ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง “บ้านเชียง” รอคุณไปเยือนหม้อไหเขียนสีอารยธรรมโลก ไปบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว อากาศหนาวพอประมาณ ดึกหน่อยอุณหภูมิลดลงราว 17 – 18 องศา ไปบ้านเชียงเที่ยวนี้เพื่อชมแสงสีเสียงมรดกโลก ที่ทางท้องถิ่นและเครือข่ายจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มาสัมผัสบรรยากาศวันเปิดงาน 10 ก.พ. 60 คึกคักดี ชาวบ้านเชียงและละแวกใกล้เคียงมาร่วมงานกันอย่างหนาตาเต็มสองฟากถนนชุมชน งานมรดกโลกบ้านเชียง เป็นไปแบบสไตล์ไทยท้องถิ่น ช่วงเย็นมีขบวนพาเหรดของแต่ละหมู่บ้านแต่ละตำบล ขนชุดการแสดงต่างๆ ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิต สังคมทางวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านของชาวไทพวนบ้านเชียง เดินริ้วขบวนไปตามเส้นทางถนนของชุมชน พลบค่ำ บนเวทีมีการแสดงทางวัฒนธรรมประกอบแสงสีเสียง งานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียง ประจำปี 2560 นี้ ภายใต้ชื่องาน“ตามรอยพ่อ มรดกไทย มรดกโลกบ้านเชียง” แสดงภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวงรัชกาลที่9” ทอดพระเนตรโบราณคดีบ้านเชียง และพระกรณียกิจต่างๆ ฉายภาพผ่านม่านน้ำประกอบแสงสีเสียงกลางสระน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้าน นอกเหนือจากนี้เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรม และเล่าเรื่องชีวิตชาวไทพวนที่มาจากเชียงขวาง สปป.ลาว ย้ายมาตั้งรกรากที่บ้านเชียงในช่วง 200 ปีมานี่ เป็นภาพโดยรวมของวันปิดงานมรดกโลกบ้านเชียง ในส่วนของนิทรรศการจัดแสดงต่อเนื่องไปอีก 2 วัน ชาวบ้านเชียงเชื้อสายไทพวนในปัจจุบัน (ส่วนชาวบ้านเชียงสมัยก่อนหน้านี้หรือยุคพันปีก่อนเป็นเผ่าใดไม่รู้ได้) มีความภาคภูมิใจที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ยูเนสโก อันดับที่ 359 เมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 5000 ปีล่วงมาแล้ว ที่มีความสำคัญในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เป็นเครื่องยืนยันถึงวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่ามีความสำคัญต่อมนุษยชาติแห่งหนึ่งของโลก บ้านเชียง นอกจากภาพแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน และบ้านไทพานแล้ว อีกภาพหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปจะคุ้นตาหรือนึกถึงก็คือ หม้อดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบ ปัจจุบันชาวบ้านได้นำมรดกชิ้นเอก หม้อดินเผาเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นำมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในรูปภาชนะต่างๆ ไปจนถึงสินค้าที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเชียง ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อคุณขับรถยนต์เข้าเขตชุมชน หรือเดินทอดน่องไปตามทางถนนของชุมชน แลเห็นร้านรวงมากไปด้วยเครื่องปั้นดินเผาสีลายเชือกทาบวางขาย แม้แต่ที่พักแบบโฮมสเตย์ บ้านที่อยู่อาศัย หน้าบ้านยังประดับตกแต่งงานปั้นดินเผา จะเรียกว่าบ้านเชียง มากไปด้วยหม้อไหดินเผาลายเชือกทาบก็ไม่ผิดนัก ยิ่งเมื่อคุณได้ไปที่แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียงด้วยแล้ว จะตื่นตาไปกับห้องจัดแสดงภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ ลายเชือกทาบ อีกโครงกระดูก ขวานหิน ลูกกลิ้งดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งของอื่นๆ มากมาย ที่ได้จากการสำรวจขุดค้นที่บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง นิทรรศการนำทางเล่าเรื่องราวมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ ตามลักษณะการฝังศพและภาชนะดินเผาที่บรรจุลงเป็นเครื่องเซ่นในหลุมฝังศพ ดังนี้ สมัยต้นบ้านเชียง อายุระหว่าง 5,600–3,000 ปีมาแล้ว สมัยกลางบ้านเชียง อายุระหว่าง 3,000–2,300 ปีมาแล้ว และสมัยปลายบ้านเชียง อายุระหว่าง 2,300–1,800 ปีมาแล้ว เมื่อดูนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้ว ควรได้แวะไปดูแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ราวกิโลเมตรเศษ บ้านเชียง แม้ว่ามีแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ระดับโลกเป็น “จุดขาย” ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน “ในแต่ละปีอยู่ราว 2 แสนคน” (ข้อมูลงานมรดกโลก 10 ก.พ.60) ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นพยายามจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเข้ามาเสริม ทั้งด้านศิลปะการเขียนสีลายเชือกทาบบนหม้อดิน จัดบายศรีสู่ขวัญผู้มาเยือน ฯลฯ รวมถึงงานแสงสีเสียงมรดกโลกจัดขึ้นทุกปี เพื่อที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวคนไทยด้วยกันและชาวต่างชาติมาเยือนบ้านเชียงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเชียงพร้อมต้อนรับผู้ไปเยือนด้วยรอยยิ้ม อัธยาศัยอย่างมิตรไมตรี ดังที่ได้สัมผัสบรรยากาศงานมรดกโลก “บ้านเชียง” รอคุณไปเยือนหม้อไหเขียนสีอารยธรรมโลก