เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง ในปีนี้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจำนวน 2 ราย ที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียยัตร และเงินรางวัลๆ ละ 100,000 เหรียญสหรัฐ ได้แก่ สาขาการแพทย์ เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ และสาขาการสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ซึ่งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน และพระบิดาแห่งการสาธารณสุขของไทย เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2559 ในวันนี้ ขอขอบใจคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ร่วมกันดำเนินการต่างๆ ด้วยดีตลอดมา ในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายแก่ชนทุกชั้นทั่วทุกส่วนของโลก การดำเนินงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวยา และวิธีการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้การรักษาและการป้องกันโรคบรรลุผลสำเร็จ ผลงานของ เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ นับเป็นตัวอย่างอันดีในการค้นคว้าวิจัยจนได้ยารักษาโรคกลุ่มใหม่จากชีวโมเลกุลที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก ส่วนผลงานของศ.นพ.วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ก็เป็นแบบฉบับของการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการดูแลรักษาและการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานอยู่ในปัจจุบัน ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งสองได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปีนี้ และเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ผลงานจากความพากเพียร และความทุ่มเทเสียสละของท่าน เป็นการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ของการแพทย์และการสาธารณสุข ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาลแก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ คณบดีวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ผู้ได้รับรางวัลสาขาการแพทย์กล่าวถึงความรู้สึกว่า มีความปลื้มปีติอย่างมากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ประจำปี 2559 มีความสุขและดีใจ ตื่นเต้นที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้ พร้อมทั้งการต้อนรับที่อบอุ่น การได้รับคัดเลือกทำให้ผลงานของตนเองเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้งานวิจัยแอนติบอดีเข้าถึงกลุ่มเอเชีย เช่น ประเทศจีน อินเดีย เป็นต้น ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักตัวยานี้ และทำให้ตัวยามีราคาค่อนข้างสูง ถ้าเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ก็หวังว่า ผลงานการดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีเข้าถึงผู้ที่รับการรักษาได้ทุกระดับมีราคาที่ถูกลงเมื่อรู้จักและแพร่หลายมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำวิจัยปัจจัยที่จะทำให้ผลงานสำเร็จขึ้นอยู่ที่งบประมาณที่ต้องการนำมาใช้ในงานวิจัยที่ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพและได้ผลการรักษาของโรคอย่างมีประสิทธิภาพสูง มากยิ่งขึ้น “ผลงานที่ผมทำคือการพัฒนาเทคโนโลยีในการดัดแปลงโมเลกุลแอนติบอดีของหนูให้เป็นโมเลกุลเสมือนกับแอนติบอดีของมนุษย์โดยการเปลี่ยนถ่ายทดแทนลำดับพันธุกรรมในตำแหน่งที่สำคัญอย่างเป็นระบบ ทำให้โมเลกุลแอนติบอดีใหม่ที่ได้ยังคงสามารถจับกับเป้าหมายได้อย่างจำเพาะ แต่มีโครงสร้างโมเลกุลเสมือนแอนติบอดีของมนุษย์ที่ไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้สามารถใช้ในการรักษาโรคในมนุษย์ได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมาก เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาแอนติบอดีจำนวนมาก ซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการักษาโรคที่เดิมรักษาได้ยากและมีผลข้างเคียงสูง เช่น โรคกลุ่มภูมิคุ้มกัน โรครคูมาตอยด์ และโรคมะเร็ง ตลอดจนเกิดการพัฒนาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบันมียากลุ่มแอนติบอดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 50 ชนิด และมียาใหม่ขึ้นทะเบียนเพิ่มอีกปีละ 3-5 ชนิด เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยนับร้อยล้านคนทั่วโลก” เซอร์ เกรกอรี พอล กล่าว ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทอร์น ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา กล่าวว่า รู้สึกดีใจและปลาบปลื้มมากที่ได้รับการคัดเลือกรับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2559 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข เป็นความภาคภูมิใจที่สุด ทั้งตนเองและทีมงานรู้สึกประทับใจและเป็นเกียรติอย่างสูงเพราะรางวัลนี้มีผู้เสนอรายชื่อเข้ามามากและตนเองได้มีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็นเรื่องที่ทำให้มีความรู้สึกภูมิใจอย่างที่สุด และที่สำคัญทำให้ผลงานได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น เป็นที่รู้จักเผยแพร่เพิ่มมากขึ้น และหัวใจของการวิจัยในครั้งนี้คือ การป้องกันมากกว่าการรักษาเมื่อเกิดอาการหัวใจวาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต้องป้องกันไม่ให้เกิดให้มีความตื่นตัวและตระหนักเมื่อรู้ว่าตนเป็นโรคให้เริ่มรักษาตั้งแต่แรกที่ทราบอย่าปล่อยให้มีอาการหนัก เป็นสิ่งที่ทางตนเองและทีมงานต้องการให้งานวิจัยเกิดผลประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงและจากสถิติของการวิจัยพิสูจน์ได้ว่า รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือลดความรุนแรงของการเกิดหัวใจวายได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ผมและทีมงานได้จัดตั้งหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันขึ้นเป็นครั้งแรก ได้พิสูจน์ผลความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นมาตรฐานการรักษามาจนถึงปัจจุบันเป็นผู้ริเริ่มคำว่า “เบรนแอทแทค” มาใช้ เพื่อสื่อถึงความฉุกเฉินของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเป็นการเตือนให้ผู้ป่วยรีบรักษาตัวและเข้าโรงพยาบาลทันที และได้ค้นพบของสมองส่วนอินซูลาร์มีผลการเต้นผิดปกติของหัวใจนำไปสู่การเสียชีวิตทันทีทำให้ลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคนี้ได้อย่างมาก ทำให้วงการแพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและลดอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ในผู้ป่วยนับล้านคนทั่วโลก”