ตามที่พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ฉบับใหม่ ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยให้ผู้กู้ยืมเงินแจ้งต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนที่ตนทำงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน และให้นายจ้างต้องหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้คืนกองทุน กยศ. นั้น รส.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้มีการหักเงินเดือนคืนกองทุน กยศ. นักศึกษากู้ยืมมาเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ต้องมีหน้าที่ใช้คืน โดยให้หน่วยงานที่สังกัดเข้ามาช่วยเหลือเพื่อที่ กยศ.จะได้นำเงินในจุดนี้มาส่งต่อโอกาสไปยังรุ่นน้องๆ ต่อไป "ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี นั้นจัดการประชุมผู้กู้เงินจาก กยศ. เกี่ยวกับการใช้คืนเงิน กยศ.พบว่า นอกจากนักศึกษาจะกู้ยืมเงินจาก กยศ.แล้ว บางส่วนผู้ปกครองได้มีการกู้ยืมเงินจากที่อื่นๆ มาด้วย เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรหลาน เพราะแต่ละครอบครัวมีต้นทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการทำงานนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจาก กยศ.เพียงอย่างเดียว ก็จะไม่เดือดร้อนในการชำระหนี้ แต่นักศึกษากลุ่มที่กู้ยืมเงินจากช่องทางอื่นๆ ด้วย อาจจะต้องชำระหนี้ในหลายจุดพร้อมๆ กัน ทำให้เงินที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ จนเกิดผลกระทบตามมา ...จึงเห็นว่าเงื่อนไขในการชำระคืนควรดูตามพื้นฐานของครอบครัวในแต่ละกลุ่ม เช่น ใน 3 ปี แรกควรมีการกำหนดสัดส่วนการชำระหนี้ที่ค่อนข้างต่ำ เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวการเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ก่อน เพราะนักศึกษาที่ทำงานใหม่นอกจากการคืนเงินจากกองทุน กยศ.แล้ว จะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าที่พัก ค่าเดินทางในการทำงาน จึงควรมีการผ่อนปรนหรือเก็บคืนแบบค่อยเป็นค่อยไป"อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว