเมตรที่ 9 คลองแสนแสบเชื่อมกับปากคลองลาดพร้าว เขตวังทองหลาง) ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์เขื่อนยักษ์ (อุโมงค์พระราม 9 และอุโมงค์บางซื่อ) ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและลงสู่ทะเล โดยบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้จากกรุงเทพมหานครในวงเงิน 1,645 ล้านบาท (เริ่มสัญญา 15 มกราคม 2559 - 27 มิถุนายน 2562 ) มีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างประมาณ 25 - 38 เมตร และจะขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรตลอดแนวคลองด้วย