ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตามพระราชดำริ (1) ข้อมูลพื้นที่โครงการพัฒนาหนองใหญ่ตามพระราชดำริที่นำเสนอส่วนหนึ่งได้มาจากวารสาร JIBjib เป็นประโยชน์ที่จะขออนุญาตนำมาขยายความต่อเพื่อประชาชนคนไทยได้ร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงสร้างประโยชน์สุขแก่พสกนิกรไทยมาตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ หลายคนเรียกพื้นที่ธรรมชาติกว้างใหญ่แห่งชุมพรนี้ว่า “แก้มลิงหนองใหญ่” ที่มาของชื่อนี้ก็คือแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชที่ทรงให้สร้างเส้นทางเดินน้ำเพื่อพักน้ำไว้ในแก้มลิง ไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่จังหวัดชุมพรดังเคยประสบมาโดยตลอดเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อำเภอเมืองและใกล้เคียง หลังจากพระราชทานแก้มลิงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้แล้วชาวชุมพรก็ร่วมแรงร่วมใจกันสานต่อพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการสร้างศูนย์ความรู้โครงการหนองใหญ่ฯ ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการใช้ชีวิตเรียบง่ายให้กับผู้ที่สนใจ ปลายปี 2559-ต้นปี 2560 อำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพรน้ำท่วมหนักเป็นหนึ่งในแทบทุกจังหวัดภาคใต้ว่ากันว่าก็เพราะปีนี้ฝนตกมากทางภาคใต้มีน้ำหลากมามากมายกว่าปีก่อน ๆ ส่วนหนึ่งพื้นที่ไม่มีคลองรับน้ำที่หลากมาเพื่อดึงลงทะเลน้ำเลยหลากท่วม แต่อำเภอเมืองชุมพรมีหนองใหญ่ตามพระราชดำริรองรับน้ำไม่เกิดน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว ปีนี้ก็ไม่ท่วมแม้น้ำจะเยอะก็เพราะมีคลองหัววัง-พนังตักตามพระราชดำริรับน้ำเพื่อไหลลงทะเล แม้น้ำจะทะลักมามากก็ไม่ทำให้เสียหายหนัก “แก้มลิงหนองใหญ่” คือ แนวพระราขดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นการสร้างเส้นทางเดินน้ำเพื่อพักน้ำไว้ในแก้มลิง ไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างที่จังหวัดชุมพรเคยประสบมาโดยตลอด” ชาวบ้านรวมพลังตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ณ พื้นที่หนองใหญ่นอกเหนือจากสารพันแปลงทดลองที่พร้อมเสมอในการให้ความรู้กับเด็กๆ นักเรียนหรือบุคคลทั่วไป ไม่ว่าแปลงสมุนไพร พืชผักต่างๆ นาข้าว ยังมีการทำไบโอดีเซล การสอนเลี้ยงกบ หมู ไก่ ปลา ให้ชาวบ้านได้มีเทคนิคในการทำมาหากินเพิ่มขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวก็ได้เก็บเกี่ยวเกร็ดความรู้ต่างๆ กลับไปด้วย ความภาคภูมิใจของคนทำงานคือการได้ถวายงานรับใช้ อย่าง นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน ซึ่งในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นนายช่างผู้ดำเนินการก่อสร้างขุดคลองหัววัง-พนังตัก และประตูระบายน้ำ ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ กล่าวว่า “ในขณะนั้นผมเป็นเพียงนายช่างของกรมชลประทาน ได้รับพระราชดำรัสจากพระองค์ท่านผ่านกองงานส่วนพระองค์ให้ดำเนินการขุดคลองหัววัง-พนังตัก จังหวัดชุมพร ให้ทะลุภายใน 30 วัน เพื่อให้เป็นช่องทางสำหรับน้ำไหลผ่าน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพรที่มีมานาน โดยในปี พ.ศ.2540 เมืองชุมพรประสบปัญหาน้ำท่วมจากพายุโซนร้อนซีตาร์ อีกทั้งยังเป็นจุดที่พายุลินดากำลังจะเคลื่อนเข้ามาอีกลูก ด้วยความห่วงใยในราษฎรของพระองค์จึงทรงมีรับสั่งใหกรมชลประทานขุดลอกคลองให้เสร็จสิ้นก่อนพายุจะมา โดยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 18 ล้านบาท ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา อีกส่วนหนึ่งจากมูลนิธิราชาประชานุเคราะห์ฯ เพื่อใช้ก่อสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 3 แห่ง ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งรัดจนแล้วเสร็จ และสามารถใช้ระบายน้ำได้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ก่อนพายุจะเข้ามาในเมืองชุมพรเพียง 1 วัน” นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้หนองใหญ่เป็นแก้มลิงธรรมชาติเพื่อเป็นที่สำหรับรับน้ำจากคลองท่าแซะมาเก็บไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าตะเภาและเมื่อน้ำมีปริมาณที่มากขึ้นก็ค่อยๆ ระบายน้ำลงสู่คลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล นอกจากนี้ยังใช้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย “ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2541 ได้ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานรวม 5 ข้อด้วยกัน คือ 1.สร้างอาคารควบคุมน้ำที่บริเวณต้นคลองและปลายคลองในบริเวณหนองใหญ่ เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ในฤดูแล้ง 2.ควรจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะ 3.ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้ทำการเกษตร และช่วยผันน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล 4.ติดตั้งเครื่องสูบที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1,2 และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักลงสู่ทะเลในช่วงน้ำหลาก 5.ศึกษาปริมาณน้ำที่แน่นอนที่ไหลมนคลองท่าตะเภา เพื่อใช้แก้ไขปัญหาอุทกภัย” นายเฉลิมเกียรติกล่าว จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อประชาชนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขยายผลสู่การรวมกลุ่มของชาวชุมพร สร้างเครือข่าย “จากภูผา...สู่...มหานที” เพื่อฟื้นฟูระบบน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ให้สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรสวยงามดังเดิมและยังคงงดงามตลอดไป ส่วนสำคัญของระบบน้ำ อันเนื่องมาจากรพะราชดำริ คือ ต้นน้ำ หากต้นน้ำสมบูรณ์แล้ว ส่วนอื่นๆ ของระบบน้ำก็จะสมบูรณ์เช่นกัน จากน้ำหยดแรกจนถึงสายน้ำใหญ่ที่ไหลลงสู่ท้องทะเลชุมพรนั้น เริ่มต้นที่ต้นน้ำพะโต๊ะ โดยหน่วยงานอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการรักษาป่า โดยจัดทำโครงการ “คนอยู่ ป่ายัง” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นหัวใจของการมีป่า มีแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม มุ่งให้ความรู้แก่เด็กและชาวบ้าน เพื่อให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติและแหล่งน้ำตาม ธรรมชาติ ผ่านฐานการเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำที่อยู่กับภูเขา การกักเก็บน้ำไว้กับป่าทำฝายต้นน้ำ เก็บดิน เก็บน้ำไว้กับลำธารอันเป็นแนวพระราชดำริพระราชทานไว้ การทำนาขั้นบันไดเพื่อแสดงออกให้เห็นถึงการพึ่งพิงตนเอง การปลูกต้นกล้าเพื่อนำไปปลูก ขยายพื้นที่ป่าสีเขียวและต้นน้ำลำธารให้สมบูรณ์ โครงการธนาคารต้นไม้เป็นการขยายแนวคิดไปสู่ชุมชนให้หันมาปลูกต้นไม้เพื่อรักษาป่า สนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเอง แล้วแปรต้นไม้ให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์ เพื่อนำทรัพย์ที่ได้ไปใช้ในการดำรงชีพ จากต้นน้ำไหลผ่านสู่กลางน้ำเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก่อเกิดการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และเห็นคุณค่าที่สุด ดังสวนลุงนิลคือ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติพืชคอนโด 9 ชั้น ที่ปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อให้ออกดอกออกผลสลับกันไปสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ยังมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่สวนลุงนิล ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ที่นำแนวความคิดและการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ มาปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ ณ พื้นที่จังหวัดชุมพร โดยคนที่สนใจสามารถมาเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี บ้านธรรมชาติวรรณภัสสร ที่นำพืชผักสวนครัวและพืชพรรณสวนที่มีประโยชน์ พัฒนา ผลผลิตในสวนเกษตรอินทรีย์ ต่อยอดเป็นสินค้ามาสร้างมูลค่าให้กับตนเอง นออกจากผลิตสินค้าจากพืชสวนเกษตรอินทรีย์แล้วที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนในการสอนวิชาความรูในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้เองสำหรับคนที่สนใจด้วย ฟาร์มอินทรีย์แปลงฟาร์มเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มุ่งมั่นที่จะเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันที่นี่สามารถแปรรูปนมวัวเป็นผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์รสต่างๆ โดยฟาร์มอินทรรีย์แปลงผลผลิตเป็นแก๊สชีวภาพขึ้นเอง ใช้พลังงานจากแก๊สชีวภาพจากมูลวัว ส่วนกากที่ตกตะกอนในบ่อแก๊สก็ทำปุ๋ยไว้ใช้เพื่อนำไปแจกให้คนในชุมชนเอาไปใส่แปลงที่ปลูกหญ้าและเกี่ยวหญ้ามาขายให้ฟาร์มโคนมแห่งนี้ (อ่านต่อ)