ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา โครงการหลวง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ พลิกฟื้นชีวิตคนไทย พลิกฟื้นผืนป่าผืนน้ำ สู่ความยั่งยืน เสกสรร สิทธาคม [email protected] 40กว่าปีที่แล้ว ยอดเขาในภาคเหนือที่เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น กลายเป็นภาพคุ้นตา ในสมัยนั้น ภาพที่ราษฎรชาวไทยภูเขา บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำพื้นที่มาปลูกฝิ่นหรือการทำไร่เลื่อนลอย โดยเฉพาะชาวเขาในอดีตปลูกฝิ่นเป็นรายได้หลัก ฝิ่นกลายเป็นพืชทำเงินเพียงอย่างเดียวที่รู้จัก พืชอื่นๆ เช่น ข้าว ข้าวโพดฯลฯ นั้น ก็ปลูกเพื่อไว้รับประทานและเลี้ยงสัตว์ เท่านั้น ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยพสกนิกรชาวไทยและประเทศชาติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่า ทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องเกื้อกูลเช่นแหล่งน้ำ สรรพสัตว์อันรวมถึงการดำรงชีวิตของคนที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้ รวมถึงทรงเล็งเห็นมหันตภัยจากฝิ่นที่มีต่อประชาชนคนไทยและคนทั่วโลก โดยมีสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาในสมัยนั้นดึงพระราชหฤทัยให้พระองค์มีพระราชดำริ ริเริ่มให้เกิดโครงการหลวงขึ้นในภาคเหนือ เพื่อช่วยลดปัญหาต่างๆทั้งเรื่องฝิ่นที่เป็นยาเสพติดมหันตภัย การทำมาหากิน สภาพความเป็นอยู่และที่สำคัญที่สุดในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้น ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานเรื่องโครงการช่วยเหลือชาวเขา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 10 มกราคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “...เรื่องที่ช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้นมีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่จะเป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ที่มีโครงการเช่นนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือมนุษยธรรม อยากที่จะให้ผู้ที่อยู่ในที่ทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ ก็คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าเราสามารถที่จะช่วยชาวเขา ให้ปลูกพืชผลที่เป็นประโยชน์มาก เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด ปลูกฝิ่น ทำให้นโยบาย การระงับการปราบการสูบฝิ่น และการค้าฝิ่นได้ผลดีอันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกที่อาจทำให้บ้านเมืองเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั้งประเทศ เพราะว่าถ้าเราสามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถที่จะมีการอยู่ดีกินดีพอควรและสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดิน ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก...” โครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้ทรงรับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักปลอดภัยไร้สารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า ดอยคำ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีโครงการสนองพระมหากรุณาธิคุณนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูสภาพความเป็นจริงอันเกิดจากผลสำเร็จแห่งแนวพระราชดำริแล้วทรงทุ่มเทดำเนินการอย่างจริงจัง จัดโครงการ“ขึ้นยอดดอย ... เดินตามรอยพ่อ” จัดขึ้นได้มีโอกาสเดินทางตามรอยเท้าพ่อ ขึ้นสู่ยอดเขาอินทนนท์ เพื่อดูผลสำเร็จและดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับราษฎรชาวไทยภูเขา เป็นการนำพาสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ซึ่งเป็นสถานีวิจัยหนึ่งในมูลนิธิโครงการหลวงตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 ณ พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นศูนย์วิจัยไม้ดอกไม้ประดับเขตหนาว และไม้ผลเขตหนาวขนาดเล็ก รวมถึงการขยายพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พืชผัก พืชไร่ เพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการปลูกพืชที่เป็นประโยชน์และสร้างรายได้ให้ครอบครัว ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านไม้ดอกและไม้ประดับที่สำคัญของประเทศ เท่านั้น ยังได้ติดตามผลดูงานทีโครงการหลวงขุนห้วยแห้งอีกด้วย โครงการหลวงขุนห้วยแห้งถือเป็นสถานีย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ งานหลักของที่นี่ก็คืองานวิจัยไม้ผลขนาดเล็ก เช่น องุ่น สตรอเบอรี่ พลับ และกีวี่ นอกจากนี้ยังมีไม้ดอกเมืองหนาว โดยหลัก ๆ จะเป็นดอกกุหลาบ ซึ่งภูมิอากาศหนาวเย็นในพื้นที่เอื้อต่อการเพาะปลูกพืชชนิดดังกล่าว ในโครงการหลวงขุนห้วยแห้งนอกจากชาวเขาจะได้รับประโยชน์จากงานวิจัยแล้ว การส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกยังเป็นการลดการนำเข้าไม้ดอกไม้ผลจากต่างประเทศ โดยผลผลิตยังสามารถส่งไปขายต่างประเทศได้ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยในทุกฤดูหนาวนักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวชมดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย และนิยมไปทุกปีอย่างหนาแน่น พร้อมสัมผัสบรรยากาศวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เมื่อเดินออกไปตามถนนขุนกลาง-ขุนวางก็สามารถมองเห็นพื้นที่เกษตรกรรมของโครงกลางหลวงได้สัมผัสความสวยสดงดงามตระการตาไปอีกบรรยากาศหนึ่ง พินทรัตน์ แสนใจเป็ง รองหัวหน้าฝ่ายวิชาการ โครงการหลวงขุนห้วยแห้ง ให้ข้อมูลว่า ช่วงแรกที่โครงการหลวงเข้ามา เดิมทีชาวบ้านต่อต้านไม่ให้ความร่วมมือเพราะเข้าใจว่าปลูกฝิ่นดีกว่าด้วยความคุ้นชิน แต่แจ้าหน้าที่ของโครงการ ใช้วิธีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ให้ใช้การฝังตัวอยู่กับชาวบ้าน กินนอนกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความไว้ใจ เชื่อใจ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าที่โครงการเข้ามา ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ จนชาวบ้านเกิดความไว้วางใจ จากนั้นจึงเริ่มส่งเสริมให้ปลูกไม้ดอกไม้ผล อย่างกุหลาบพันธุ์ต่างๆ เยอบีร่า สตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 "การดำเนินงานของโครงการหลวงขุนห้วยแห้งนั้นเป็นโครงการนำร่องให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ ส่งเสริมการปลูกพืชไร้ดิน งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ อย่างกุหลาบเริ่มส่งเสริมปี 2551 เกษตรกรซื้อกิ่งพันธุ์ไปในราคา 15 บาท เจ้าหน้าที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการดูแล ให้ปุ๋ย การตัดดอก แล้วโครงการรับซื้อดอกกลับมาในราคาตั้งแต่ดอกละ 8-25 บาทตามเกรด ให้ราคาดีกว่าพ่อค้าที่มารับซื้อ ก่อนจะส่งต่อให้ลูกค้าหลักคือสำนักพระราชวัง, วังศุโขทัย และโรงพยาบาลศิริราช ปลูกกันประมาณ 5 แสนต้นขายได้รวมกว่า 7 แสนบาทต่อปี เมื่อเกษตรกรเรียนรู้และเข้าใจในการปลูกแล้วจะต่อยอดหรือหาตลาดเองก็ได้ นั่นคือเป้าหมายให้เขาพึ่งพาตัวเองได้" รองหัวหน้าฝ่ายวิชาการ เล่าให้ฟัง พินทรัตน์ บอกว่า ชาวไทยภูเขาในพื้นที่แทบทั้งหมดอยู่รวมในโครงการ เพราะโครงการมีหลักประกันที่แน่นอนในการรับซื้อ ชาวบ้านเห็นความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือจริงของโครงการฯ ตอนนี้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นเยาวชนที่เข้ามารับช่วงต่อจากพ่อแม่ เพราะรายได้ทำให้พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พติสุปอย บรรพตวนา (พะติ เป็นภาษาชนเผ่า แปลว่า ลุง) ชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ กรรมการกลุ่มไม้ดอกของโครงการ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนทำไร่ฝิ่น เพราะไม่รู้จะทำอาชีพอะไร จนเมื่อรัฐมีนโยบายปราบปรามฝิ่นอย่างจริงจัง เมื่อปี 2527 จากการปราบปรามครั้งนั้นไม่รู้จะทำอาชีพอะไร จึงได้เข้ามาร่วมกับโครงการหลวง ตอนแรกที่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกพืชผัก คนในหมู่บ้านไม่สนใจและต่อต้าน แต่พอเห็นผลว่าทำเกษตรตามแนวพระราชดำริแล้วทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นจึงเข้าร่วมอย่างจริงจัง “เข้ามาร่วมโครงการก็เริ่มจากการปลูกเยอบีร่า กะหล่ำปลี มะเขือเทศ และกุหลาบก่อน จนกระทั่งตอนนี้ปลูกกุหลาบมา 5,000 ต้น บนเนื้อที่ 1 ไร่ มีพันธุ์ดอยวิต้า, ไททานิก, เอลิซ่า, สโนไวท์ และชมพูนุช ปีแรกโครงการหลวงลงทุนให้ขายได้เท่าไรแล้วหักทุนไปคืนครึ่งหนึ่ง ทุกวันนี้ตัดดอกกุหลาบมาส่งให้โครงการเฉลี่ย 60 ดอกต่อวัน ได้ดอกละ 15 บาท มีรายได้ประมาณปีละ 300,000 บาท หนี้สินก็หมด ส่งลูกๆ เรียน มีอนาคตและมีอาชีพที่มั่นคง” พติสุปอยกล่าวทิ้งท้ายด้วยความภูมิใจว่า โครงการหลวงเข้ามาพลิกฟื้นอาชีพให้ถึงไม่รวยแต่ก็อยู่ได้อย่างมีความสุข ดีใจมากที่ในหลวงรัชกาลที่9ช่วยพวกเรา ทำให้เรามีอาชีพ ถ้าในหลวงไม่มาก็ไม่รู้อนาคต จะปลูกอะไร ทำอะไร อยู่กับโครงการหลวงที่เพราะปลูกก็ได้ โครงการหลวงให้ความรู้ ช่วยทำให้มีอาชีพ แล้วยังดูแลครอบครัวทุกคนอีกด้วย จากเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เพื่อดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับพืชเมืองหนาว ให้ชาวเขาได้ปลูกทดแทนฝิ่นจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ วันนี้ โครงการหลวงแสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถดำเนินงานตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน ราษฏรชาวไทยภูเขาในวันนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขอยู่บนพื้นฐานแห่งความพอเพียง พอมี พอกิน พอใช้ ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ประการสำคัญคือขจัดฝิ่นมหันตภัยให้หมดไป พูดได้อย่างเต็มปากว่า โครงการหลวงพลิกฟื้นคืนชีวิต คืนทรัพยากรธรรมชาติให้คนไทยให้ประเทศไทยได้อย่างแท้จริง นี่คือพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ ชาติบ้านเมืองอย่างหาที่สุดมิได้แท้จริง