“ครูหยุย”ตั้งกระทู้ถามจี้รมว.มหาดไทยจัดการเจ้าหน้าที่หย่อนยานปล่อยตั้งสถานบริการในเขตต้องห้าม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งได้มีการตั้งกระทู้ถามสดเรื่องมาตรการการควบคุมสถานบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ถามรมว.มหาดไทยว่า ปัจจุบันการเปิดสถานบริการจำหน่ายสุราในพื้นที่ต้องห้ามยังคงมีอยู่ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด แม้จะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2558 รวมถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา แต่มาตรการทางกฎหมายเหล่านี้อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกทม.หย่อนยานที่สุด จากการปล่อยปะเลยจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ตั้งสถานบริการ เพราะปัญหาเกิดจากการเพิกเฉยของผู้บังคับใช้กฎหมาย และการตั้งใจฝ่าฝืนของผู้ขออนุญาต อยากถามว่า บทบัญญัติตามกฎหมายต่างๆที่ใช้ควบคุมการเปิดสถานบริการมีเพียงพอหรือไม่ที่ใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้การควบคุมสำเร็จผลมากกว่าปัจจุบันหรือไม่ รวมทั้งแนวทางจัดโซนนิ่งสถานบริการในกทม. และต่างจังหวัด ต้องจัดระบบให้ชัดเจนมากกว่าเดิมหรือไม่ นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย ชี้แจงถึงบทบัญญัติ ของกฎหมายที่ใช้บังคับทั้ง พ.ร.บ.สถานบริการ2509 และแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 50 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2502 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับและปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน รวมถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2515 เช่นเดียวกัน และคำสั่งคสช.2 ฉบับล่าสุดก็สอดคล้องกับปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นถือว่ากฎหมายที่มีอยู่พอเพียงสำหรับแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การทำงานของกระทรวงมหาดไทยได้เน้นนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยลดอบายมุข สร้างสุขให้สังคม รวมถึงนโยบายที่รัฐบาลและคสช.ให้มา โดยผลสัมฤทธิ์ที่ทุกหน่วยการราชการดำเนินการร่วมกัน การตรวจสถานบริการในทุกจังหวัดรวมถึงกทม.ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจำนวน 22,344 ครั้ง ตรวจร้านจำหน่ายสุราทั้งหมด102,309 ครั้ง การดำเนินการตามตามพ.ร.บ.สถานบริการ ประกอบคำสั่งคสช.ที่ 22/2558 ได้ปิดสถานบริการ 5 ปี จำนวน 245 แห่ง การดำเนินการตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 50 ปิดสถานบริการ 2 แห่ง และสถานประกอบการ 94 แห่ง สำหรับสถานบริการในปี 2558 จำนวน 2,991 แห่ง ในกท.จำนวน 470 แห่ง ในภูมิภาค 2,521 แห่ง และในปี 2559 หลังจากที่เราเข้มข้นในเรื่องของกฎหมาย บูรณาการร่วมกัน ทำงานเป็นทีมทำให้สวสถานบริการลดลงเหลือ 2,801 แห่ง แม้เราจะมีชุดปฏิบัติการทำงาน โดยได้รับข้อมูลจากศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกฯ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงภาคประชาสังคมที่แจ้งข้อมูลมา สำหรับโซนนิ่งของสถานบริการ ครม.ได้มีมติที่ผ่านมาให้มีการทบทวนเรื่องโซนนิ่งโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ 27 แห่ง โดย 13 แห่งใน 13 จังหวัดภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโซนนิ่งสถานบริการ โดยได้ผ่านความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว กำลังเสนอให้ครม.พิจาณา ส่วนอีก 14 จังหวัด คณะกรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาปรับถ้อยคำเพื่อให้จังหวัดได้ทบทวน เมื่อเสร็จก็จะเสนอให้ครม.ให้ความเห็นชอบ เพื่อจะได้ประกาศโซนนิ่งต่อไป ส่วนในกทม.แม้จะอยู่ในความรับผิดชองของกรองบัญชาการตำรวจนครบาลแต่ก็ได้ประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยโซนนิ่งของกทม. 50 เขต พื้นที่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงใช้โซนนิ่งเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2545-2547 ส่วนจ.บึงกาฬ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ขอปรับปรุงขึ้นมาด้วย ก็คงจะดูตามความเจริญของพื้นที่ และความสงบเรียบร้อยของพื้นที่ ยืนยันว่ารัฐบาลและคสช.ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม