เขียนภาพ“นารายณ์อวตาร”8ปางฉากบังเพลิง ด้านหลังฉากอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดับดาวเรืองสีเหลือง ดอกไม้ประจำ ร.9 เผยจิตรกรรมประกอบพระเมรุมาศน้อมนำแนวทางพระราชดำริภาพ 2 มิติครึ่ง นายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า กลุ่มจิตรกรรมดำเนินการเขียนภาพลงบนฉากบังเพลิงที่ใช้เป็นเครื่องกั้นและบังลมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉากมีลักษณะเป็นฉากพับได้ติดไว้กับเสาพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ฉากแต่ละด้านมีขนาดกว้าง 5 เมตร สูง 4.50 เมตร ใหญ่กว่าฉากบังเพลิงที่ผ่านมา โดยแต่ละทิศแสดงเรื่องราวนารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 จำนวน 8 ปาง และมีกลุ่มเทวดาแสดงความยินดีและรับกลับสู่สรวงสวรรค์ จิตรกรรมบนฉากบังเพลิงด้านทิศเหนือ ช่องด้านบน เขียนปางที่ 1 มัสยาอวตาร ทรงอวตารเป็นปลากรายทอง ปางที่ 2 กูรมาวตาร ทรงอวตารเป็นเต่า ช่องด้านล่างแสดงเรื่องโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหมวดน้ำ เป็นเรื่องฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสาน , ฝายต้นน้ำเพื่อชะลอน้ำศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ จ.เชียงใหม่ , อ่างเก็บน้ำเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์,เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เวลาขาดแคลนน้ำ,โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ ด้านทิศตะวันออก ช่องด้านบนเป็นปางที่ 3 วราหาวตาร ทรงอวตารเป็นหมูป่า ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร ทรงอวตารเป็นนรสิงห์ ช่องด้านล่างเป็นโครงการพระราชดำริหมวดดิน ประกอบด้วยดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้,ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน,ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนและโครงการหุบกระพง-ดอยห้วยขุน,ดินดาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย,ดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ฉากบังเพลิงด้านทิศใต้ ช่องด้านบนแสดงเรื่องราวปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ ปางที่ 7 รามาวตาร ทรงอวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์ ช่องด้านล่างแสดงโครงการพระราชดำริหมวดไฟ ทั้งสบู่ดำปลูกเพื่อสกัดน้ำมันใช้แทนน้ำมันดีเซลในภาคอีสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน,โรงงานผลิตไบโอดีเซล ,เชื้อเพลิงอัดแท่งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา,แก๊สชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา,พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้สำหรับอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ ทิศตะวันตกเขียนปางที่ 8 กฤษณาวตาร ทรงอวตารเป็นพระกฤษณะ และปางที่ 10 กัลกยาวตาร ทรงอวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว ช่องด้านล่างแสดงโครงการพระราชดำริหมวดลม เขียนกังหันลมโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี,กังหันลมโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จ.เชียงใหม่,กังหันลมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา,ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช และบางกระเจ้า พื้นที่สีเขียว ปอดของคนกรุงเทพมหานครตามพระราชดำริ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนออกแบบสีที่จะลงบนภาพเขียน จากนั้นนำภาพมาขยายเท่าจริง สำหรับด้านหลังฉากบังเพลิงทั้ง 4 ด้าน แสดงเรื่องราวดอกไม้ทิพย์และดอกไม้มงคลมาเรียงร้อยผูกเป็นลวดลายเพื่อเทิดพระเกียรติและสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ช่องด้านบน ภายในพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดับด้วยดอกดาวเรืองสีเหลือง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 9 และลวดลายเฟื่องอุบะผูกด้วยดอกมณฑลทิพย์ ซึ่งเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์จะร่วงหล่นในยามที่เกิดเหตุการณ์สำคัญแก่ชาวโลก อีกช่องเขียนพุ่มต้นไม้ทองผูกด้วยดอกมณฑาทิพย์เพื่อเป็นการสักการะ ร.9 ส่วนช่องด้านล่างเขียนดอกบัวสวรรค์ที่ปรากฎในสวรรค์ชั้นดุสิตผูกด้วยดอกไม้และใบบัวล้อสายน้ำ ลายเมฆและลวดลายไทย จิตรกรรมฉากบังเพลิงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงครั้งนี้ยึดคติความเชื่อกษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพ เมื่อสวรรคตก็กลับสู่สรวงสวรรค์อีกครั้ง “การเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงนี้ว่า ได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแนวทางไว้เมื่อครั้งที่กลุ่มเขียนภาพจิตรกรรมพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง รับสั่งให้เป็นแบบปัจจุบัน คือ ภาพเขียนมีลักษณะ 2 มิติครึ่ง ซึ่งเดิมจิตรกรรมไทยประเพณีเป็น 2 มิติ จิตรกรรมตะวันตกเป็น 3 มิติ แล้วนำมาผนวกกันให้มีความเป็นร่วมสมัยเข้ามาเป็นภาพ จิตรกรรม 2 มิติครึ่งที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ใช้การตัดเส้นรอบนอกแบบไทยโบราณและปิดด้วยทองคำเปลว ส่วนการเขียนด้วยสีใช้สีแบบด้านจะได้อารมณ์รู้สึกมากกว่าสีฝุ่น อย่างไรก็ดี การเขียนภาพฉากบังเพลิงยังมีกลุ่มจิตรกรรมเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาร่วมงานด้วย” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว.