"เธอตายเพราะเขา" ไมค์ เฮเกอร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเสียชีวิตของมารดาวัย 75 ปี หลังจากเธอถูกปฏิเสธไม่ให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากคำสั่งฝ่ายบริหารที่ลงนามโดย "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" เมื่อสัปดาห์ก่อนห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯ มารดาของนายเฮเกอร์ อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1995 เสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น หลังจากไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่องจากอิรักเดินทางไปยังสหรัฐฯ หลังจากครอบครัวตัดสินใจเดินทางกลับไป เพราะเธอป่วยต้องได้รับการรักษา แม้ว่าเธอจะแสดงตนว่ามีกรีนการ์ดก็ตาม นายเฮเกอร์ซึ่งเกิดที่อิรัก ถ่ายทอดเรื่องราวใจสลายเมื่อมารดาบนรถเข็นถูกพาออกจากอาคารผู้โดยสารเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาเห็นเธอยามมีชีวิต พร้อมทั้งอธิบายว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทำลายครอบครัวของเขา "พวกเขาทำลายเรา ผมไปครอบครัว พวกเขาทำลายครอบครัวเรา เจ้าหน้าที่บอกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งมีคำสั่งเดี๋ยวนี้ พวกคุณไปไม่ได้ ผมช็อคมาก ผมพาแม่กลับ แม่นั่งบนรถเข็น พาเธอกลับแล้วเรียกรถพยาบาล เธอเศร้า เศร้ามากๆ" "เธอรู้ตอนนั้นเลยว่าถ้าเราส่งเธอไปโรงพยาบาล ว่าเธอกำลังจะตาย" นายเฮเกอร์เกิดที่อิรัก และในช่วงสงครามอ่าว เขาและครอบครัวได้หนีออกไปใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 4 ปีก่อนที่จะลงหลักปักฐานในดีทรอยด์ ในช่วงทศวรรษ 2000 เขากลับมาที่อิรัก ซึ่งเขาทำงานเป็นกองกำลังพิเศษของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2003 ถึง 2008 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ล่าม และที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม ตอนนั้นมารดาของเขายังอยู่ในสหรัฐฯ นอกเหนือจากจะโทษว่าเป็นเพราะคำสั่งที่ว่าของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำให้มารดาของเจาต้องตาย เขายังบอกด้วยว่า มันทำให้เขา และครอบครัวรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการไม่ว่าที่ไหน "ผมเชื่อจริงๆ จากใจเลยว่าถ้าพวกเขาให้เรากลับไป วันนี้แม่ของผมก็คงกำลังนั่งอยู่ข้างๆ เธอจากไปก็เพราะเขา นี่เป็นบ้านของเรา เราอยู่ที่นี่มานาน" ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารให้ระงับการการเดินทางเข้าประเทศของผู้ลี้ภัยชั่วคราว และห้ามผู้อพยพจาก 7 ประเทศได้แก่อิหร่าน อิรัก ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน เข้าประเทศ โดยให้เหตุผลว่า ป้องกันกลุ่มก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงเข้ามาในสหรัฐฯ อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องใจสลายของของเจ้าบ่าวชาวสหรัฐฯ เมื่อภรรยาชาวอิหร่านถูกห้ามเข้าประเทศ รูซเบห์ อาลิอาบาดิ พนักงานพบริษัทให้คำปรึกษาวัย 32 ปีและซิโนอัส สถาปนิกสาววัย 31 ปี พบกันที่กรุงเตหะราน เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทั้งคู่ตกหลุมรัก และแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่อิหร่าน อาลิอาบาดิ กลับมาสหรัฐฯ เพื่อดำเนินการเรื่องของวีซาให้ภรรยามาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เขาตื่นเต้นที่จะได้ให้เธอรู้จักกับประเทศที่เขารัก ฉลองวิวาห์ด้วยกัน แล้วก็สร้างครอบครัว ซึ่งฝ่ายหญิงจะได้มองหางาน ส่วนเขาเองกำลังจะศึกษาต่อปริญญาเอก 17 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งคู่ได้รับข่าวดีว่าสถานะผู้อยู่อาศัยถาวรของฝ่ายหญิงได้รับอนุมัติโดยทางการสหรัฐฯ แล้ว ทั้งสองคนวางแผนจะมาเจอกันวันวาเลยไทน์ แต่หลังจากนั้น รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกวีซาของประชาชนจาก 7 ประเทศชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน นั่นทำให้เขาหัวใจสลาย "ผมไม่คิดว่าจะแต่งงานได้ ถ้าวันนั้นไม่มีเจ้าสาว เอาจริงๆ เราเพิ่งจะพับแผน" เจ้าตัวซึ่งอาศัยอยู่กับครอบครัวที่พิตต์สเบิร์ก เพนซิลเวเนียกล่าว "รักของเราจะแข็งแกร่งยิ่งกว่าการแบน และกำแพงของคุณ เราทุกคนล้วนแต่ต้องการให้สหรัฐฯ ปลอดภัย แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือเรื่องเหล่านี้กระทบต่อการใช้ชีวิตของเรา" อาลิอาบาดิกล่าวว่า เขาเคยตกอยู่ในภาวะที่จ้องเผชิญกับอคติ และการถูกตัดสินก่อนในฐานะที่เป็นมุสลิม แต่ก็ไม่เคยถึงขั้นสั่งห้ามเข้าประเทศชั่วคราวแบบนี้ แม้แต่หลังเกิดเหตุโจมตี 11 กันยายน 2001 ตาม "ขณะที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ทุกวันนี้คนแบบผม พวกเรารู้สึกถึงความกลัว" ปัจจุบันมีชาวอิหร่านมากกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในสหัฐฯ และในปี 2015 มีชาวอิหร่านเดินทางเข้ามาด้วยวีซาท่องเที่ยว แม้ซิโนอัสจะได้รับสถานะให้อยู่อาศัยแล้ว แต่เธอก็ยังต้องการวีซา และเพื่อที่จะให้ได้วีซาเข้าสหรัฐฯ เธอจำเป็นจะต้องไปทำเรื่องในประเทศอื่น เพราะสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะรายปิดไปตั้งแต่ปฏิวัติอิสลามช่วงปี 1979 นั่นหมายถึงเวลา และค่าใช้จ่าย ยังไม่นับรวมความยุ่งยากวุ่นวายอีกมาก อาลิอาบาดิบอกว่า ตอนนี้เขากำลังรับมือกับความยุ่งยาก 2 ด้าน ข้างหนึ่งคือแสดงให้เห็นว่า คนอิหร่านอย่างพวกเขาเป็นคนเคารพกฎหมาย เป็นคนดีที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้สหรัฐฯ และอีกด้านก็คือกับภรรยาของเขาเพราะไม่อยากจบลงที่การหย่าร้าง "ผมพยายามบอกเธอว่า อย่าไปฟังประธานาธิบดีคนที่ 45 ที่นี่เป็นประเทศที่ดีจริงๆ แต่เธอไม่เข้าใจ เธอกำลังอยู่ในภาวะช็อก แต่อย่างไรผมก็มีศรัทธาที่ดีมากๆ ต่อระบบการเมืองของประเทศนี้" ประชาชนกว่า 4 ล้านคนทั่วโลกลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับคำสั่งห้ามนี้ ว่าเป็นความกลัว ความเกลียดชัง และความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ล่าสุดมีความคืบหน้าออกมาจาก 1 ใน 7 ประเทศที่ประชาชนถูกสั่งห้ามเข้าสหรัฐฯ ชั่วคราวแล้ว โดยนายวาลิโอลเลาะห์ ชีฟ ผู้ว่าการธนาคารกลางของอิหร่าน ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลอิหร่านจะยกเลิกการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลหลักอื่นที่มีเสถียรภาพแทนสำหรับธุรกรรมการเงิน และการซื้อขายแลกเปลี่ยนต่างๆ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการยกเลิกวีซาท่องเที่ยวทั้งหมดของพลเมืองสัญชาติสหรัฐฯ ด้วย อีกหนึ่งตัวอย่างเป็นเรื่องของครอบครัวชาวอิรัก ฟูอัด ชารีฟ และภรรยา ซึ่งหากทั้งคู่รู้มาก่อนว่าจะมีเรื่องนี้เกิดขึ้น พวกเขาคงยังไม่ตัดสินใจลาออกจากงาน ขายทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อเดินทางออกจากอิรักพร้อมกับลูกๆ "หลังจากรอยู่สองปี พวกเขาก็ยอมรับว่าผมไม่ใช่ภัยคุกคามต่อประเทศ หรือประชาชนสหรัฐฯ" ชารีฟ ทำงานให้ RTI International ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในอิรัก โดยหลักการแล้วเขาจะได้วีซาผู้อพยพ เขาตั้ง ความหวังกับชีวิตใหม่ในดินแดนพญาอินทรี แต่ตอนนี้กลับต้องถอยหลังกลับไปที่อิรักเหมือนเดิม "ผมช่วยรัฐบาลสหรัฐฯ ทำงานร่วมกับพวกเขาในช่วงเวลาที่วิกฤติ ชีวิตผมเสี่ยงในอันตราย แต่ตอนนี้ดูสิ่งที่ทรัมป์ และรัฐบาลเขาทำกับเรา" เจ้าตัวพูดถึงเพื่อนร่วมงานไม่น้อยที่ถูกสังหาร ครอบครัวของชารีฟออกเดินทางไปไคโร เพื่อต่อเครื่องไปสหรัฐฯ แต่ที่นั่นพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง ตอนแรกเจ้าหน้าที่สนามบินออกตั๋วให้ แต่ต่อมาพวกเขาแจ้งว่า ทั้งครอบครัวถูกห้ามขึ้นเครื่อง เมื่อถามเหตุผล ก็ได้คำตอบว่า สถานทูตสหรัฐฯ ในแบกแดดส่งอีเมล์มาแจ้งเรื่องการระงับเข้าประเทศชั่วคราว ชารีฟ ภรรยา และลูกอีก 3 คนอยู่ในสนามบินไคโร 25 ชั่วโมง ก่อนจะกลับมาอิรักได้ ซึ่งขณะนี้เขาอาศัยในบ้านที่ว่างเปล่าของน้องเขย ด้วยเงินเก็บที่เหลืออยู่ "ผมขายทรัพย์สิน ลาออกจากงาน ภรรยาผมก็ลาออกด้วย เด็กๆ ก็ลาออกจากโรงเรียนแล้ว ผมมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งสำหรับการใช้ชีวิต ตอนนี้เราไม่มีงาน เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน" รัฐบาลอิรักเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนเรื่องนี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และตอนนี้รัฐสภาอิรักเองก็มีมติออกมาแล้วว่าหากสหรัฐฯ ไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ก็จะดำเนินการจำกัดการเข้าประเทศของประชาชนสหรัฐฯ ด้วย