ปกิณกภาพ “เรียกเขาว่า ทองโบราณ” เป็นโครงกระดูกสุนัขแบบเต็มโครงสมบูรณ์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 3,000 ปีมาแล้ว โครงกระดูกโครงนี้ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2547 ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ยุคเดียวกัน ที่วัดโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ในปี พ.ศ. 2547 ผลจากการขยายหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน เนื่องจากจะทำการบูรณะปรับปรุงใหม่หลังจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวประสบอุทกภัย มีน้ำซึมเข้าไปและอาจทำอันตรายต่อวัตถุที่อยู่ในหลุม นักโบราณคดีได้ขุดพบโครงกระดูกสุนัขในลักษณะเต็มโครงนอนขดตัวอยู่ ซึ่งทำให้ พญ.คุณหญิงอัมพร สุคนธมาน เดินทางกลับมา ณ หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอีกครั้ง และได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เรื่องพบโครงกระดูกสุนัขทั้งตัวที่บ้านเชียง ในครั้งนั้น พญ.คุณหญิงอัมพรได้บันทึกไว้ว่า “พระองค์ท่านก็ได้พระราชทานคำแนะนำให้ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ข้าพเจ้ากราบบังคมทูล อีกว่า จะทรงเรียกชื่อเขาว่าอย่างไร มีรับสั่งทันทีว่า “เรียกเขาว่า ทองโบราณ” ข้าพเจ้าปลื้มปิติ ที่สุนัขของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ได้รับพระราชทานนามว่า “คุณทองโบราณ” นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอันหาใดเปรียบมิได้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ชาวบ้านเชียง รวมถึงชาวศิลปากรทั้งหลาย...” (องค์ความรู้ฉบับย่อ : ข้อมูลและภาพนิทรรศการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง)