ตั้งแต่เข้ามานั่งเก้าอี้บริหารประเทศในทำเนียบขาว ก็ทำเอาอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นๆ เป็นระยะ สำหรับ "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" ตั้งแต่ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารไม่เอาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือทีพีพี ขู่จะออกจากความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement ) หรือนาฟตา สั่งห้ามชาวมุสลิม 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ ที่ตอนนี้เจอตอเข้าไปเต็มๆ ไปจนถึงเดินหน้าจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ไม่เพียงนโยบายของผู้นำคนใหม่สหรัฐฯ เท่านั้นที่สร้างความห่วงกังวลแก่ทุกฝ่าย แต่สไตล์ส่วนบุคคลที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนไหนเป็นเช่นนี้มาก่อน โดยเฉพาะวันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง พูดออกไปแล้วบอกว่าไม่ได้พูด ดังจะเห็นได้อยู่ในหลายโอกาสตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งมาแล้ว จึงทำให้เขาจัดเป็นผู้นำที่ยากจะรับมือได้คนหนึ่ง เรียกว่า อาจจะไม่สามารถนำเอากรอบ หรือรูปแบบเดิมทั้งหมด ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาใช้สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาะบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เลย สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดเวทีสัมมนา หัวข้อ "ความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐฯ ในยุค Donald Trump" ขึ้นมา เพื่อรวบรวมมุมมอง ความคิดเห็นจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน มาร่วมกันระดมสมองคาดการณ์ถึงบริบทความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับสหรัฐฯ ที่อาจจะเปลี่ยนไปในรัฐบาลใหม่ โดย "รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี" นายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และผอ. ศูนย์อาเซียนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับสหรัฐฯ ว่ามีมายาวนานเกือบ 200 ปี แล้ว แต่ถ้านับเฉพาะที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันจริงๆ ก็ตั้งแต่ พ.ศ. 2376 ไทยถือเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย ในช่วงทศวรรษ 1950 -1960 ถือเป็นยุคแห่งการพึ่งพาสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น ซึ่งขณะนั้นทั้งสองประเทศมีเป้าหมายร่วมกันในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยไทยส่งทหารเข้าร่วมสงครามเกาหลีในช่วงปี 1950 หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลงในปี 1954 ไทยก็เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ SEATO อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 ถือเป็นยุคแห่งความสับสนวุ่นวาย ในปี 1975 สหรัฐฯ แพ้สงครามเวียดนาม ได้ถอนตัวออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยด้วย ช่วงนี้ไทยต้องปรับตัวอย่างมากในทางการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน พยายามจะยกระดับความร่วมมืออาเซียนให้เกิดขึ้น จากนั้นก็เข้าสู่ยุคการทูตรอบทิศทางในช่วงทศวรรษ 1980 ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ สำหรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในช่วงนี้นั้นห่างกันออกไป และยิ่งห่างมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ไทยวุ่นอยู่กับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน กับกรอบความร่วมมืออาเซียน มุ่งเน้นเอเชียกับเอเชีย มากกว่าสหรัฐฯ และตะวันตก ทว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง ในปี 1997 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ไทยต้องหันไปหาสหรัฐฯ เพื่อขอความช่วยเหลือโดยเฉพาะการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นการกลับมาพึ่งพาอีกครั้ง หนึ่ง ต่อมาในช่วงปี 2001 - 2006 ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ไทยต้องการเน้นนโยบายชาตินิยม ภูมิภาคนิยม และเอเชียนิยม ต้องการปรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่ โดยที่ให้มีความสัมพันธ์ในลักษณะ partnership มากขึ้น พอหลังเหตุการณ์โวินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ เมื่อ 11 ก.ย. 2001 อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐฯ บีบได้ให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายรวมทั้งไทยด้วย ช่วงเวลานั้น ในแง่ของการค้าเป็นยุคของการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทวิภาคี ซึ่งไทยเองก็อยากมีเอฟทีเอกับสหรัฐฯ มาก โดยอดีตนายกฯทักษิณ ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 2003เพื่อพบกับประธานาธิบดีบุช หลังจากนั้นบุชมาเยือนไทยเดือน ต.ค. ปีเดียวกันเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดเอเปก ก็ประกาศว่าพร้อมจะเจรจาเอฟทีเอกับไทย และประกาศให้สถานะพันธมิตรนอกนาโตกับไทย ถือเป็น 2 สิ่งสำคัญที่ไทยได้รับ อย่างไรก็ตามการเจรจาเอฟทีเอกับไทยก็ติดขัด ทำให้จนถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่มีเอฟทีเอกับสหรัฐฯ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ก็เข้าสู่ยุคซับซ้อนอันเนื่องมาจากปัจจัยภายในของไทยเอง ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่การรัฐประการ 19 ก.ย. 2006 แต่นั้นเป็นต้นมารัฐบาลไทยก็ไร้เสถียรภาพมาตอด ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไทยสูญเสียหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทางการทูต เรื่องเครดิตในการเป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งของสหรัฐฯ ที่หยุดนิ่งมากว่า 10 ปีแล้ว จนในปี 2014 เกิดรัฐประหารอีกครั้ง ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า สหรัฐฯ ก็กดดันไทยในการให้เดินหน้ามาสู่การเป็นประชาธิปไตย อ. ประภัสสร์ มองว่า อนาคตความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ต้องดูนโยบายที่เป็นตัวแปรสำคัญอย่างมาก แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก เท่าที่จับได้ขณะนี้ แนวนโยบายเป็นลักษณะอนุรักษ์นิยม ขวาจัด ชาตินิยมแบบสุดโต่ง จากคำขวัญ "Make Amierica Great Again" และ "America First" ก็จะมองเห็นได้ชัด การที่ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าสหรัฐฯ สูญเสียความยิ่งใหญ่มาจากเศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงาน การศึกษา หลักประกันสุขภาพ อาชญากรรม การก่อการร้าย โครงสร้างพื้นฐาน หมดยุค American Dream ที่เป็นดินแดนแห่งโอกาสไปแล้ว เหล่านี้มาจากโลกาภิวัฒน์ กล่าวคือ การเปิดประเทศมากเกินไป เอฟทีเอทำให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานผลิตไปยังประเทศต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าแล้วส่งสินค้ากลับมาขายในสหรัฐฯ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมองว่าจีนเอาเปรียบส่งสินค้าราคาถูกมาตีตลาดทำให้โรงงานต่างๆ ในสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลง การเป็นตำรวจโลกก็เช่นกันที่ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางทหารมหาศาลในการปกป้องพันธมิตรและที่สำคัญคือแรงงานเถื่อน ที่เข้ามาแย่งงานคนสหรัฐฯ และใช้ทรัพยากรสวัสดิการที่ควรจะเป็นของคนสหรัฐฯ ที่กล่าวมานั้นทำให้มองว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มจะใช้นโยบายโดเดี่ยวนิยม ให้พันธมิตรรับผิดชอบตัวเอง ลดบทบาทด้านการทหาร ซึ่งจะทำให้พันธมิตรนาโตปั่นป่วน โดยหากทำเช่นนั้นโลกก็จะสูญเสียดุลยภาพแห่งอำนาจ จากรัสเซียที่ต้องการขยายอิทธิพลในยุโรป จะทำให้รัสเซียเหิมเกริมยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในเอเชีย ที่การถ่วงดุลอำนาจของจีนจะปั่นป่วน ส่วนในด้านการค้า การที่ไม่เอาทีพีพี เพราะมองว่าเอฟทีเอทำให้สหรัฐฯ เสียประโยชน์ ก็คงจะไปใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม นโยบายต่อเอเชียนั้นเขาก็ไม่ได้พูดชัดเจน ทำให้คาดเดาได้ยากว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่ออาเซียน ก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา มียุทธศาสตร์ชัดเจนในเรื่องหวนคืนสู่เอเชีย ถ่วงดุลจีน กระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน แต่รัฐบาลประธานาะบดีทรัมป์น่าจะคิดว่าทวิภาคีสหรัฐฯ น่าจะได้เปรียบมากกว่าพหุภาคี ในส่วนของไทยนั้น คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่คงจะมีมากขึ้นแน่นอน เพิ่มมากขึ้นแน่นอน แต่ไทยไม่มีทางเลือก อย่างไรแล้วก็ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ ต่อไป ไทยก็ยังมีความสำคัญ ในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ภูมิศาสตร์ไทยก็เป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีบทบาทในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ไทยมีจุดยืนพิเศษระหว่างจีน กับสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ จะมองข้ามไม่ได้ ขณะที่ "นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล" ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในอนาคตจะเกิดการกีดกันการค้า (Protectionism) ระบาดไปทั่ว ที่อังกฤษก็เกิดขึ้น แม้แต่การหาเสียงในยุโรปก็แสดงให้เห็นชัดเจน ฝรั่งเศสก็มีกระแสจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) มองว่ามีกลุ่มประเทศที่พ่ายแพ้โลกาวิวัฒน์ ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่จึงโทษว่าโลกาภิวัตน์ล้มเหลว ไม่อยากรวมอยู่กับพวก อยากออกมาเป็นใหญ่คนเดียว นายพรศิลป์ มองว่า สาเหตุที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะเลือกตั้งมี 3 เรื่องที่เขาจับจุดหาเสียงถูก ได้แก่ การค้าเสียเปรียบ กฎระเบียบที่เสียเปรียบ และพลังงานที่แพงเกินไป โดยในเรื่องการค้าที่เสียเปรียบ เสียดุลการค้ามากนั้น คือส่งออกน้อยซื้อมาก เวลานี้จึงกลับมามองในภาคการผลิต และเขาประกาศจะแก้ปัญหาดุลการค้ากับ 6 ประเทศสำคัญก่อน ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก เยอรมนี เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ที่คิดจะทำมากที่สุด คือบอกว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนร้อยละ 35 แต่พูดขึ้นมาลอยๆ ส่วนตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถหาอะไรมาอธิบายให้เกิดขึ้นได้ มีทางเดียวคือขึ้นภาษีในประเทศ แต่จะเลือกเฉพาะจีนก็เป็นไปไม่ได้อีก ส่วนเรื่องระเบียบ กฎต่างๆ อธิบายได้โดยการที่ประกาศจะออกจากนาฟตา หรือพยายามเปลี่ยนแปลงโดยการแก้ไขนาฟตา คิดว่าระหว่างสองฝ่ายไม่น่าจะมีปัญหาแก้ได้อยู่แล้ว อยู่ที่คู่เจรจาจะยอมแก้หรือไม่ แต่มองว่าประสิทธิภาพในการแข่งขันไม่ไปแก้ระเบียบ ต้องแก้ที่ตัวเอง โดยดูตัวเองก่อนว่าแพ้ตรงไหนแล้วแก้ให้ถูกจุด แม้กระทั่งในองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์บอกว่าต้องไปแก้ ส่วนตนเองก็ยังไม่รู้ว่าจะไปแก้ตรงไหน เพราะในดับเบิลยูทีโอ สหรัฐฯ กับประเทศใดๆ ก็ตามมีเสียงเดียวไม่มีมหาอำนาจจะมาครอบงำอะไรได้ นี่ก็วิเคราะห์ได้ว่า เป็นสาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องหนีออกมาเพราะในทางปฏิบัติเพราะใช้อิทธิพลไม่ได้เลย ตั้งแต่การรวมหัวกับยุโรปในการเจรจาอุรุกวัย หลังจากนั้นก็ไม่เคยเจรจาสำเร็จอีกเลย หลังจากรอบโดฮามาก็สิบกว่าปีแล้ว จึงมีเอฟทีเอเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น ทีพีพีจึงเป็นคำตอบของสหรัฐฯ แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ไม่เอาอีก ซึ่งมองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ เลย ศักยภาพในการแข่งขันไม่ได้อยู่บนกระดาษ แต่อยู่ที่วิธีการที่จะจัดการข้อตกลงต่างหาก นายพรศิลป์กล่าวว่า สิ่งที่ไทย หรือประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐฯ ทั้งหมดจะต้องระวัง คือมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพราะมาตรการภาษีไม่มีทางเกิด เป็นไปไม่ได้ จะขึ้นภาษีไม่ได้ เพราะมีแต่กระทบตัวเอง สิ่งที่สหรัฐฯ เก่ง และใช้แน่นอน จะถูกใช้อย่างเข้มข้น เช่น สิทธิ GSP ที่สหรัฐฯ ให้ไทย ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายเดียว มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะตัดก็ทำได้อยู่แล้ว มาตรการ Anti - dumping ข้อกำหนดเรื่องสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นต้น จึงแนะนำรัฐบาลไทให้รีบเตรียมตัวหามาตรฐาน เพราะการค้าต่อไปนี้ไม่ได้วัดกันที่ต้นทุนที่ถูกอย่างเดียว แต่วัดกันด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติว่าใครเก่งกว่ากัน สินค้าแต่ละตัวต้องอธิบายว่ามีคุณค่าในการรักษาทรัพยากรที่กว่ากันอย่างไร "เราอยู่ในโลก 2 ด้าน ข้างหนึ่งคือตะวันตกที่พยายามจะปกป้องการค้า กับอีกข้างเอเชีย นำโดยจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่ต้องการเปิดตลาด ถ้าให้เลือกแนะนำให้เกาะข้างเอเชียไว้ก่อน RCEP จะเป็นข้อตกลงที่ประนีประนอมที่สุด แต่จะมีเงื่อนไขที่ไม่เข้มข้นเลย แต่ก็ต้องเอาตรงนี้ไว้ เพราะจะอยู่ด้วยได้นาน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มองข้ามส่วนที่ต้องปกป้อง ต้องผสมสองส่วนนี้ ไทยจะต้องพัฒนาให้เก่งขึ้น" นายพรศิลป์กล่าว ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กลับมองว่าคนไทยจะตามนายทรัมป์ไม่ทัน ถ้าเชื่อเขาทุกเรื่อง เพราะเป็นอ่านได้ยาก ไม่สามารถใช้กรอบการวิเคราะห์ทั่วไปได้ ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ เป็นคนฉลาด เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์มาก เขาใช้วิธีโกหกให้สับสนจนตามไม่ทัน แต่กระนั้น เวทีการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ต้องรับภูมิศาสตร์การเมืองที่เอาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง ที่บอกว่าสหรัฐฯ ตกต่ำลงนั้นเพียงต้องการใช้ประเด็นนี้หาเสียง เขารู้ว่าตนมีอำนาจ แต่กำลังเล่นละครเพื่อฐานเสียง สหรัฐฯ ยังมีอำนาจต่อรองอยู่ และก็จะใช้อำนาจนั้นในการต่อรอง รศ.ดร. สมชาย กล่าวว่า สิ่งที่จะกระทบกับไทยนั้นมีน้อย เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองแบบหน้ามือเป็นหลังมือ การจะโดดเดี่ยวเป็นไปไม่ได้เลย นี่ไม่ใช่แบบเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ที่ตอนนั้นความมั่นคงของสหรัฐฯ ได้รับการการันตีจากอังกฤษ พอสงครามโลกครั้งที่สองจบ สหรัฐฯ ต้องการเป็นตำรวจโลก วันนี้ถ้าถอยกลับไปโดดเดี่ยวอีก จะเจอภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เช่นจากรัสเซีย จากจีน สิ่งที่ทำวันนี้จึงเป็นการประนีประนอมในสิ่งที่ใช้หาเสียง กับสิ่งที่เป็นการเมืองจริงๆ สำหรับการยกเลิกทีพีพีโดยบอกว่า ไม่ดีสหรัฐฯ นั้น ความจริงเลยทีพีพีได้ฟาสแทรคจากรีพับลิกันด้วยซ้ำ แต่ประชาชนผิวขาวกำลังเจ็บปวด จะปฏิเสธทุกเรื่องไม่ได้ ในกรณีไม่ทีพีพี เขาจะแปลงเป็นทวิภาคีแทน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว ส่วนในแง่การเมือง ความสัมพันธ์กับพันธมิตร ที่ขู่ว่าจะถอนตัวออกไปนั้นก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าถอนออกจะเกิดช่องว่าง ตัวอย่างจากการที่ประธานาธิบดีโอบามาถอนตัวออกจากตะวันออกกลางก็เกิดไอซิส ดังนั้น สมัยของทรัมป์จะให้ความสำคัญกับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกอย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือเศรษฐกิจ เพียงแต่จะทำในวิธีที่สหรัฐฯ เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง รศ.ดร. สมชาย สรุปว่าแนวนโยบายของประะานาะบดีทรัมป์ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในส่วนเศรษฐกิจในแง่การกีดกันการค้า แต่ตัว order หลักๆ คือว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐฯ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องถ่วงดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมืองในเอเชียแปซิฟิก และในยุโรป ซึ่งไทยจะได้รับผลทางอ้อม จากผลกระทบที่มีการบีบจีนมากกว่า อาจจะทำให้อัตราการเติบโตของจีนลดลงไปบ้าง และ RCEP จะทำให้ไทยสนิทกับจีนมากเป็นพิเศษ แต่ในแง่ความมั่นคง แม้ว่าจะมีความใกล้ชิดกับจีน แต่ในอาเซียนยังมีความไม่พอใจจีน จากเรื่องทะเลจีนใต้ ดังนั้นอาเซียน และไทย ใกล้ชิดจีนมากขึ้นก็จริง แต่ยังต้องการสหรัฐฯ เป็นตัวถ่วงอยู่ดี