“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ...พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำฉันจะสร้างป่า” พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชทาน ณ บ้านถ้ำติ้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ย้อนนับช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2525 ถึงวันนี้นับได้เกือบ 30 ปี และเมื่อ 30 ปีที่แล้วพื้นที่ที่เรียกว่าบ้านถ้ำติ้ว ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนครจะทุรกันดารสักแค่ไหนเพียงใด การเดินทางไปสู่พื้นถิ่นนั้นจะยากลำบากสักขนาดไหนนึกภาพไม่ออก ถนนหนทางคงไม่ใช่สะดวกสบายอย่างวันนี้แน่นอน ยิ่งทรัพยากรธรรมชาติเช่นป่าไม้ถูกบุกลุกทำลายกันมากมายแล้วก่อนหน้านั้น ถึงหน้าแล้งคงหาแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์เห็นจะยาก หน้าฝนน้ำคงบ่าท่วมทะลักสร้างความเสียหายอย่างหนักเพราะไม่มีกำแพงธรรมชาติคือป่าไม้ที่คอยซับน้ำ รับแรงปะทะผ่อนบรรเทาความรุนแรงได้บ้าง สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ไม่ว่าจะไกลกันดารยากลำบากแค่ไหนเพียงใดก็ไม่ใช่กำแพงที่จะมาขวางกั้นพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยได้ เสด็จฯไป ทอดพระเนตรเห็นด้วยพระองค์เองว่าพื้นที่ดังกล่าวทรัพยากรถูกทำลายไปมากต่อมาก ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง น้ำบ่าท่วมตามมารวมทั้งได้ทรงทราบจากข้อมูลที่ราษฎรถวายฎีกาถึงความทุกข์ยากแร้นแค้นขอพระราชทานความช่วยเหลืออีก จึงพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พื้นที่ดังกล่าวนั่นคือโครงการ “ป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”เป็นแห่งแรก ไม่ช้าไม่นานด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติหวลคืนกลับมาสู่พื้นที่บ้านถ้ำติ้วอีกครั้ง ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตคือแหล่งน้ำ คือป่าคือทรัพยากรธรรมชาติที่ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์นำพาไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นกว่าอดีตมากมาย หลุดพ้นจากความอดอยากยากจนขาดแคลน มีอาชีพ มีกินมีใช้ มีที่อยู่อาศัยมั่นคงถาวรมีความสุขอย่างยั่งยืนบนวิถีแห่งความพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยหลักการดำเนินชีวิตที่นำพาสู่ความสุขคือความขยัน อดทน อดออม ไม่ตั้งอยู่ในความโลภ อยู่ร่วมกันด้วยเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูล สามัคคี มีความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง วันนี้คนบ้านถ้ำติ้วและบ้านใกล้เคียง ในตำบลปทุมวาปีส่วนใหญ่แทบทุกหวังคาร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติในบ้านในที่ตัวเองร่มรื่นร่มเย็นทั้งกายและใจ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี พร้อมด้วย นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร) นางวสาวศรีนิตย์ บุญทอง ที่ปรึกษากปร. ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะไปทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณทั้งการไปเยี่ยมเยียนประชาชน ไปดูผลพวงอันเกิด จากพระมหากรุณาธิคุณที่ทุกภาคส่วนร่วมกันสนองแนวพระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทย เดินทางไปยังจังหวัดสกลนครที่หมายแรกคือเยี่ยมชมโครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านถ้ำติ้ว ตำบลปทุมวาปี และโครงการลุ่มน้ำสงคราม บริเวณวัดอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ไปถึงเวลาประมาณ บ่ายสองโมงเศษโดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ให้การต้อนรับ ในพื้นที่ราษฎรบ้านถ้ำติ้วที่อาศัยอยู่ในโครงการรอบๆ โครงการและบ้านอื่นๆ ในตำบลปทุมวาปี ทั้งในนามกลุ่มแม่บ้านอาชีพต่างๆมีทั้งอาชีพทอผ้า อาชีพปลูกพืชผักทำการเกษตร รวมทั้งนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่รอต้อนรับ โดยองคมนตรีและคณะที่เดินทางไปถึงพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อดูผลสัมฤทธิ์การอนุรักษ์ฟื้นที่ป่า แหล่งน้ำ ในพื้นที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแนวทางให้ดำเนินการ เนื่องจากอาณาบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในอดีตนั้นมีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าจนนำไปสู่สภาพความแห้งแล้ง เดือดร้อนทั้งประชาชนที่ไม่อาจประกอบอาชีพได้เพราะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากป่าแหล่งต้นน้ำถูกทำลายหมด รวมทั้งสัตว์ป่าขาดที่อยู่อาศัยที่ดำรงชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติโดยรวมถูกทำลายไป ไม่อาจเกื้อกูลกันทั้งคนทั้งป่าทั้งน้ำ ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถด้วยพระราชหฤทัยห่วงใย ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล วันนี้พื้นที่ในตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่า ทั้งน้ำ ทั้งสัตว์ป่า ตลอดจนประชาชนได้อยู่พึ่งพิงเกื้อกูลกันดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนไม่ทำลายกัน องคมนตรีนายอำพล เสนาณรงค์ เดินทางไปทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณ เพื่อไปดูพัฒนาการของความร่วมแรงใจพัฒนาพื้นที่สนองพระมหากรุณาธิคุณเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและเพื่อไปรับฟังปัญหาอุปสรรคเพื่อที่จะได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข และเพื่อนำผลสัมฤทธิ์คือประโยชน์ที่เกิดแก่ประชาชนทั้งในท้องถิ่นและประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองโดยรวมดังกล่าวถวายรายงานทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทบาทต่อไป ในพื้นที่ได้พบปะทักทายเจ้าหน้าที่สอบถามสารทุกข์สุกดิบเพื่อขวัญกำลังใจ เดินพูดทักทายพูดคุยกับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่สังเกตได้ว่าหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสโดยรวมแล้วน่าจะมีความสุขแบบวิถีพอเพียงพออยู่พอกิน เดินชมผลผลิตของชาวบ้านทั้งที่เป็นผลพวงจากการอนุรักษ์สืบสานมาจากภูมิปัญญาบรรพชนอย่างเช่นผ้าทอ ที่ดั้งเดิมทำเองใช้เองกันทุกบ้านสืบสานฝีมือบรรพชนวันนี้ก็ทอใช้เองแต่ส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้เสริมครอบครัว เสริมชุมชนและจังหวัด ผลผลิตของชาวบ้านที่นำมาอวดองคมนตรีและคณะมากมายหลายชนิดอย่างเช่นหวายหน่อเพื่อนำไปทำอาหารได้หลากหลาย ฟักทอง มะเขือและอีกมากมายที่นอกจากเป็นอาหารแต่ละครัวเรือนแล้วยังเป็นสินค้าที่เป็นรายได้เสริมให้ครอบครัวด้วย ที่สำคัญเป็นผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษ เป็นอาหารสุขภาพของคนท้องถิ่นและหรือถ้าเผื่อกระจายออกไปถึงผู้บริโภคนอกพื้นถิ่นก็นับว่าโชคดีที่ได้บริโภคผักที่ปลอดสารพิษ