ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ศูนย์พัฒนาฯภูสิงห์ฯ (1) การทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับประชาชนชาวไทยมาช้านาน ราษฎรมากกว่าครึ่งของประเทศประกอบอาชีพนี้เป็นหลัก ทำมานานตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย ตกทอดผืนแผ่นดิน องค์ความรู้อาชีพเกษตรเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาตั้งแต่อดีตกาลตราบมาจนถึงปัจจุบัน ณ แผ่นดินที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นชื่อว่าเป็นแผ่นดินทองในการทำการเกษตร แผ่นดินที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ น้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ ได้รับการกล่าวขานว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ปัจจุบัน แม้พื้นที่ทำนาจะยังคงมีมากและมีการทำนาเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เคยมีเคยเป็นแหล่งงาน แหล่งอาหาร แหล่งอาชีพของเกษตรกรกลับลดน้อยลง เกษตรกรรุ่นใหม่ในปัจจุบันผันตัวเองจากทำนามารับจ้างทำงานอย่างอื่น บ้างถึงขายที่นาที่ทำกิน หรือบ้างก็ปล่อยทิ้งร้างไว้ แล้วเท่าที่ยังทำอยู่ก็อาจต้องพบเจอกับปัญหาต่างๆเฉพาะอย่างยิ่งภัยแล้ง อาจกล่าวได้ว่าการทำการเกษตรกรรมในปัจจุบันไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตที่สูงขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ใช้เพื่อการเกษตรคือน้ำหลายพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดแคลน บางช่วงเวลาในหลายพื้นที่น้ำท่วมสร้างความเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่มีเกษตรกรอีกไม่น้อยที่ไม่ได้ละทิ้งอาชีพดั้งเดิมของบรรพชน โดยใช้ภูมิปัญญาของบรรพชนปรับวิถีดำรงอยู่ในสถาณการณ์ปัจจจุบันให้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนมั่นคงทั้งนี้ด้วยการเดินตามรอยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานหลักการทำเกษตรกรรม ตามแนวเกษตรทฏษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือแหล่งน้ำนี่สำคัญ30% ส่วนที่สองทำนา -30%ส่วนที่สามปลูกไม้ผล30% ส่วนที่สี่ 10%สร้างที่อยู่อาศัยปลูกพืชผักสวนครัว หรือจะประยุกต์ทำการเกษตรแบบผสมผสานแต่หัวใจก็ต้องมีแหล่งน้ำ แล้วดำเนินชีวิตด้วยการเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ทรงแนะแนวทางแก่เกษตรกรที่เป้าหมายสูงสุดต้องเกิดผลคือความสุขอย่างยั่งยืนบนความพอเพียง ไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงห่วงใยประชาชนในเรื่องการเกษตรกรรมเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถก็ทรงห่วงใยไม่แพ้กัน อย่างเช่นที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2526 “...การช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาของไทยให้สามารถเลี้ยงตัวได้นั้น เป็นของที่ไม่ยากเกินไปเลย เพราะว่าพื้นฐานของชาวไร่ชาวนาของไทยเรา มีความสามารถรอบตัวอยู่แล้ว สำคัญที่พวกเราจะต้องเข้าไปหาเขา ให้โอกาสเขา ดึงความสามารถของเขาออกมาใช้ประโยชน์ในการช่วยตัวเอง...” โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดขึ้นจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ด้วยพระเมตตาอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ครั้งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตกิ่งอำเภอ ภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่าให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผลและขาดแคลนน้ำในการประกอบอาชีพ ในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร บ้านวนาสวรรค์ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อทรงทอดพระเนตรผลการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ และได้พระราชทานพระราชดำริ “ให้พิจารณาก่อสร้างระบบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพื้นที่การส่งน้ำไปยังที่ดินของราษฎรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ด้วยและทรงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือราษฎรในการปรับปรุงบำรุงดิน และลดพื้นที่การปลูกมันสำปะหลัง ปอแก้ว ข้าวโพด โดยเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลให้มากยิ่งขึ้น” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9 ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปความว่า “ที่นี่มีปัญหาเรื่องดินเป็นดินดาน จึงขอให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิน พิจารณาช่วยเหลือราษฎรในการปรับปรุงดิน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา จัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรด้วย” และเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๘ สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านพนมชัย หมู่ ๕ ต.ห้วยตามอญ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ทรงมีพระราชดำริว่า “ให้กรมชลประทาน พิจารณาพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินแตก และลำห้วยไผ่ พร้อมคลองส่งน้ำ ช่วยเหลือราษฎร แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ” สำหรับเรื่องการทำกินในพื้นที่ป่าไม้ของราษฎรนั้น พระองค์ท่านได้พระราชทานดำริให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดหาพื้นที่เพื่อลองทำโครงการ โดยส่งเสริมอาชีพเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่ทำลายป่า ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร มีแผนการปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต กิจกรรมการทดสอบและพัฒนาการปลูกพืชเศรษฐกิจ พระราชดำริ แบบเบ็ดเสร็จขึ้น ถึงวันนี้เกิน 20 ปีแล้ว ศูนย์การพัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในรูปแบบของการจัดแปลงสาธิต การถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะทางอาชีพรวมไปถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐานให้แก่เกษตรกร แนวทางการดำเนินงานมีลักษณะเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือเป็นแหล่งรวมสรรพวิชาและการบริการด้านเกษตรกรรมในลักษณะเบ็ดเสร็จเพื่อให้ราษฎรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งขยายผลการพัฒนาไปสู่พื้นที่เป้าหมาย ส่วนที่มีความแตกต่างจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือไม่มีกิจกรรมด้านการศึกษา ค้นคว้า ทดลองและวิจัยในระดับพื้นที่เหมือนดังเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ แต่จะเน้นการนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและผลสำเร็จที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมมาให้บริการและขยายผลสู่เกษตรกร นำมาซึ่งความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานพระราชดำริ ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ ตลอดจนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารได้ทรงสืบสานพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำที่เป็นหัวใจของสรรพชีวิต นำมาซึ่งประโยชน์สุขของประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ราษฎรและผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้นำองค์ความรู้ต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม สามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรหมู่บ้านรอบๆศูนย์ฯ และพื้นที่ใกล้เคียงให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯแห่งนี้ได้นำเอาองค์ความรู้ในด้านต่างๆถ่ายทอดเผยแพร่และขยายผลสู่ราษฎรจนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน เพื่อให้บังเกิดผลและความผาสุกของราษฎรตลอดไป (่อานต่อ)