ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น พระเมรุมาศ งานรวมช่างศิลปกรรมชาติ ดังที่ท่าน อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ผู้เคยออกแบบพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพมาแล้ว 3 พระเมรุ ได้กล่าวไว้ “พระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่แสดงภูมิปัญญาช่างชั้นสูง เป็นที่ยกย่องมาแต่โบราณว่า ผู้ใดก็ตามที่ออกแบบสร้างสรรค์พระเมรุมาศ พระเมรุ ถือว่าเป็นผู้รอบรู้เจนจบในงานศิลปกรรมของชาติ เพราะได้รวบรวมงานช่างศิลปะทุกประเภทไว้พร้อมสรรพ” การจัดสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้รวมวิชาช่างสรรพศิลป์ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม จิตรกรรม ไว้ในพระเมรุฯ เช่นเดียวกัน สำหรับคติการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ เพื่อใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ ในสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดการปกครองแบบเทวนิยม “หลักฐานที่กล่าวถึงการจัดพระราชพิธีพระบรมศพเก่าแก่ที่สุดนั้น ปรากฏในหนังสือไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของชาติไทย พระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีระกา พุทธศักราช 1888 พรรณนาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราช ...” (ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ , อาวุธ เงินชูกลิ่น , กรมศิลปากรเผยแพร่) และจากข้อมูลเดียวกัน (คัดสังเขป) “ล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานการพระศพ กระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวเฉพาะลักษณะพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการจัดพิธีกรรม การสร้างพระเมรุมาศในสมัยอยุธยายิ่งใหญ่โอฬารมาก ปรากฏตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดารว่า พระเมรุมาศสูงถึง 2 เส้น มีปริมณฑลกว้างใหญ่ เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะสร้างพระเมรุทองอยู่ในพระเมรุใหญ่... ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พรรณนาเฉพาะตอนถวายพระเพลิง แห่พระบรมอัฐิและพระอังคาร และงานพระเมรุมาศสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้เช่นกัน ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัดทอนอย่างมากในรัชกาลที่ 5 ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการกำหนดจัดการพระบรมศพของพระองค์ไว้ก่อนเสด็จสวรรคตหลายประการเป็นต้นว่า ให้สร้างพระเมรุมาศมีขนาดเล็กเพียงพอแก่ถวายพระเพลิงได้ มิให้สูงถึง 2 เส้นดังแต่กาลก่อน ครั้นรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกตัดทอนการปลูกสร้างพระเมรุมาศและการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระองค์ลงอีกหลายประการ งานพระเมรุจึงลดขนาดลงนับตั้งแต่นั้นมา การสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง สำหรับถวายพระเพลิงจะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานคติการสร้างว่า “พระเมรุ” ได้ชื่อมาแต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปราสาทน้อยที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติเป็นชั้นๆ ลักษณะประดุจเขาพระเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกเลียนชื่อว่า พระเมรุ ...คนไทยมีความเชื่อและยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติของพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขาสัตตบริภัณฑ์ ดังนั้น จึงนำคติความเชื่อจากไตรภูมิมาใช้ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิงเพื่อให้ได้ถึงภพแห่งความดีงาม อันมีแดนอยู่ที่เขาพระเมรุนั้นเอง สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะมีส่วนจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ ดังเช่น โบราณจะมีรูปสัตว์หิมพานต์ลักษณะหลากหลายนานาพันธุ์ บนหลังตั้งสังเค็ดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ เข้าขบวนแห่อัญเชิญพระศพ ลักษณะพระเมรุมาศ พระเมรุ ที่ปรากฏแต่โบราณมี 2 ลักษณะ คือ พระเมรุทรงปราสาท และ พระเมรุทรงบุษบก พระเมรุทรงปราสาท คือ อาคารพระเมรุมีรูปลักษณะอย่างปราสาท สร้างเรือนบุษบกบัลลังก์คือพระเมรุทองซ้อนอยู่ภายใน ... พระเมรุทรงปราสาทนี้มี 2 ลักษณะ คือ พระเมรุทรงปราสาทยอดปรางค์ และพระเมรุทรงปราสาทยอดมณฑป พระเมรุในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีลักษณะนี้ พระเมรุทรงบุษบก คือ พระเมรุที่สร้างบนพื้นที่ราบ โดยดัดแปลงอาคารปราสาทเป็นเรือนบุษบก ขยายพระเมรุทองในปราสาทที่เป็นเรือนบุษบกบัลลังก์แต่เดิมให้ใหญ่ขึ้น เพื่อการถวายพระเพลิง ... ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยึดถึอเป็นแบบพระเมรุมาศพระมหากษัตริย์สืบต่อมา การตกแต่งพระเมรุมาศ พระเมรุ ให้งามวิจิตรมีอยู่ 2 ประการ คือ ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และ ตกแต่งอย่างพระเมรุสี ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง ได้แก่ ปิดทองล้วนทั้งทองจริงและทองเทียม หรือปิดทองล่องชาดให้พื้นสีแดงมีลายทอง หรือปิดกระดาษทองย่นมีสาบสีแดงปิดอย่างพระเมรุทอง มักใช้กับพระมหากษัตริย์ พระเมรุสี หรือเมรุลงยาราชาวดี จะใช้สีจากวัสดุหลายประเภท ได้แก่ ประดับกระจกสี สอดสีด้วยกระดาษสี กระดาษตะกั่วสี เพิ่มสีสันให้พระเมรุองค์นั้นๆ มีความงดงาม ซึ่งการเลือกสีขึ้นอยู่กับช่างที่จะศึกษาความสัมพันธ์กับพระบรมศพหรือพระศพที่จะถวายพระเพลิง เช่นเป็นสีประจำวันประสูติ เป็นต้น นอกจากพระเมรุมาศ พระเมรุแล้ว มีอาคารประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ รวมทั้งปริมณฑลโดยรอบ มีดังนี้ ซ่าง / ส้าง หรือ สำส้าง , ทับเกษตร , พระที่นั่งทรงธรรม , หอเปลื้อง , ศาลาลูกขุน , ทิม , เกย , พลับพลายก และเครื่องประกอบตกแต่งบริเวณมณฑลพระเมรุมาศ พระเมรุ มีดังนี้ ราชวัติ , ฉัตร , ฉากบังเพลิง , รูปปั้นเทวดา , สัตว์หิมพานต์ และพระโกศไม้จันทน์ รายละเอียดส่วนนี้จะได้นำเสนอในคราวถัดไป สำหรับพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เป็นพระเมรุทรงบุษบก 9 ยอด วางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร การจัดสร้างพระเมรุฯ ดำเนินการโดยกรมศิลปากร รายละเอียดมีดังนี้ การวางผังอาคารพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยแกนแนวทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวแกนเดียวกับรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นแนวแกนเดียวกับพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร บนฐานชาลา 3 ชั้น ตรงกลางบุษบกประธานประดิษฐานพระจิตกาธาน พระเมรุมาศประดับด้วยเทวดาและสัตว์หิมพานต์ นำจากแนวความคิดในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล ตามปรัชญาและคติความเชื่อของไทย ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือและทิศใต้ แนวคิดในการจัดสะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 9 นำพืชพันธุ์ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัตรนำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ภายในรั้วราชวัตรวางแนวคิดในการเลือกพรรณไม้ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณและพรรณไม้สีเหลือง ขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ ในด้านการจัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ โดยกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ประดับด้วย เทวดายืนรอบพระเมรุฯ จำนวน 12 องค์ (เชิญพุ่มโลหะ 4 องค์ เชิญฉัตร 8 องค์) เทวดานั่งรอบพระเมรุฯ จำนวน 56 องค์ (เชิญฉัตร/บังแทรก) พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม อย่างละ 1 องค์ รวมจำนวน 4 องค์ ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ (ชั้นที่ 3) จำนวน 4 คู่ (8 ตัว) 4 ทิศ ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ (ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก) สัตว์มงคลประจำทิศ (ช้าง ม้า วัว สิงห์) ประดับทางขึ้นบันได (ชั้นที่ 1) ประจำทิศ ทิศละ 1 คู่ จำนวน 8 ตัว ซึ่งขั้นตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปั้นรูปแบบเท่าจริง จากนั้นใส่เครื่องประกอบ เก็บรายละเอียด ทำพิมพ์ หล่อชิ้นงาน ตกแต่งชิ้นงาน ลงพื้นและเขียนสี ลงสีทอง/ปิดทองคำเปลว ประดับแวว และติดตั้งประกอบพระเมรุมาศ นอกจากนี้ ยังได้จัดสร้างประติมากรรม ปั้นรูป “คุณทองแดง” สุนัขทรงเลี้ยงเป็นพิเศษด้วย “ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.01 น. มีพิธีบวงสรวงยกเสาเอกพระเมรุมาศ ซึ่งการดำเนินการจัดสร้างพระเมรุฯ สิ่งปลูกสร้างประกอบต่างๆ รวมทั้งการจัดภูมิทัศน์ จัดสร้างประติมากรรม และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ได้ดำเนินไปตามแผนงานก่อนหน้านี้และต่อเนื่อง ทุกอย่างแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2560” อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว พระเมรุมาศ งานรวมช่างศิลปกรรมของชาติ ภาพ...แบบ 3 มิติ..พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เขียนแบบโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร