หลังจากพบปะพูดคุยกับทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้เวลาพอสมควรแล้วนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีและคณะรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือกันสนองพระมหากรุณาธิคุณว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯตลอดจนราษฎรในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่าที่ช่วยสร้างความชุ่มชื้นสร้างแหล่งต้นน้ำตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างผืนป่า นำไปสู่การพัฒนาแหล่งน้ำโดยสร้างความตระหนักในการหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่รอบ ๆ โครงการป่ารักน้ำฯ เพื่อให้ราษฎรที่ยากจน สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวและหยุดการบุกรุกทำลายป่า ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและราษฎรได้ร่วมกันการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ถูกทำลาย ก่อสร้างฝายดักตะกอนเพื่อชะลอการไหลของน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าต้นน้ำ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และอบรมราษฎรเพื่อสร้างพลังอำนาจของชุมชนให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการฟื้นฟูสภาพป่า ส่งผลให้พื้นที่ป่าจำนวน ๑๗,๐๐๐ ไร่ ในเขตพื้นที่โครงการป่ารักน้ำฯได้รับการพัฒนาฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและทางชีวภาพส่งผลถึงความสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโครงการและบริเวณใกล้เคียงในตำบลปทุมวาปีมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นถึง ๑,๔๐๐ ครัวเรือน ๖,๐๔๖ คนอีกด้วย “เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถมีพระราชดำริ “โครงการป่ารักน้ำ”ขึ้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำคำจวง บ้านถ้ำติ้ว ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่งดาว โดยพระราชทานเงินของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพและเงินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวนหนึ่งตั้งเป็นกองทุนอาชีพสำหรับโครงการป่ารักน้ำ ทรงเริ่มต้นโครงการด้วยการปลูกป่าเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในพื้นที่ 1 ไร่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญพราหมณ์มาทำพิธีบวงสรวงประกาศอัญเชิญเทพยดาอารักษ์ เจ้าป่า มาสถิตอยู่ ณ ป่าทีทรงปลูก เพื่อรวมน้ำใจชาวบ้านและสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่โครงการป่าทรงปลูกอย่างถูกอย่างถูกวิธีเป็นตัวอย่าง แล้วทรงชวนราษฎรร่วมกันปลูกป่าและได้พระราทชานชื่อโครงการนี้ว่า "โครงการป่ารักน้ำ"ดังพระราชดำรัส ณ บ้านถ้ำติ้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ...พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำฉันจะสร้างป่า” อันนับได้ว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “ป่ารักน้ำ”แห่งแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงเริ่มต้น ปัจจุบันเป็นต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่สมบูรณ์แบบโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นป่า” เจ้าหน้าที่รายงานต่อไปว่าปี2556 กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ดำเนินการสำรวจพบว่าพื้นที่ของโครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง พื้นที่เป็นดินทรายจึงไม่สามารถอุ้มน้ำได้ เป็นอุปสรรคต่อการทำเกษตรกรรม ทางทิศใต้เป็นภูเขาคือภูผาเหล็กเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ที่เป็นต้นน้ำสงคราม มีพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล์ก ดังนั้นจึงมีการเริ่มต้นโครงการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่โครงการป่ารักน้ำฯบ้านถ้ำติ้วดังกล่าว ในคำรายงานยังบอกด้วยว่าเพื่อให้พื้นที่โครงการป่ารักน้ำแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบตามแนวพระราชดำริมีสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์และมีความยั่งยืนจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้สามารถกลับคืนสู่สภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ตามพระราชปณิธาน ช่วยการเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์รวมทั้งการอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีอยู่เดิมเอาไว้ให้ได้ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดความร่วมมือ “ในปี 2557 มีการจัดอบรมการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเสริมพลังอำนาจชุมชน 2 รุ่นปลูกไม้ใช้สอยเพื่อทดแทนพื้นที่ถูกทำลาย 100 ไร่ ปลูกหวายเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร 100 ไร่ ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร 4 แห่ง ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบถาวร 1 แห่ง เพาะชำกล้าไม้ขนาดใหญ่และกล้าไผ่อย่างละ 50,000 กล้า เพื่อจ่ายแจกให้ราษฎรในพื้นที่ “ปี 2558 ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมเหนืออ่างเก็บน้ำลำจวงและเหนือพื้นที่โครงการป่ารักน้ำฯให้เป็นพื้นที่มีสภาพเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ทางด้านนิเวศวิทยา ให้ราษฎรได้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า จัดอบรมการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน 2 รุ่น ปลูกไม้ใช้สอยเพื่อทดแทนพื้นที่ถูกทำลาย 400 ไร่ ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 50 แห่ง ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร 4 แห่งและก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบถาวร 1 แห่ง “ปี 2559 ดำเนินการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ถูกทำลาย 100 ไร่ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ก่อสร้างฝายดักตะกอนเพื่อชะลอการไหลของน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 100 แห่ง ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร 4 แห่ง และก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบถาวร 2 แห่ง ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และอบรมราษฎร 2 รุ่น เพื่อสร้างพลังอำนาจของชุมชนให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม “ประโยชน์ของโครงการทำให้พื้นที่ป่า 17,000 ไร่ ในเขตพื้นที่โครงการป่ารักน้ำได้รับการพัฒนาฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์โดยเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืชและรักษาความชุ่มชื้นในดินทำให้พื้นที่ป่าและระบบนิเวศเกิดความสมดุลเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโครงการและบริเวณใกล้เคียงในตำบลปทุมวาปี มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ประชากร 1,400 ครัวเรือน 6,046 คน เกิดจิตสำนึกรัก และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้มากยิ่งขี้น”รายงานสรุป องคมนตรีนายอำพล เสนาณรงค์กล่าวว่า การมาเยือนพื้นที่โครงการป่ารักน้ำอันันื่องมาจากพระราชดำริอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กวันนี้เนื่องในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 นี้เป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถครบ 7 รอบ 84 พรรษา โครงการป่ารักน้ำฯนี้ทรงพระทัยมาก ก็มาดูว่าจะฟื้นฟูพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรและเป็นประโยชน์ในการกระบวนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล จากที่เสด็จฯมาทรงงานตั้งแต่เมื่อปี 2525 ทรงปลูกต้นไม้เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เกือบ 30 ปีดูว่าไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว เพิ่งมาเริ่มเอาเมื่อปี2556 ซึ่งก็เป็นช่วงที่พระองค์ทรงเริ่มพระประชวรแล้ว “ตอนช่วงรับราชการน่าจะราวๆปี2525 นั่นแหละดูเหมือนจะเป็นรองอธิบดีก็เคยมาดูย่านแม่น้ำสงคราม เคยจะมีการสร้างเขื่อนนะแต่ชาวบ้านไม่ยอม แม่น้ำสงครามนี่เป็นแม่น้ำซิกแซก มาดูต้นน้ำที่อยู่ระหว่างภูผาเหล็กกับภูหักนี่แหละ แม่น้ำสงครามยาวมาก 450 กม. แล้วเมื่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จฯพื้นที่บ้านถ้ำติ้วเมื่อทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้ง ราษฎรเดือดร้อนก็ทรงพระราชทาน พระราชดำริโครงการป่ารักน้ำ แต่ในเอกสารต่างๆที่อย่างน้อย 3 หน่วยงานรวบรวมอยู่ในมือผมไม่พูดถึงแหล่งน้ำเลย ผมก็ได้แต่เดาว่าการที่ทรงจะปลูกป่าอย่างน้อยก็น่าจะมีความชุ่มชื้นคือมีน้ำอยู่บ้าง โดยเฉพาะตรงจุดแรกที่ทรงทำโครงการป่ารักน้ำนี้ แล้วก็ต้องหาข้อมูลว่าทรงทำยังไง ทรงมาดำเนินการแล้วทรงให้ชาวบ้านช่วย ก็ไม่ได้ทรงให้ช่วยเปล่าๆพระราชทานเงินเป็นค่าแรง”องคมนตรีเล่า ให้ฟัง ในโอกาสนี้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีและคณะฯ ได้ปลูกต้นพะยูงและปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำคำจวงร่วมกับประชาชนในโครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดินเข้าไปชมพื้นที่สวนป่าทรงปลูกเดิม ณ พื้นที่ 1 ไร่ มีต้นยูคาลิปตัสขนาดใหญ่อยู่หลายต้น รวมทั้งไม้อื่นด้วย แต่ต้นยูคาจะมีอยู่หลายต้น ริมป่าก็คืออ่างน้ำคำจวงที่ยังคงมีน้ำอยู่ในปริมาณที่เยอะพอสมควรทีเดียว โดยองคมนตรีได้เน้นถึงต้นยูคาลิบตัสว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงปลูกแล้วก็ทรงให้ปลูก เพราะต้นยูคาเป็นไม้ที่นำมาใช้ทำกระดาษได้นั่นคือหัวใจหลัก ต้นยูคายังเป็นไม้ที่ทนต่อแล้ง ทนต่อน้ำท่วม ไม่ว่าจะแล้งหรือน้ำท่วมไม้อื่นๆไม่ว่าจะเป็นมะม่วง หรือต้นอะไรก็ตายหมด แต่ยูคาไม่ตาย ยูคาปลูกตรงไหนก็ได้บนคันนา หัวไร่หรือปลายนาได้หมด ประโยชน์อื่นนอกเหนือไปจากกระดาษก็ทำได้ องคมนตรีบอกด้วยว่าคุณสมบัติที่เหมือนกับไม้อื่นๆไม่ต่างกันคือต้นยูคาสามารถเป็นไม้ที่ซับน้ำไว้ใต้ดิน ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงเห็นประโยชน์แล้วตรัสไว้ให้ช่วยดูแลด้วย “มีเป้าหมายว่าปลูกยูคาที่นำเข้ามาเมื่อปี 2508 จากออสเตรเลียเพื่อจะได้สร้างโรงงานผลิตกระดาษ เพราะไทยเองต้องสั่งกระดาษเข้ามา เดิมเรามีไผ่แต่ไม่พอทำ แต่ก็กลายเป็นไปขัดกับผู้นำเข้ากระดาษก็เลยมีการต่อต้าน เลยมีสองฝ่ายขึ้นคือฝ่ายส่งเสริมปลูกและฝ่ายต่อต้าน กระทรวงเกษตรฯเองก็เคยสั่งให้โค่นยูคาที่ปลูกไว้แล้วทิ้งหมด ราชการใดส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมีโทษ แม้แต่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯยังปลูกไม่ได้เลย แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงให้ปลูกในโครงการป่ารักน้ำ และตรัสว่าให้ดูแลให้ดี แต่เวลานี้ก็ปลูกได้แล้วนะ ไปในหลายจังหวัดเห็นปลูกกันทั้งต้นไร่ปลายนา บนคันนาก็ปลูกกัน ยูคานี่พิเศษอีกอย่างคือปลูกแล้วตัดมันก็แตกใหม่ขึ้นมาอีก แล้วเท่าที่ได้ข้อมูลมามันก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับพืชอื่นนะ แต่มีบางคนบอกว่ายูคากินน้ำเยอะเท่าที่ดูก็ ไม่เห็นกินเยอะนะ”องคมนตรีกล่าว จากนั้น นายอำพล เสนาณรงค์ และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการลุ่มน้ำสงคราม บริเวณวัดอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ได้รับฟังการบรรยายสรุปถึงความเป็นมาและประโยชน์ของลุ่มแม่น้ำสงคราม ซึ่งมีต้นกำเนิดจากภูผาเหล็ก (เทือกเขาภูพาน) อำเภอส่องดาว นับเป็นลุ่มน้ำที่สำคัญลุ่มน้ำหนึ่งของภาคอีสาน ด้วยมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากในฤดูฝนน้ำจากล้ำน้ำสงครามจะหลากเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่ม เรียกลักษณะของระบบนิเวศน์ ว่าป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งการขึ้นลงของกระแสน้ำ ในลำน้ำสงครามมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการอพยพของปลา โดยปลาจากแม่น้ำโขงสามารถว่ายเข้ามาหาอาหารและวางไข่ในช่วงเวลาน้ำหลาก เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ และเมื่อหมดฤดูน้ำหลากชาวบ้านก็จะสามารถหาอาหารได้จากป่าทาม เช่น หน่อไม้ เห็ด สมุนไพรต่างๆ นับเป็นแหล่งอาหารและสร้างอาชีพให้แก่ราษฎรเป็นอย่างดียิ่ง