รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล จากลูกน้ำเต้าเป็นปี่ไทย เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ส่วนมากแล้ว ย่อมมีรูปร่างขึ้นอยู่กับชนิดของท่อลมที่ใช้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าตัวท่อลมนั้นเป็นโครงสร้างหลักของเครื่องดนตรี ดังนั้น ท่อลมมีรูปร่างอย่างไร เครื่องเป่านั้นก็มักมีรูปร่างไม่ต่างกันมาก เช่น เครื่องดนตรีประเภท horn ที่มีต้นกำเนิดจากเขาสัตว์ ก็มีท่อลมเป็นรูปทรงกรวยของตัวเขาสัตว์นั้นเอง เป็นต้น หรือเครื่องดนตรีประเภทอื่น เช่น flute, clarinet, หรือเครื่องอื่นๆ ก็มีลักษณะของท่อลมเป็นรูปร่างเดียวกับที่ปรากฏอยู่ภายนอกอย่างไม่ผิดไปจากกัน แต่ต้องนับเป็นเรื่องน่าสนใจ ที่ “ปี่” ของไทย กลับมีรูปร่างภายนอก แตกต่างไปจากลักษณะของท่อลมที่ใช้อย่างเห็นได้ชัด ดังที่บทความ “ปี่ไทย: รูปทรงภายนอก กั บโครงสร้างการกำเนิดเสียงภายในที่ขัดแย้งกัน” ของ ประภัสสร์ ชูวิเชียร (วารสารสุริยวาฑิต ฉบับประจำปี 2560) ได้ชี้ให้เห็น ในบทความนี้ ประภัสสร์อธิบายโครงสร้างของปีไทย ทั้งปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน ว่า เป็นปี่ประเภทใช้ลิ้นคู่ (Double reeds) สร้างการสั่นสะเทือนให้เกิดเสียง ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปี่ประเภทนี้น่าจะมีต้นกำเนิดจากตะวันออกกลาง คืออาหรับ-เปอร์เซีย และเผยแพร่เข้ามาในอุษาคเนย์ผ่านวัฒนธรรมอิสลาม ดังจะเห็นได้จากชื่อของปี่ไฉน ที่สันนิษฐานว่ามาจากเค้าคำเดิมว่า Surnai ในภาษาเปอร์เซีย แต่ที่สำคัญ โครงสร้างท่อลมของปี่ไทย ทั้งปี่ไฉน และ ปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน มีลักษณะเป็น “ทรงกรวย” หรือที่เรียกว่า Conocal Bore คือมีขนาดเล็กตรงส่วนโคนและขยายบานออกตรงส่วนปลาย ดังที่ปี่ไฉน ปี่ชวา ปี่มอญ ปี่แน ปรากฏรูปร่างภายนอกเห็นเด่นชัด ว่าเป็นรูปทรง “ทรงกรวย” (ดูภาพประกอบ) แต่ที่น่าแปลกคือ ปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน กลับมีรูปร่างภายนอกผิดออกไป คือมีลักษณะ “ป่องตรงกลาง” อย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ตัวท่อลมภายใน ก็มีรูปทรง “ทรงกรวย” เช่นเดียวกับปี่ไฉนและปี่ชวาอย่างไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งตรงนี้ ประภัสสร์ให้คำอธิบายว่า รูปร่างที่แปลกไปของปี่น่าจะมีที่มาจากรูปทรงของ “น้ำเต้า” หรือ “ปี่น้ำเต้า” ซึ่งถือเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่แต่ดึกดำบรรพ์ในดินแดนอุษาคเนย์ ดังที่ประภัสสร์อธิบายไว้ว่า “ทรวดทรงของปี่น้ำเต้าหรือเรไรนี้ ประกอบไปด้วยท่อลมที่ทำจากไม้ซางหรือไม้ไผ่ ประกอบเข้ากับลูกน้ำเต้าที่มีรูปทรงป่องกลาง” และเพราะ “น้ำเต้า” ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นทั้งอาหารและภาชนะเก็บน้ำของมนุษย์แต่ก่อน และยังมีตำนานว่าด้วยกำเนิดของมนุษย์ (ในอุษาคเนย์) ว่ามีกำเนิดจากน้ำเต้าปุง รูปทรงของปี่น้ำเต้าจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก (รูปทรงป่องกลางนี้ยังคล้ายคลึงกับลักษณะของผู้หญิงตั้งท้อง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมช่วงก่อนประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก) ดังนั้น ถึงแม้ว่าปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน จะรับเทคนิคการใช้ลิ้นคู่มาจากอารยธรรมอิสลาม แต่ก็ยังจงใจรักษารูปทรงดั้งเดิมของ “ปี่น้ำเต้า” เอาไว้ด้วยในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต้นเค้าของความศักดิ์สิทธิ์ ประภัสสร์สรุปบทความนี้ไว้อย่างประชับและได้ใจความชัดเจนว่า “ปี่ไทย แสดงให้เห็นถึงการสืบต่อด้านรูปแบบ-รูปทรงมาจากเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การเป่าน้ำเต้า ส่วนโครงสร้างภายในเห็นได้ว่า เกิดจากพัฒนาการทางสังคมและการติดต่อกับโลกมุสลิม ทำให้มีระบบการเกิดเสียงแบบเครื่องดนตรีตระกูลปี่ที่มาจากตะวันออกกลาง (ซึ่งผ่านทางอินเดีย ชวา มลายู เข้ามาอีกทีหนึ่ง) …แสดงให้เห็นว่า เครื่องดนตรีไทยมีพัฒนาการสองส่วน อันได้แก่ การสืบต่อความเชื่อตามแบบแผนประเพณีซึ่งบางครั้งหลงเหลืออยู่เพียงรูปลักษณ์ กับการปรับปรุงโดยใช้เทคโนโลยีจากภายนอกมาทำให้การสร้างเสียงมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นตามความต้องการของยุคสมัย” ภาพจากวารสารสุริยวาฑิต