วันที่ 16 ก.พ. 60 ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการสอบสวนดำเนินคดีอาญาพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณีได้รับเงินที่เกิดจากการทุจริตของอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวนเงินกว่า ๑,๔๐๐ ล้านบาท ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เป็นคดีพิเศษที่ ๒๗/๒๕๕๙ ซึ่งพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และศาลอาญาได้ออกหมายจับไว้เพื่อให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจับตัวนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันคดีดังกล่าวพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวมถึงเห็นควรสั่งฟ้องพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย และมีคำสั่งถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจัดการเพื่อให้ได้ตัวมาดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจและติดตามการดำเนินการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ได้ตัวพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย มาดำเนินคดีโดยตลอด ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา ถึง ๓ ครั้ง คือ (๑) เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙ (๒) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ และ (๓) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ แต่ผู้ต้องหาก็บ่ายเบี่ยงอ้างเหตุจำเป็นต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประเมินสถานการณ์และขออนุมัติศาลเพื่อเข้าทำการตรวจค้นพื้นที่วัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบที่เกี่ยวข้องเพื่อพบและจับกุมตัวบุคคลตามหมายจับ ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ เมื่อมีการนำกำลังเข้าปฏิบัติการปรากฏว่ามีมวลชนจำนวนมากมาสวดมนต์ภายในวัด มีบุคคลปกปิดใบหน้าปะปนในหมู่ประชาชนภายในวัด รวมทั้งมีการตั้งเครื่องกีดขวางเส้นทางเข้าออกวัดและจุดสำคัญต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าปฏิบัติการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าหากยังคงปฏิบัติการต่อไปอาจมีผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์หรือก่อความวุ่นวาย จนส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาปฏิบัติธรรมตามความเชื่อ จนต้องยุติการปฏิบัติการ และในการเตรียมการเพื่อเข้าตรวจค้นในครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ เจ้าหน้าที่ก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งการจะตัดสินใจเข้าปฏิบัติการเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาปฏิบัติธรรมตามความเชื่อ ซึ่งจากการประเมินเห็นว่ามีจำนวนมากกว่าการเข้าปฏิบัติการตรวจค้นครั้งแรก ประกอบกับทางการข่าวพบมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่จะฉวยโอกาสสร้างความรุนแรงและใส่ความว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย และจะนำเสนอข่าวที่เป็นเท็จไปบนระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อทำลายความเชื่อถือต่อเจ้าหน้าที่และทำให้เข้าใจว่าเป็นการรังแกสถาบันพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ทั้งที่เป็นการปฏิบัติการเพื่อจับกุมบุคคลตามหมายจับ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงจำเป็นต้องยุติการปฏิบัติการ จากปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษคือคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. ตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมพื้นที่บริเวณวัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบ เพื่อตรวจสอบ คัดกรองผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายออกจากพื้นที่ปฏิบัติการเป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ บางประการเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานโดยสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ ยังคงดำรงหลักการสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑) นำตัวพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (๒) ดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และ (๓) ปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์มิให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดีในการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง โดยให้เกิดผลกระทบกับประชาชนทั่วไปที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ควบคุมน้อยที่สุด