ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] ศูนย์พัฒนาฯภูสิงห์ฯ (จบ) ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้านคือ ด้านอำนวยการ จัดเตรียมความพร้อมในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ 540 ไร่ จัดหาโครงสร้างพื้นฐานทั้งอาคารสำนักงาน อาคารฝึกอบรม บ้านพัก และถนน รวมทั้งพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ด้านวิชาการ ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมสาขาต่างๆ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการประกอบอาชีพ ในลักษณะแปลงสาธิตต้นแบบ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานของประชาชนและหน่วยงานที่สนใจ สุดท้ายด้านการขยายผลการพัฒนาไปสู่เกษตรกรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานสนองพระราชดำริของศูนย์แห่งนี้ โดยเป็นการนำเอาองค์ความรู้ และปัจจัยการผลิต ที่เหมาะสมและผ่านการศึกษาค้นคว้าตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานเป็นแนวทางไว้โดยหน่วยงานต่างๆ แล้ว ไปขยายผลและถ่ายทอดสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายหลักในเขตอำเภอภูสิงห์ทั้ง 7 ตำบล และพื้นที่เป้าหมายรองในบริเวณใกล้เคียง ผลสำเร็จที่โดดเด่นของศูนย์ ประกอบด้วย งานพัฒนาด้านพืช จัดทำแปลงต้นแบบการปลูกพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก ในพื้นที่ศูนย์ เพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาเรียนรู้และนำแบบอย่างไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง งานพัฒนาด้านข้าว ดำเนินการให้ความรู้และส่งเสริมการจัดการเกี่ยวกับการผลิตข้าวคุณภาพดี เน้นให้เกษตรกรลดการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากภายนอกและสารเคมีต่างๆที่เป็นอันตรายให้ความรู้และถ่ายทอดทักษะการผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี งานพัฒนาด้านพัฒนาที่ดิน จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ อันเป็นหัวใจของการเจริญงอกงามสร้างผลผลิตที่ดี ระวังรักษาและป้องกันดินมิให้ถูกชะล้างและพัดพาไป ตลอดจนการปรับปรุงบำรุงดินให้คงความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังได้รณรงค์และส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อลดความรุนแรงของการชะล้างพังทลายของดิน โดยได้ดำเนินการรณรงค์และส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ งานพัฒนาด้านป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่และส่งเสริมอาชีพเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่าอีกด้วย โดยนายอำพล เสนาณรงค์ อดีตองคมนตรี เคยเล่าไว้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงสนพระทัย ต้องการให้ตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาการขึ้นมา เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ในทุกทุกด้าน เพราะทรงเห็นว่าราษฏรทางนี้มีปัญหาด้านต่างๆมาก เช่น การทำนาก็เรียกได้ว่าแล้งปลูกแล้วผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ผลไม้ต่างๆก็ปลูกไม่ได้ การอาชีพต่างๆก็มีปัญหา พระองค์จึงให้รัฐบาลโดยสำนักงานกปร. เจ้าของงานวิชาเกษตรกรมการข้าว กรมพัฒนาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมป่าไม้ รวมกันทำงานด้านการพัฒนาของประชาชน เข้ามาช่วยกันทำงานพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้แก้ปัญหาอาชีพของเกษตร ให้สำเร็จ ซึ่งมาถึงวันนี้ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริมีความก้าวหน้ามาก “ผลการดำเนินงาน ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์มาเป็นลำดับ สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาและการดำรงชีวิตของประชาชนในหลายๆด้าน ช่วยให้ราษฎร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กล่าวคือ องค์ความรู้ที่โดดเด่น สามารถนำไปจัดทำหลักสูตร ฝึกอบรมที่มีความโดดเด่น จำนวน 15 เรื่อง มีผู้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เฉลี่ยปีละ 10,000 ราย”อดีตองคมนตรี กล่าว ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระเมตตาด้วยพระราชหฤทัยห่วงใย ศูนย์การเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 นับเป็นโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ก่อให้เกิดคุณูปการต่อประชาชนและประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ประชาชนได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้แนวพะราชดำริ ที่ได้ทรงอุทิศพระวรกายตลอดระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง นับว่าได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการขยายพื้นที่โครงการเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ฝึกฝนด้านการประกอบอาชีพการดำเนินชีวิตที่สามารถนำไปพัฒนาคุณคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้เสริมเพิ่มไปจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ที่พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไว้ทั่วประเทศกว่า 5,000 โครงการเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ทดลองลงมือทำจริงทั้งด้านการพัฒนาดิน น้ำ ป่าไม้ พัฒนาอาชีพ การลดภาวะโลกร้อน และพลังงานทดแทน เพื่อให้ราษฎรและทุกภาคส่วน ได้น้อมนำไปปฏิบัติให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความดีงาม ความถูกต้อง ความสามัคคีปรองดอง และเกิดประโยชน์สุข สมดังพระราชประสงค์ต่อไป จากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ ได้รับการยกฐานะให้เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้มีการศึกษาทดลองและกลั่นกรองแล้ว ถ่ายทอดสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายของโครงการให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริในวันนี้ จึงพร้อมที่จะได้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณชีวิตเพื่อความเป็นอยู่แบบพอเพียงมีความสุขอย่างยั่งยืนสมดังพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลานนานเท่านาน ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองงานตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีหน่วยงานร่วมดำเนินงาน ๑๓ หน่วยงาน โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ประสานงานหลัก การปฏิบัติในการผลิตพืชเพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐาน ปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และคุณภาพถูกใจ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลิตอาหารปลอดภัย โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนชาวไทย ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เทียบเท่าการส่งออก ผลิตถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง มันสำปะหลัง มีผลการดำเนินงานตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชใน แปลงที่ทำการตรวจรับรองพืช ได้แก่ หอมแดง พริก ทุเรียน งานพัฒนาด้านเกษตรกรรม จัดทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบ จำนวน 10 แปลง แปลงต้นแบบการปลูกไม้ผล ได้แก่ ลิ้นจี่นครพนม 1 เงาะโรงเรียน ลำไย กาแฟ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้วมะม่วงอื่นๆ ส้มโอ มังคุด ปาล์มน้ำมัน กล้าปาล์มน้ำมัน มะกอกน้ำ กระท้อน และอื่นๆ อย่างละ ๑ ไร่ รวม ๑๓ ไร่ ตามแนวถนนภายในศูนย์ ฯ เพื่อเป็นแปลงศึกษาดูงาน ขยายพันธุ์ และผลิตผลไม้ตามสภาพของพันธุ์แต่ละชนิด มีแปลงต้นแบบการปลูกยางพารา แปลงต้นแบบการปลูกพืชอินทรีย์ แปลงต้นแบบการปลูกมะนาวนอกฤดู แปลงต้นแบบการผลิตเห็ดเศรษฐกิจ แปลงต้นแบบเกษตรผสมผสาน “ทฤษฎีใหม่ฯ ” ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำทฤษฎีใหม่ฯมาดำเนินการภายในศูนย์ฯ และขยายผลสู่ราษฎรบริเวณใกล้ศูนย์ฯ และขยายไปหลายอำเภออย่างต่อเนื่อง แปลงของศูนย์ฯ มีพื้นที่ ๑๕ ไร่ ซึ่งรับน้ำมาจากระบบชลประทานจากอ่างกักเก็บน้ำห้วยตึ๊กชู เป็นต้น มีผู้มาศึกษาดูงานภายในศูนย์ฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 132 คณะ รวม 8,164 คน ผู้มาศึกษาดูงานมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา เกษตรกรทั่วไป รวมทั้งองค์กรต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กลุ่มเยาวชน และมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายในสถานที่มีจัดนิทรรศการและการให้บริการประชาชน มีการจัดนิทรรศการ พร้อมกับการให้บริการกับประชาชน ด้านต่างๆ ได้แก่ โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร โครงการศูนย์ดำรงธรรมอำเภอยิ้ม..เคลื่อนที่ และทางศูนย์ฯ มีการขยายผลด้าน เกษตรทฤษฎีใหม่ฯเพื่อขยายโครงการแก่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ เพื่อให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายในครัวเรือน พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มีเป้าหมายจัดฝึกอบรม 108 ราย มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและประสบผลสำเร็จอย่างน้อยอำเภอละ 4 ราย มีกิจกรรมภายในแปลงเพิ่มขึ้น พื้นที่รับผิดชอบเกษตรกรในเขตอำเภอภูสิงห์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ และอำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ