“อภิสิทธิ์” หอบลูกพรรคร่วมถกเวทีปรองดอง ชูหลักความพอเพียง แนะปรองดองยั่งยืน อย่ามองประชาธิปไตยเป็นปัญหา เมินลงนามข้อตกลงไม่มีประโยชน์ ลั่นไม่มีใครทำได้จริง เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 17 ก.พ. 60 – ที่กระทรวงกลาโหม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะกรรมการบริหารพรรค เดินทางเข้าหารือพูดคุยกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อความสามัคคีปรองดองที่มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า การเข้าร่วมพูดคุยรับฟังความคิดเห็นวันนี้เป็นการมาตอบคำถามทั้ง 10 ข้อ สิ่งสำคัญคือการเสนอแนวทางเรื่องการสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืน การสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน อย่ามองว่าประชาธิปไตยเป็นตัวปัญหา แต่ต้องมองว่าความบกพร่องของการใช้ระบอบประชาธิปไตยในอดีตเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข หากเราเคารพสิทธิของกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยต้องควบคู่ไปกับหลักนิติธรรม รวมถึงการรู้จักใช้อำนาจอย่างมีขอบเขตของคนที่มาจากการเลือกตั้งทุกอย่างจะเดินไปได้ จะทำให้รู้ว่าการปฏิรูปจะต้องเน้นเรื่องใดก่อน โดยเฉพาะการเงื่อนไขที่เป็นปัญหาในอดีต อาทิ การทุจริตคอรัปชั่น การทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ เป็นต้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอว่าจริงๆแล้วสิ่งที่ควรจะน้อมนำมาคือหลักความพอเพียงในการมาทำงานทางการเมือง หลักการพอเพียงคือพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ซึ่งไม่ว่าผู้มีอำนาจ ผู้แพ้ ผู้ชนะทางการเมืองต้องไม่สุดโต่ง รู้ขอบเขตของการทำงาน รวมทั้งการมีเหตุมีผล และทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง นอกจากนี้ต้องร่วมกันสร้างภูมิคุ้มต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทางการเมือง โดยพรรคได้เน้นเรื่องเหล่านี้ว่าจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยให้ยั่งยืนได้อย่างไร นี่คือหัวใจสำคัญที่เป็นข้อเสนอของพรรค เมื่อถามว่าได้เสนอภูมิคุ้มกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเราวางกลไกการถ่วงดุลอำนาจให้ดี สถานการณ์จะไม่ลุกลาม ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นถ้าไปตีโจทย์ว่ามีการเลือกตั้งหรือจากการมีระบอบประชาธิปไตย เราจะเข้าใจผิด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือเมื่อใดที่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต ละเมิดกฎหมาย สิทธิของผู้อื่นแล้วเกิดความไม่เป็นธรรม ความเดือนร้อน และไม่พอใจขึ้น จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน ทั้งนี้ ยืนยันว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเดินหน้าไปตามกระบวนการยุติธรรม ยกเว้นกรณีประชาชนทั่งไปที่มาชุมนุมแล้วผิดกฎหมายพิเศษ กับความผิดที่เป็นความผิดเล็กน้อย ซึ่งเห็นว่านิรโทษกรรมได้เลย แต่กรณีอื่นๆสมควรให้กระบวนการะยุติธรรมทำงานไปเพื่อเหตุผลหลัก 2 เหตุผล คือ 1.มาถึงวันนี้แนวความคิดที่จะนำผู้อื่นมาศึกษาค้นความจริงทำได้ยากมาก ใครทำผลออกมาไม่ถูกใจก็ไม่ยอมรับ ดังนั้นดีที่สุด คือ คดีขึ้นสู่ศาลให้ศาลวินิจฉัยเองว่าข้อเท็จจริงคืออะไรในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และ2.เป็นการย้ำว่าสังคมที่จะอยู่กันได้บนความแตกต่างอย่างยั่งยืน ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ถ้าทำถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก ก็มีแต่จะสร้างปัญหา เพราะถูกเป็นผิดมีแต่อยุติธรรม หรือผิดเป็นถูก คนที่ทำผิดก็ได้ใจ ดังนั้นก็ต้องทำตรงนี้ไป ส่วนกระบวนการที่จะลดหย่อนโทษนั้นมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าใน 10 คนที่มาเสนอความเห็น มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำกปปส.อยู่ด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายสาทิตย์เป็นสมาชิกพรรค ส่วนจะขาดจากเป็นกปปส.หรือไม่ ไม่ทราบ ต้องไปถามกปปส. แต่ตนดูจากหัวข้อคำถาม จึงนำคนที่ทำงาน อย่างนายสาทิตย์มาพูดเรื่องสื่อเพราะเคยร่วมกันทำกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อ เพราะสิ่งที่เคยทำมาจะไม่เป็นปัญหาแบบที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตนพิจารณาคนจากเรื่อง เพราะฉะนั้นวันนี้ยืนยันได้ว่าสามชั่วโมงครึ่งตามประเด็นทั้งหมดที่เขียนมาก็ตั้งใจนำคนที่ทำงานแต่ละด้านมาให้ข้อมูลจริงๆ นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จากการเข้ารับฟังการชี้แจงขั้นตอนนั้น เขาฟังไปด้วยประมวลไปด้วยและนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอว่าทางออกควรจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้พูดชัดว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร ซึ่งได้เตือนว่าอย่าไปผูกติดว่าจะมีข้อตกลง สัตยาบัน หรือสัญญา เพราะสุดท้ายก็ไม่ใช่คำตอบ แม้ลงนามไปแต่ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีผลอะไร แต่ไม่ลงนามแล้วทุกคนรู้จักอยู่ร่วมกัน นั่นคือความสำเร็จต่างหาก และใครจะรับรองถึงเหตุการณ์และสถานการณ์ในวันข้างหน้า ซึ่งตนได้ยกตัวอย่างไปว่า ที่ผ่านมากองทัพยืนยันไม่รัฐประหารแต่ถึงวันตัดสินใจรัฐประหาร ตนจะเชื่อว่ากองทัพไม่อยากผิดคำพูด แต่กองทัพก็บอกว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้จะให้ทำอย่างไร ซึ่งเหมือนกัน การจะมาบอกว่าพรรคการเมือง ประชาชนอย่าไปชุมนุม ถ้าอยู่เฉยๆเขาก็ไม่ชุมนุมแต่มันมีเหตุ และไม่มีกลไกอะไรเลยที่เขาคิดว่าสามารถแสดงออกได้ถึงสิทธิที่จะทำได้ เขาจึงไปชุมนุม ดังนั้นการพูดล่วงหน้าจึงไม่มีประโยชน์ “ดังนั้น ต้องมาทำความเข้าใจกันและอยากให้สังคมเข้าใจกัน ผมย้ำไปว่าการปรองดองที่จะเกิดขึ้น จะให้ปรองดองเฉพาะคนที่ให้ข้อมูล หรือนักการเมือง มันไม่มีประโยชน์ ของจริงคือประชาชนและสังคมโดยรวมต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ต่อไปนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างไร เพราะเราคิดไม่เหมือนกัน ผมย้ำไปว่าไม่มีทางทำให้คนคิดเหมือนกัน และเราจะเคารพกันอย่างไรหากคิดไม่เหมือนกัน กรณีการแสดงออกต้องอยู่ในขอบเขตไม่ใช่ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังรุนแรง แล้วใช้วิธีการไม่ถูกต้องจนประเทศเดินไม่ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว