ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง “กินนร–กินนรี” แบบอย่างคู่รักทรหด ความรักไม่ได้ตีกรอบเฉพาะมนุษย์และสิงสาราสัตว์บนโลกใบนี้เท่านั้น บนโลกสรวงสวรรค์ของเหล่าเทพ เทวดาก็มีความรัก เป็นต้นว่า กินนร–กินนรี ที่มีรูปกายคนครึ่งนก ในจันทกินนรชาดกยังเล่าเรื่องกินนรีที่มีความรักอันมั่นคงต่อกินนร และเพื่อให้เข้าช่วงวันแห่งความรัก จึงหยิบเอางานเขียนคุณ อมรา ศรีสุชาติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กรมศิลปากร เรื่อง “เพราะเหตุใดประติมากรรมปูนปั้นรูปกินนร–กินนรี ที่สุโขทัย จึงมีเท้าเป็นกีบม้า?” นิตยสารศิลปากร (ม.ค.–ก.พ.2559) คัดเฉพาะมุมความรัก “กินนร–กินนรี” มาแบ่งปันความรู้สู่ผู้อ่าน กินนร–กินนรี คู่รักเคียงคู่กันเสมอ ณ ภูเขาไวบูลย์บรรพต สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 23–24 , นิตยสารศิลปากร “อันที่จริง กินนร–กินนรีกำเนิดในตำนานปรัมปราของประเทศอินเดีย คำว่า “กินนร” (อ่าน กิน-นะ-ระ) มาจากภาษาสันสกฤต คือ “กิม-นร” (อ่านว่า กิม-นะ-ระ) แปลว่า “คนอะไร” (กิม = อะไร, นร = คน) เสมือนเป็นคำถามว่า “นี่จะเรียกว่าคนได้ไหม?” หรือ “นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของคนใช่ไหม?” หรือ “จะเรียกสิ่งมีชีวิตรูปแบบนี้ว่าคนอะไรดีหนอจึงจะเหมาะสม?” เป็นต้น กินนร เป็นคำเรียกสำหรับสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ที่เป็น เพศผู้ ส่วนกินนรี ใช้กับ เพศเมีย เรื่องราวของกินนร–กินนรีปรากฏอยู่ไม่น้อยในคัมภีร์และวรรณกรรมในพระพุทธศาสนาและวรรณกรรมปรัมปราในศาสนาฮินดู เช่น มหาภารตะ รามายณะและปุราณะ คัมภีร์และวรรณกรรมของศาสนาฮินดูเหล่านี้อธิบายว่า กินนร–กินนรีเป็นเทวดาระดับล่าง หรือสิ่งมีชีวิตกึ่งเทวดา มีตัวเป็นม้า ศีรษะเป็นคน หรือ บางครั้งก็มีตัวเป็นคน ศีรษะเป็นม้า ใช้ชีวิตเดินเหินเที่ยวเล่น เป็นบริวารของเทพกุเวรบนสวรรค์ด้านเหนือของเขาไกลาส กินนร–กินนรีเป็นผู้ขับขานลำนำเพลงสรรเสริญบรรดาเทพเจ้าและเทวดา ในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาแม้จะกล่าวว่า กินนร–กินนรีมีความโดดเด่นในการขับขานลำนำเพลงและดนตรีและเป็นแบบอย่างของคู่รักทรหด หรือคู่ผัวตัวเมียที่รักและอยู่เคียงคู่กันเสมอ เช่นเดียวกับในปรัมปราฮินดู แต่ยังอธิบายรูปลักษณ์ของกินนร–กินนรีแตกต่างออกไป กล่าวคือ กินนร–กินนรี มีรูปลักษณ์ที่ศีรษะเป็นคนแต่ลำตัวเป็นนก มีปีกเหมือนนกด้วย ดังนั้นในมโนภาพของพุทธศาสนิกชนจึงเห็นว่า กินนร–กินนรีเป็นรูปคนครึ่งนก กินนร–กินนรีปรากฏอยู่ในชาดก (ภาษาบาลี เรียก “ชาตกะ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในรูปสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ เรียบเรียงขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 1) มักพรรณนาว่า กินนร–กินนรี เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใสซื่อ จิตใจอ่อนโยน และใจดีที่สุด ในจันทกินนรชาดกบอกเล่าเรื่องราวของพระโพธิสัตว์(ซึ่งในชาติต่อๆไปเบื้องหน้าจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า) เสวยพระชาติเป็นกินนร และมีนางกินนรีเป็นคู่ครอง (คือผู้ที่จะไปเกิดเป็นพระนางยโสธรา พระชายาเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งต่อมาทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) กินนร–กินนรีคู่นี้ครองคู่อย่างมีความสุข กระทั่งวันหนึ่งพระราชาองค์หนึ่งประสงค์ในตัวนางกินนรี จึงสังหารกินนร (พระโพธิสัตว์) แต่ด้วยความรักอันมั่นคงของนางกินนรีและแรงอธิษฐานอันโหยไห้ของนางทำให้พระอินทร์ต้องลงมาชุบชีวิตให้กินนรฟื้นคืนและอยู่ครองคู่เคียงกันต่อไปจวบวาระสุดท้าย นางกินนรีจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของหญิงที่มั่นคงในรักและอุทิศตนเพื่อคนรักอย่างไม่เสื่อมคลาย จินตกวีอินเดียผู้โด่งดังคือ กาลิทาส ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 ในกวีนิพนธ์เรื่อง “กุมารสัมภวะ”(กุมารสมภพ = กำเนิดกุมาร) กล่าวถึงกินนร–กินนรีว่า ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนหิมาลัย หรือ ณ ภูเขาหิมวัต วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยนำมาปรับแต่งสร้างวรรณกรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาและกลายมาเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่โด่งดังเรื่องพระสุธน–นางมโนห์รา รวมไปถึงนาฏกรรมพื้นถิ่นปักษ์ใต้คือการแสดง “โนรา” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในทางศิลปกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนัง ลวดลายบนตู้พระธรรม ภาพในสมุดไทย และภาพพิมพ์บนผืนผ้า ฯลฯ แสดงรูปกินนร–กินนรีอยู่มาก ภาพจิตรกรรมผนังระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในตำราภาพสมุดไทยที่เรียกว่าภาพ “สัตว์หิมพานต์” ปรากฏรูปกินนร–กินนรี รวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุที่ว่า ความคิดเรื่องภูเขาหิมวัตอันเป็นจุดเชื่อมต่อแดนมนุษย์และแดนสวรรค์ของศาสนาฮินดูซึ่งพระพุทธศาสนารับมานั้น ทำให้พุทธศาสนิกชนไทยซึมซับความคิดเรื่อง “ป่าหิมพานต์” (ซึ่งมาจาก หิมวัต-หิมวันตะ-หิมวันต์-หิมพานต์) ว่าอยู่เชิงเขาหิมาลัยหรือเชิงภูเขาหิมวัต อันเป็นที่ชุมนุมของสิงสาราสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างต่างๆ รวมทั้งพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งที่พบเห็นรู้จักได้เช่นทุกวันนี้ หรือมีลักษณะและคุณสมบัติแปลกประหลาดออกไป ไม่เว้นแม้แต่ กินนร–กินนรี ก็ปรากฏอยู่ในป่าและภูเขาอันมหัศจรรย์กึ่งจริง–กึ่งนิยายนี้” กินนร–กินนรี แบบอย่างคู่รักทรหด