แกล้งดิน...กุญแจ...ไขสู่ความสำเร็จการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด มรดกแห่งภูมิปัญญาที่พ่อสร้าง...สู่การพัฒนาอาชีพ กิตติศักดิ์ ประชุมทอง นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่พรุมากถึง 261,860 ไร่ ซึ่งเดิมสภาพพื้นที่พรุส่วนใหญ่ยังคงสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์มีพืชพรรณธรรมชาติที่เรียกว่า “ป่าพรุ” ขึ้นอย่างหนาแน่น มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเกษตรมีมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่เหล่านี้เป็นป่าที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าทำให้มีการบุกรุกพื้นที่เพื่อใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะบริเวณขอบพรุที่ติดกับสันทรายหรือที่ดอนที่ขนาบพรุอยู่ เกษตรกรมีการระบายน้ำออกเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและมีเนื้อดินเป็นดินเหนียวจัดส่วนใหญ่จึงใช้ในการทำนาข้าว แต่การระบายน้ำออกจากพื้นที่ดังกล่าวทำให้ดินกลายเป็นดินเปรี้ยวจัด ดินมีปฏิกิริยาความเป็นกรดรุนแรงมาก การปลูกข้าวในพื้นที่ดังกล่าวมักจะให้ผลผลิตต่ำมาก พื้นที่เหล่านี้จึงถูกทิ้งให้เป็นที่รกร้าง นับตั้งแต่ปี 2516 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณ ราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง ทรงพบเห็นราษฎรประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกินที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2525 เพื่อทรงศึกษาทดลอง วิจัย หาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่พรุ โดยมีพระราชดำริ “...ให้มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่พรุอื่นๆ ในโอกาสต่อไป...” ซึ่งจากผลการศึกษาดังกล่าวสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปช่วยเหลือราษฎรในการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำมาหากินได้ แกล้งดิน หรือ“โครงการแกล้งดิน” เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวทางในการศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด โดยเริ่มต้นจากการเร่งดิน ให้เป็นกรดรุนแรง จนถึงจุดที่ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจใดๆ ได้ ซึ่งวิธีการเร่งดินให้เป็นกรดรุนแรงนี้ พระองค์ทรงเรียกว่า “การแกล้งดิน หรือ การทำให้ดินโกรธ” จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินให้กลับมาใช้ประโยชน์ และได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2532 ความว่า “ให้เริ่มดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงดิน โดยศึกษาปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด ที่ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้แล้ว ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้” โครงการแกล้งดิน นี้ ถือเป็นโครงการสำคัญยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดมาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนองพระราชดำริ โดยทำการศึกษาทดลองวิจัย ซึ่งเริ่มจาก“แกล้งดินให้เปรี้ยวจัด” ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน เป็นการกระตุ้นให้สารไพไรท์ ที่สะสมอยู่ในดิน ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ และปลดปล่อยกรดกำมะถันขึ้น ทำให้ดินมีปฏิกิริยาเป็นกรดรุนแรง ซึ่งเป็นวิธีการ “แกล้งดินให้เปรี้ยวจัดสุดขีด” เป็นจุดที่พืชต่างๆ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จากนั้นให้หาวิธีการปรับปรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การใช้น้ำล้างดิน การใช้วัสดุปูนไปสะเทินกรด และการใช้น้ำล้างดินควบคู่กับการใช้วัสดุปูน จนสามารถแก้ความเป็นกรดของดินได้เป็นผลสำเร็จ ข้าวที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำองค์ความรู้จากโครงการแกล้งดินนี้ ไปศึกษาวิจัย ทดสอบในการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดเพื่อการปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล และไม้ยืนต้นอื่นๆ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จนพืชต่างๆ เหล่านี้สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ พระราชดำริ สู่การศึกษา วิจัย โครงการแกล้งดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527 ความว่า “...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยวเพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทดลองควรเป็นข้าว...” ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการจัดทำงานศึกษา ทดลองวิจัย โครงการแกล้งดิน ในปี 2529 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 (มกราคม 2529 – กันยายน 2530) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดิน แบ่งพื้นที่เป็น 6 แปลง เพื่อเปรียบเทียบระหว่างดินที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ (แปลง 5 – 6) กับดินที่ทำให้แห้งและเปียกสลับกัน โดยวิธีการสูบน้ำเข้า – ออก (แปลง 1 – 4) การทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน ดินจะเป็นกรดรุนแรงและมีผลต่อการเจริญเติบโตของข้าว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการแกล้งดิน ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริ แก่ผู้ทำงานศึกษาทดลองวิจัย ความว่า “...ให้ดำเนินการศึกษาต่อเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาดินเปรี้ยวจัดต่อไป...” ศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิกุลทองฯ จึงเริ่มดำเนินงานต่อเป็น ช่วงที่ 2 (ตุลาคม 2530 – ธันวาคม 2532) แปรผันช่วงเวลาดินแห้งและเปียกให้แตกต่างกันในแต่ละแปลง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน และทดลองหมุนเวียนน้ำในแปลงที่ 5 เพื่อมิให้ มีการชะล้างดิน ซึ่งพบว่าการปล่อยให้ช่วงเวลาดินแห้งนานกว่าช่วงเวลาเปียกมากๆ ดินจะเปรี้ยวจัดเร็วขึ้น ข้าวไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จากการทดลองพบว่าข้าวตายภายหลังปักดำ 1 เดือน (แปลง 1 – 3) การหมุนเวียนน้ำโดยไม่ระบายออก กรดและสารพิษจะสะสมในดินมากขึ้น (แปลง 5) ส่วนแปลงที่ปล่อยตามธรรมชาติ (แปลง 6) ดินมีการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดอย่างช้าๆ และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อทรงติดตามการดำเนินงานโครงการฯ และได้พระราชทานพระราชดำริ ความว่า “...ให้เปลี่ยนแปลงวิธีการ สูบน้ำเข้าออกในแต่ละแปลงใหม่ โดยแบ่งช่วงระยะเวลาที่ทำให้ดินแห้งและเปียกในแต่ละแปลง ให้แตกต่างกัน...” และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2532 พระราชทานพระราชดำริ ความว่า “...ให้เริ่มดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงดิน โดยศึกษาปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดที่ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้แล้วให้สามารถใช้ประโยชน์ได้...” ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยต่อเป็น ช่วงที่ 3 (มกราคม 2533 – ปัจจุบัน) หลังจากแกล้งดินจนเป็นกรดรุนแรง จนไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้แล้ว จึงดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด ให้ปลูกพืชได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ 1) การใช้น้ำล้าง ความเป็นกรดในปีแรกสามารถปลูกข้าวได้ แต่ให้ผลผลิตต่ำและค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีต่อมา ระยะเวลาล้างดินที่เหมาะสมคือ ขังน้ำแล้วเปลี่ยนทุกๆ 4 สัปดาห์ 2) การใส่หินปูนฝุ่นข้าวเจริญเติบโตและให้ผลผลิตโดยเพิ่มขึ้นตามอัตราของปูน คือ การไม่ใส่ปูน การใส่ปูนในอัตราเศษหนึ่งส่วนแปด การใส่ปูนในอัตราเศษหนึ่งส่วนสี่ และเศษหนึ่งส่วนสอง ของความต้องการปูน) 3) การใส่ปูนอัตราต่ำเพื่อสะเทินกรดควบคู่กับการขังน้ำ แล้วเปลี่ยนน้ำทุกๆ 4 สัปดาห์ จะปลูกข้าวได้ผลดีที่สุด 4) หลังจากปรับปรุงดินแล้วควรใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นดินจะกลับมาเปรี้ยวรุนแรงอีก 5) การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผลจำเป็นต้องใส่หินปูนฝุ่นปรับปรุงดินก่อน 6) การปลูกไม้ผลในดินเปรี้ยวจัด ควรยกร่องเพื่อป้องกันน้ำท่วม และจะช่วยล้างกรดบนคันดินลงสู่คูด้านข้าง และ 7) ดินเปรี้ยวจัดในสภาพที่ไม่ถูกรบกวน ความเป็นกรดจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ และมีพืชพรรณธรรมชาติที่ทนกรดขึ้นได้ แกล้งดิน...กุญแจ...ไขสู่ความสำเร็จการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด วันที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าโครงการแกล้งดิน ทรงมีพระราชดำริ ความว่า “...โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา 3 ปีแล้วหรือ 4 ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำ สำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่นี่ เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดู เราทำอย่างนี้แล้วเขาพอใจ เขามีปัญหาแล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้...” และ “...งานทดลองนี้เหมือนเป็นตำรา ควรทำเป็นตำรา ที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่นๆ...” และวันที่ 14 ตุลาคม2536 ความว่า “...ให้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงนี้ไปอีกนานๆ เพื่อติดตามดูว่าความเป็นกรดของดินจะอยู่ตัวได้คือเท่าไร...” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำผลสำเร็จจากโครงการแกล้งดิน นี้ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด เพื่อปลูกข้าวที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน อำเภอตากใบเป็นแห่งแรก ในปี 2537 ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ข้าวให้ผลผลิตถึง 50-60 ถัง/ไร่ จากพื้นที่นาร้างป่าเสื่อมโทรม สภาพดินเป็นดินเปรี้ยวจัดและขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเดิมเกษตรกรปลูกพืชไม่ค่อยได้ผล ปลูกข้าวให้ผลผลิตแค่ 5-10 ถัง/ไร่ เท่านั้น ในปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ แปรเปลี่ยนเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมกระดังงา ที่สำคัญของจังหวัดนราธิวาส และผลิตภัณฑ์ ข้าวซ้อมมือหอมกระดังงา เป็นที่นิยมและรู้จักของคนทั่วไป จากนั้นได้นำผลสำเร็จนี้ ไปจัดทำแปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพื้นที่ ดินเปรี้ยวจัดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และได้ขยายผลไปสู่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 13 หมู่บ้าน เนื้อที่ 7,850 ไร่ การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดในที่ลุ่มเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ประมาณ 27,233 ไร่ โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์ – เกษตรมูโนะ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 1,500 ไร่ โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านยูโย โคกงู โคกกระท่อม อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 30,065 ไร่ โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เนื้อที่ 500 ไร่ โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านปลักปลา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 400 ไร่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าว โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง อำเภอตากใบ โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด บ้านโคก-จูโว๊ะ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 12,388 ไร่ โดยดำเนินการพัฒนาพื้นที่ให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง และสนับสนุนการขุดยกร่องส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ผลแบบผสมผสาน และโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวบ้านเนินธัมมัง และบ้านค้อแดง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ พื้นที่ ดินเปรี้ยวจัดทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้มีประมาณ 970,563 ไร่ ได้ทำการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดแล้วกว่า 2 แสนไร่