ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ขณะนี้ใกล้จะถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ กระผมขออัญเชิญพระราชปณิธานและหลักการทรงงานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางให้พสกนิกรชาวไทยและท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านได้เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติงาน นำสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยังยืนต่อไป โดยได้รับความสนับสนุนด้านข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน ก.ป.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดังนี้ครับ หลักการทรงงานประการที่หนึ่ง ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ ได้แก่ ชนบทซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารและเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๗ ความตอนหนึ่งว่า “...ประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง ตราบใดที่ประชาชนยังไม่มีเสรีภาพจากความหิวโหย จะเรียกว่ามีเสรีภาพเต็มที่ไม่ได้ ประเทศใด ประชาชนไม่สามารถผลิตให้แก่ประเทศได้ ประเทศนั้นๆ จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร มิช้านานก็คงต้องล้มคว่ำลงไปในวันใดวันหนึ่ง...” พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสเสด็จฯไปทรงเปิดงานชุมนุมแม่บ้าน ครั้งที่ ๑๐ ณ วิทยาลัย ครูสวนดุสิต เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ ความตอนหนึ่งว่า “...ความมุ่งหวังในการพัฒนาประเทศ ไม่ควรจะมุ่งหมายแต่เพียงการอยู่ดีกินดีเฉพาะแต่ในพระนครเท่านั้น ชาวบ้านเมืองเราจะเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อทุกครอบครัวทั่วในประเทศ มีความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับ...” หลักการทรงงานประการที่สอง ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านจิตใจเพื่อให้เกิดความสันติสุขและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ดังพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ และอนุปริญญาบัตรพยาบาลและอนามัย ณ หอประชุมราชแพทย์วิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๔ ความตอนหนึ่งว่า “...เราถืออะไรเป็นเครื่องวัดความเจริญของชาติบ้านเมือง จะวัดกันด้วยสิ่งก่อสร้าง หรือเทคนิควิชาการ หรือพฤติกรรมของชาตินั้นๆ ข้าพเจ้ายังจับใจในถ้อยความที่พระท่านสอนไว้ว่า ชุมชนใดที่มนุษย์รู้จักแผ่เมตตาต่อกัน ชุมชนนั้นเป็นแหล่งที่เจริญ ถ้าราษฎรของชาติมุ่งประกอบกรรมดีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้จักรับผิดชอบในสังคมใหญ่ ก็นับได้ว่าชาตินั้นเจริญแล้วและจะก้าวสืบไป สันติภาพอันแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เรามีความอิ่มทางจิตใจ จากการสร้างแต่ความดีและประกอบแต่กรรมดี การสะสมกอบโกยความดีไว้มากๆ โดยไม่มีขอบเขต จะเป็นหลักในการสร้างสันติภาพอันถาวรยั่งยืนและโลกจะบรรลุถึงความสงบที่ใฝ่หากัน...” พระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้บริจาคเงินสมทบทุนสงเคราะห์ชุมชน ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๙ ความตอนหนึ่งว่า “...เราทั้งหลาย รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเองต่างหาก ที่จะต้องพัฒนาจิตใจตนเองเสียก่อนที่จะริไปพัฒนาจิตใจชาวชนบท ซึ่งเป็นจำนวนมาก มากกว่าชาวเมืองนัก... ชาวชนบทเขามีจิตใจที่ได้ปรับปรุงพัฒนามาช้านานนับปีเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ด้วยศาสนาต่างๆ ที่ล้วนมุ่งกระทำคนให้เป็น “มนุษย์” คือคนที่ประเสริฐ ฉะนั้นหน้าที่ของเราผู้ที่สิทธิ์มีโอกาสพิเศษ ได้เรียนรู้ในหลักทฤษฎีวิชาการต่างๆ และพร้อมที่จะไปพัฒนาชนบท ก็คือต้องพิจารณาปรับปรุงจิตใจของเราเองให้เข้าระดับกับจิตใจของชาวชนบทเสียก่อน ความสุขสบายของเราชาวเมือง ซึ่งโดยมากวัดกันทางวัตถุนั้น ย่อมจะแตกต่างกับของชาวชนบท การนำเอาความสุขสบายอย่างของเราทุกๆ อย่างไปให้เขาทั้งหมด อาจทำให้เขาเดือดร้อน ขาดความสุขสบายก็เป็นได้...” พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิม พระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ ความตอนหนึ่งว่า “...การช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาของไทยให้สามารถเลี้ยงตัวได้นั้น เป็นของที่ไม่ยากเกินไปเลย เพราะว่าพื้นฐานของชาวไร่ชาวนาชาวไทยเรา มีความสามารถรอบตัวอยู่แล้ว สำคัญที่พวกเราจะต้องเข้าไปหาเขา ให้โอกาสเขา ดึงความสามารถของเขาออกมาใช้เป็นประโยชน์ในการช่วยตัวเอง...” หลักการทรงงานประการที่สาม ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มี “คน” เป็นศูนย์กลาง ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๗ ความตอนหนึ่งว่า “...การที่ข้าพเจ้าเตือนให้คนไทยรักษาป่า ไม่ใช่จะเห็นป่าสำคัญกว่าคน แต่ให้รักษาป่าไว้สำหรับเก็บน้ำจืดไว้เพื่อคน เพราะน้ำมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ ข้าพเจ้าจึงขอวิงวอนให้คนไทยช่วยกันรักษาป่า ซึ่งเป็นแหล่งเดียวของประเทศไทยไว้ให้ดี...” หลักการทรงงานประการที่สี่ ทรงให้ความสำคัญกับการเสริมและสนับสนุนการพัฒนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ ความตอนหนึ่งว่า “…เหตุที่ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ทรงวิ่งไปช่วยพัฒนานี่เพราะเหตุว่าเหนื่อยไม่ได้ พวกเราเหนื่อยไม่ได้ เพราะว่าบ้านเมืองของเรานี้ยังมีคนที่ยากจนและรอความช่วยเหลืออีกมากมายก่ายกอง เพราะฉะนั้นเมื่อใครทำอะไรได้เราก็ควรจะทำเพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศชาติและรัฐบาลมีความมั่นคงยิ่งขึ้น แปลว่าช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยที่ไม่เกี่ยงกัน ช่วยกันทำความดี...” จากแนวพระราชดำริที่ประมวลมาข้างต้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของพระราชปณิธานในการทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมุ่งมั่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พสกนิกรทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จะเวียนมาบรรจบในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ศกนี้ กระผมขอเชิญชวนท่านทุกท่านร่วมเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ทำความดีทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระแม่ของแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ